ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมเจดีย์หลวง
เจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยปูนปั้น และหุ้มด้วยจังโกรูปแบบประกอบด้วยฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ส่วนบนของฐานทักษิณประดับด้วยช้างล้อม มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน แต่บันไดเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนขั้นบันไดให้เป็นทางลาดเมื่อภายหลัง ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ ด้านทั้งสี่มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประดับอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยแนวชั้นหลังคาลาด แต่องค์ระฆังและส่วนเหนือขึ้นไปพังทลายลงมานานแล้ว
สถาปัตยกรรมวิหารมหาโพธิ์
วิหารมหาโพธิ์หรือวิหารเจ็ดยอดก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและตกแต่งด้วยปูนปั้นวิหารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าผนังวิหารประดับด้วยงานปูนปั้นรูปเทพชุนนุม มีทั้งอิริยาบถนั่งและยืน อีกทั้งยังมีลวดลายประดับอื่นๆ อาทิ ลายดอกไม้ร่วง วิหารหลังนี้มีประตูทางเข้าสู่ห้องคูหาภายในจากด้านตะวันออก จึงถือได้ว่าวิหารหันหน้าไปทางด้านนี้ปัจจุบันภายในประดิษฐานพระพุทธรูป มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นหลังคา ด้านบนหลังคามียอดศิขรประธานขนาดใหญ่หนึ่งยอด ที่มุมทั้งสี่ของยอดศิขรใหญ่มียอดศิขรขนาดเล็ก 4 ยอด ถัดมาเบื้องหน้ามีเจดีย์ทรงกลม 2 องค์ จึงเป็นที่มีของการเรียกวิหารหลังนี้อีกชื่อหนึ่งว่า วิหารเจ็ดยอด
ประติมากรรมเทวดาปูนปั้น
การสร้างประติมากรรมรูปเทวดาที่รอบผนังวิหารใช้เทคนิคการก่อแนวอิฐหรือศิลาแลงขนาดไม่ใหญ่นักให้ยื่นล้ำออกมาจากผนังแล้วพอกปูนเพื่อให้ยึดเกาะกับผนัง จึงเกิดเป็นประติมากรรมนูนสูง รูปเทวดาประทับนั่งอยู่บริเวณผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนเทวดาประทับยืนอยู่บริเวณผนังเพิ่มมุม ประติมากรรมทั้งหมดแบ่งเป็น 2 แถวตามแนวยาวของอาคาร โดยมีเสาปูนปั้นแบ่งคั่นจังหวะ เทวดาแต่ละองค์มีพระพักตร์รูปไข่ แย้มพระโอษฐ์ พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก สวมเครื่องประดับ ได้แก่ กรัณฑมงกุฎซึ่งมีประภามณฑลล้อมรอบ พาหุรัด กรองศอ ธำมรงค์ อุทรพันธะ นุ่งผ้ายาวกรอมข้อเท้าชักชายผ้าแผ่ออกมาที่ด้านหน้า และมีชายผ้าพลิ้วไหวผูกเป็นโบว์ที่ข้างลำตัวซึ่งแสดงให้เห็นว่าเทวดาเหล่านั้นกำลังเหาะท่ามกลางอากาศ รูปแบบการแต่งกายสัมพันธ์กับประติมากรรมรูปเทวดาในศิลปะลังกา ใกล้กันมีลวดลายปูนปั้นประดับ เช่น ลายมุกไฟ ลายดอกไม้ร่วง เช่น ดอกจำปา และดอกโบตั๋น
สถาปัตยกรรมธาตุวัดอาไพ
เจดีย์องค์นี้ได้รับอิทธิพลเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนาอย่างมาก ทั้งฐานบัวที่อยู่ในผัง สี่เหลี่ยมเพิ่มมุมและมีท้องไม้กว้าง ชุดฐานรองรับองค์ระฆังในผังกลมที่ปรับเปลี่ยนมาจากบัวถลาในศิลปะล้านนา ละองค์ระฆังกลมขนาดเล็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เจดีย์องค์นี้คงไม่ได้สร้างขึ้นร่วมสมัยราชวงศ์มังราย แต่คงสร้างขึ้นในภายหลัง คือราวพุทธศตวรรษที่ 24 เนื่องจากเจดีย์มีขนาดเล็กและมีลวดบัวที่ปรับเปลี่ยนไปจากศิลปะล้านนามาก