ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมอาสนวิหารอัสสัมชัญ
โบสถ์อัสสัมชัญนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยหันแท่นบูชาสู่แม่น้ำ ตัวโบสถ์มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืมผ้า ตัวอาคารสร้างเลียนแบบสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ ด้านหน้ามีหลังคาทรงจั่ว มีหน้าต่างกลมลายกลีบดอกไม้(Rose Window) ขนาดใหญ่ขนาบสองข้างด้วยหอคอยทรงสี่เหลี่ยม ผนังด้านข้างมีเสาอิงเลียนแบบเสายัน(Buttress) ด้านหลังเป็นผนังโค้งหลังคาทรงกรวยผ่าครึ่ง ภายในมีการแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนคือระเบียงโล่งด้านหน้า โถงชุมนุมใหญ่ มีเฉลียงด้านข้าง และส่วนศักดิ์สิทธิ์ด้านในอันเป็นที่ตั้งของพระแท่นหินอ่อนขนาดใหญ่ ด้านหลังมีการเจาะหน้าต่างให้แสงเข้า ตกแต่งหน้าต่างด้วยกระจกเคลือบสีต่อด้วยรูปนักบุญ เพดานโค้งทรงประทุนเป็นลายตารางสี่เหลี่ยมจัตุรัสติดดาวสีทอง หัวเสาเป็นแบบไอโอนิคผสมโครินเธียน ตกแต่งภายในด้วยจิตรกรรมปูนเปียกและประติมากรรมปูนปั้น ส่วนโถงทางเข้ามีการชั้นลอยสำหรับนักขับร้องและออร์แกนขนาดใหญ่
สถาปัตยกรรมอาสนวิหารแห่งมะนิลา
รูปแบบปัจจุบันของอาสนวิหารแห่งมะนิลา มีแผนผังเป็นรูปกากบาทแบบละติน (Latin Cross) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมในศิลปะตะวันตกโดยทั่วไป โดยด้านข้างปรากฏปีก (transept) ส่วนด้านหลังปรากฏผนังวงโค้ง (apse) สำหรับหอคอยซึ่งปัจจุบันตั้งติดกับตัวโบสถ์นั้น จากภาพถ่ายเก่าพบว่า ดั้งเดิมแล้ว หอคอยตั้งอยู่แยกจากตัวโบสถ์ โดมของอาสนวิหารแห่งเมืองมะนิลา เป็นโดมแบบคลาสิกโดยทั่วไป กล่าวคือ มีคอโดม (Drum) เป็นรูปแปดเหลี่ยม มีหน้าต่างคู่สลับกับเสาติดผนัง ส่วนตัวโดมเป็นโดมที่มุงหลังคาด้วยทองแดงและมี Lantern อยู่ด้านบน ซึ่งปรากฏเสมอสำหรับโดมทั้งในศิลปะเรอเนสซองส์และนีโอคลาสิก
สถาปัตยกรรมอาสนวิหารเมืองวีกัน
แผงด้านหน้าของอาสนวิหารเมืองวีกันมีลักษณะเป็นแบบคลาสิกกล่าวคือ ตรงกลางประกอบด้วยหน้าบันสามเหลี่ยม pediment รองรับด้วยเสาไอโอนิคในชั้นบนและดอริคในชั้นล่าง ส่วนขื่อที่อยู่ระหว่างชั้นล่างและชั้นบนนั้นแสดงลวดบัวตามระเบียบ entablature แบบคาสิกอย่างชัดเจน ซุ้มโค้งตรงกลางปรากฏรูปเซนต์ปอลขี่ม้า และด้านบนหน้าบันปรากฏสัญลักษณ์ของเซนต์ปอล คือ ดาบและใบปาล์มอันเป็นสัญลักษณ์ของมรณสักขี (martyrdom ) แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นแบบคลาสิก แต่ก็ยังสามารถสังเกตองค์ประกอบเล็กน้อยที่ออกแบบตามแบบบารอกและตามแบบจีนได้ เช่นการประดับถ้วยรางวัล (trophy) และการนำเอาสิงโตหินแบบจีนมาประดับ
สถาปัตยกรรมหอระฆัง :อาสนวิหารเมืองวีกัน
หอระฆังของอาสนวิหารเมืองวีกันมีลักษณะเป็นหอระฆังในสกุลช่างวีกัน กล่าวคือ เป็นหอคอยในผังแปดเหลี่ยม ซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น แต่ละชั้นมีองค์ประกอบแบบคลาสิก เช่น อาร์คโค้งและเสาติดผนัง ส่วนด้านบนสุดปรากฏโดม หอคอยแบบแปดเหลี่ยมนี้แตกต่างไปจากสกุลช่าเมืองโลวากที่นิยมหอคอยสี่เหลี่ยมมากกว่า อนึ่ง ในสกุลช่างวีกันและโลวาก หอคอยย่อมตั้งอยู่แยกจากตัวโบสถ์เสมอ เนื่องจากเกรงว่าหอระฆังอาจล้มทับตัวโบสถ์หากเกิดแผ่นดินไหว
สถาปัตยกรรมภายใน :อาสนวิหารเมืองวีกัน
ภายในอาสนวิหาร แห่งเมืองวีกัน แสดงให้เห็นการแบ่งระหว่าง nave กับ aisle อย่างชัดเจนกว่าโบสถ์อื่นๆในพื้นที่เดียวกัน การแบ่งนี้ใช้แถวเสาที่มีอาร์คเชื่อมโยงกันเป็นตัวแบ่ง นอกจากนี้ เพดานของ nave ยังสูงกว่าเพดานของ aisle อย่างชัดเจน ทำให้มีการเจาะหน้าต่างด้านข้าง nave ซึ่งูคล้ายคลึงกับศิลปะยุโรป แต่แตกต่างไปจากโบสถ์แห่งอื่นๆในพื้นที่เดียวกัน เพดานของโบสถ์ก็มีการตกแต่งโดยใช้สัน (rib) ตัดชันกันแต่ละช่วงเสา (bay) ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้นึกไปถึงการก่อหลังคาแบบ vault ของโบสถ์ในศิลปะโกธิค ที่ปลายสุดของ nave และ aisle ปรากฏแท่นบูชา ส่วนด้านข้างในแต่ละช่วง bay ก็ปรากฏแท่นบูชาขนาดเล็ก ซึ่งคงทำหน้าที่แทนchapel
สถาปัตยกรรมแท่นบูชาประธาน :อาสนวิหารเมืองวีกัน
แท่นบูชาประธาน (Main Altar) ของอาสนวิหาร แห่งเมืองวีกัน เป็นแท่นที่อุทิศให้กับพระเยซูประทับบัลลังก์กษัตริย์แห่งสวรรค์(Enthroned Jesus) ด้านข้างยังปรากฏอัครสาวกอีกสององค์ คือเซนต์ปีเตอร์ (St. Peter) ผู้ทรงมงกุฎพระสันตปาปาและถือกุญแจสวรรค์ และเซนต์แอนดรู (St.Andrew) ผู้ผือไม้กางเขนรูปตัว X อันเป็นเครื่องที่ท่านถูกประหารสำหรับรูปแบบแท่นบูชาประธาน (Main Altar) มีการใช้ Cupid ในการตกแต่งและถือพวงมาลัย (garland) นอกจากนี้ การตกแต่งสถาปัตยกรรมด้วยถ้วยรางวัล (trophy) และโดมโค้งเว้า ซึ่งทั้งหมดแสดงการตกแต่งแบบบารอก (Baroque)ด้านบนสุดของแท่นบูชา ปรากฏนกเขาในรัศมีซึ่งแสดงสัญลักษณ์ของพระจิต (Holy Spirit)
สถาปัตยกรรมหอคอยประจำโบสถ์เซนต์วิลเลี่ยม
ลักษณะของหอระฆังในสกุลช่างเมืองโลวากนั้น แตกต่างไปจากสกุลช่างเมือวีกันอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากหอระฆังสกุลช่างวีกันมักเป็นแปดเหลี่ยมแต่หอระฆังสกุลช่างโลวากกลับเป็นสี่เหลี่ยมซ้อนกันหลายชั้นเสมอ ซึ่งเป็นระเบียบที่สืบทอดมาจากหอระฆังของโบสถ์เมืองปาวาย อันสืบทอดมาจากศิลปะสเปนอีกทีหนึ่ง น่าสังเกตว่า ที่มุมด้านข้างของหอคอยปรากฏค้ำยัน (Buttress) ขนาดใหญ่จำนวนมาก และสร้างขึ้นห่างจากโบสถ์เนื่องจากกลัวว่าหอคอยจะล้มทับโบสถ์หากเกิดแผ่นดินไหว หอคอยในแถบนี้จึงตั้งแยกจากโบสถ์เสมอ
สถาปัตยกรรมหอระฆังของอาสนวิหารเซนต์แอนดรูส์
ศิลปกรรม อาสนวิหารเซนต์แอนดรูส์ เป็นโบสถ์แบบนีโอโกธิคที่มีขนาดใหญ่และสง่างามที่สุดในสิงคโปร์ ด้านหน้าประดับด้วยหอระฆังขนาดใหญ่ มีตัวอาคารซ้อนกันสามชั้นประดับด้วยหน้าต่างโค้งแหลมแบบโกธิค ด้านบนมีหลังคาทรงกระโจมแหลมแปดเหลี่ยมซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะโกธิคเช่นกัน