ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมมัสยิดสุลต่าน
อิทธิพลแบบอินเดียและมัวร์ที่ปรากฏในมัสยิดแห่งนี้สามารถเปรียบเทียบได้กับมัสยิดหลายหลังในมาเลเซียซึ่งสร้างขึ้นโดยสถาปนิกชาวอังกฤษเช่นเดียวกัน ลักษณะแบบอินเดียนั้น ได้แก่ลักษณะของโดมซึ่งมีคอทรงกระบอก และการมีกลีบดอกไม้ประดับไปด้านบนโม รวมถึงระเบียบการประดับฉัตรีไว้ที่ด้านบนหอคอย อย่างไรก็ตาม อาร์ควงโค้งหลายวงต่อเนื่องกันที่ปรากฏในส่วนกลางของมัสยิด กลับแสดงให้เห็นอิทธิพลแบบสเปน
สถาปัตยกรรมมัสยิดฮัญญะฮฺ ฟาติมะฮฺ
เป็นมัสยิดที่น่าสนใจมากเนื่องจากผสมผสานระหว่างศิลปะอินเดียแบบโมกุลและศิลปะยุโรป โดยเฉพาะหอคอยของมัสยิดซึ่งสร้างเป็นแบบตะวันตก คือเป็นหอคอยแปดเหลี่ยมที่มียอดเป็นทรงกระโจมแหลมคล้ายคลึงกับหอคอยของโบสถ์ในศาสนาคริสต์เป็นอย่างมาก ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการออกแบบของสถาปนิกชาวอังกฤษ
สถาปัตยกรรมหอระฆังของอาสนวิหารเซนต์แอนดรูส์
ศิลปกรรม อาสนวิหารเซนต์แอนดรูส์ เป็นโบสถ์แบบนีโอโกธิคที่มีขนาดใหญ่และสง่างามที่สุดในสิงคโปร์ ด้านหน้าประดับด้วยหอระฆังขนาดใหญ่ มีตัวอาคารซ้อนกันสามชั้นประดับด้วยหน้าต่างโค้งแหลมแบบโกธิค ด้านบนมีหลังคาทรงกระโจมแหลมแปดเหลี่ยมซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะโกธิคเช่นกัน
สถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ ถือเป็นอาคารแบบพัลลาเดียนที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ เป็นอาคารที่มีองค์ประกอบแบบคลาสิกทั้งหมด อาร์คโค้ง เสาดอริก-ไอโอนิก หน้าจั่วสามเหลี่ยมและโดมกลม แผนผังอยู่แบบพัลลาเดียน คือแผนผังรูปตัว E ที่มีมุขกลางยื่นออกมาด้านหน้าและชักปีกออกไปสองด้าน ที่ปลายสุดมีมุขขนาบ แผนผังแบบนี้ถือเป็นแผนผังที่มีเหตุผลและใช้กับสถานที่ราชการทั้งในยุโรปและในประเทศอาณานิคมต่างๆ
สถาปัตยกรรมมัสยิดอับดุลกัฟฟูร์
เป็นมัสยิดที่ได้รับอิทธิดลตะวันตกอย่างมากมาย ทั้งในแง่ของเสาแบบโรมัน อาร์คที่ต่อเนื่องกันตามระบบ loggia ลวดลายที่ขื่อและการใช้โดมแบบตะวันตก โดยมีแผงด้านหน้าตกแต่งแบบศิลปะบารอก ในขณะเดียวกันเอง องค์ประกอบเล็กน้อย เช่นหอคอยปลอมขนาดเล็ก กลับถูกนำมาใช้ตกแต่งแทนที่ถ้วยรางวัลในศิลปะบารอก หอคอยขนาดเล็กเหล่านี้เป็นสิ่งเดียวที่แสดงออกถึงความเป็นอิสลามในมัสยิดแห่งนี้
สถาปัตยกรรมโดมของมัสยิดอับดุลกัฟฟูร์
เป็นมัสยิดที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกอย่างมากมาย ทั้งในแง่ของเสาแบบโรมัน อาร์คที่ต่อเนื่องกันตามระบบ loggia ลวดลายที่ขื่อและการใช้โดมแบบตะวันตก โดมที่นี่มีลักษณะตามแบบคลาสิกในศิลปะตะวันตกอย่างมาก การรองรับโดมกลางเป็นอาร์คโค้งรองรับตามระบบ Pendentive ถัดขึ้นไปมีขื่อ รองรับคอโดมที่มีหน้าต่างโดยรอบสลับกับเสาไอโอนิก ด้านบนสุดเป็นโดมที่มี rib ต่อเนื่องจากเสาโดมข้นไปถึงบนยอด ทั้งหมดนี้เป็นระบบโดมแบบคลาสิกซึ่งแตกต่างไปจากโดมแบบอิสลามอย่างชัดเจน
สถาปัตยกรรมมัสยิดจามา
ประตูทางเข้าของมัสยิดจามามีหอคอยปลอมจำนวนสองหอขนาบทางเข้า หอคอยนี้มีองค์ประกอบคือ เป็นหอคอยสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไปหลายชั้นตามแบบหอคอยที่นากอร์ดารกาห์ (Nagore Dargah) อันเป็นสุสานของ Sufi Saint องค์สำคัญในรัฐทมิฬนาฑุ อินเดียใต้ หอคอยแบบนี้ยังปรากฏที่สุสานนากอร์ดารกาห์จำลองในสิงคโปร์และที่ปีนังอีกด้วย
สถาปัตยกรรมนากอร์ดารกาห์
นากอร์ดารดาห์เป็นสุสานจำลอง ไม่ได้เป็นมัสยิด ด้วยเหตุนี้ องค์ประกอบของแผ่นผังจึงมีลักษณะเป็นห้องสุสานมากกว่าที่จะเป็นโถงสำหรับการทำละหมาด ที่มุมทั้งสี่ปรากฏหอคอยซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ โดยเป็นหอคอยปลอม หอคอยดังกล่าวนี้เป็นการจำลองหอคอยที่นกาอร์ดารกาห์ในรัฐทมิฬนาฑุของอินเดียใต้ โดยต่อมาได้กลายเป็นนิยมสำหรับหอคอยหลายแห่งในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์