ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 3 จาก 3 รายการ, 1 หน้า
ศาลตาผาแดง
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมศาลตาผาแดง

เป็นปราสาทแบบเขมรก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ที่นิยมใช้ในงานก่อสร้างในวัฒนธรรมเขมร ส่วนยอดพังทลายไปแล้ว เหลือแต่ส่วนห้องที่เคยประดิษฐานรูปเคารพกับมุขทางเข้าที่เชื่อมต่อ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนล่างของอาคารเริ่มจากชั้นเขียงรองรับฐานบัวลูกฟัก เหนือจากฐานขึ้นไปคือเรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม และต่อมุขออกไปทางตะวันออก โดยมีบันไดทางขึ้นอยู่หน้ามุข อันเป็นแบบอย่างของปราสาทเขมรเช่นกัน ซึ่งต่อมาลักษณะดังกล่าวนี้ช่างสุโขทัยจะเลือกนำไปปรับปรุงอยู่ในเจดีย์รูปทรงใหม่ของตน ก่อนหน้านี้คงสร้างขึ้นในศาสนาฮินดูหรือศาสนาพุทธฝ่ายมหายาน ต่อขึ้นไปคือส่วนบนซึ่งพังทลายลงหมดแล้ว เชื่อว่าส่วนบนของปราสาทเป็นทรงแท่ง มีชั้นซ้อนเช่นเดียวกับปราสาทเขมรโดยทั่วไป

วัดศรีสวาย
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมวัดศรีสวาย

ตั้งหันหน้าไปทางทิศใต้ มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางกำแพงด้านทิศใต้มีซุ้มประตูเข้าออก 1 แห่ง ถัดเข้าไปเป็นวิหารโถงชั้นนอกต่อเนื่องด้วยวิหารทึบชั้นในในแนนวเหนือใต้ ถัดจากนั้นเป็นปราสาท 3 หลังเรียงกันในแนวตะวันตก-ตะวันออก หลังกลางสูงกว่าหลังที่ขนาบทั้งสองข้าง สภาพปัจจุบันแสดงให้เห็นร่องรอยการก่อสร้างและดัดแปลงมาแล้วหลายครั้ง ส่วนฐานนั้นจมดินอยู่ ก่อด้วยศิลาแลงมาจนถึงเรือนธาตุ แต่ส่วนหลังคาที่ซ้อนเป็นชั้นก่อด้วยอิฐ ประดับกลีบขนุนรูปครุฑยุดนาค เทวดา อัปสร นาคโคนกรอบซุ้ม ซึ่งคลี่คลายจากศิลปะเขมรผสมผสากับศิลปะสุโขทัย นอกจากนี้ยังมีร่องรอยสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ได้แก่ แนวระเบียงล้อมรอบปราสาท ฐานอาคาร 3 หลังกระจายล้อมรอบปราสาทประธานพื้นที่ระหว่างกำแพงวัดและกำแพงแก้วมีสระน้ำอยู่ด้านหลังปราสาท ซึ่งในอดีตน่าจะเป็นรูปตัว U คว่ำ ต่อมาได้มีการถมบริเวณทิศตะวันตกและปรากฏวิหารน้อยก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง ด้านหน้าวิหารน้อยปรากฏฐานเจดีย์ 1 องค์ ส่วนด้านหลังกำแพงวัดด้านทิศเหนือยังปรากฏฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ค้นพบได้ในวัด ได้แก่ ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ แผ่นหินสลักรูปพระนารายณ์ประทับยืน พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่อง กำหนดอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จึงสันนิษฐานว่าเมื่อแรกสร้างวัดศรีสวายนี้เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์หรือพุทธมหายาน ต่อมาเมื่อสุโขทัยมีอำนาจเหนือขอมในพุทธศตวรรษที่ 19 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นศาสนสถานพุทธเถรวาท

ปราสาทวัดเจ้าจันทร์
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมปราสาทวัดเจ้าจันทร์

ประกอบด้วยปราสาทประธานก่อด้วยศิลาแลง มีแผนผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม และมีปูนฉาบประดับตกแต่งผิว ฐานชั้นล่างสุดเป็นชุดบัวคว่ำ-บัวหงาย ที่เรือนธาตุมีซุ้มประกอบทั้งสี่ด้าน มีประตูทางเข้าด้านหน้าทางทิศตะวันออกเพียงทางเดียวด้านหน้ามีห้องสำหรับประดิษฐานรูปเคารพ ส่วนด้านอื่นๆ ตกแต่งเป็นประตูหลอก ถัดขึ้นไปเป็นชุดเครื่องบนของปราสาทสอบคล้ายรูปพุ่มและมีกลศประดับเป็นเครื่องยอด ต่อมาในสมัยสุโขทัย ศาสนสถานแห่งนี้ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดทางพระพุทธศาสนา โดยการถมบริเวณโดยรอบของฐานปราสาท ทำให้ฐานชุดบัวคว่ำ-บัวหงายจมอยู่ใต้ดิน แล้วจึงสร้างวิหารศิลาแลงขึ้นที่ด้านหน้าของปรางค์ปราสาทพร้อมกับมณฑปศิลาแลงสำหรับประดิษฐานพระอัฏฐารศขึ้นทางทิศเหนือของปรางค์ ในมณฑปมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปยืนพระหัตถ์แนบลำพระองค์ ๑ องค์ หลังคาที่เป็นเครื่องไม้ได้ผุพังไป พบเพียงชิ้นส่วนของกระเบื้องดินเผาสำหรับมุงหลังคาตกกระจายอยู่โดยรอบ ต่อมากรมศิลปากรได้ขุดพบพระพิมพ์ทำด้วยชิน ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ และเมื่อขุดลึกลงไปอีกในระดับลึกพบโบราณวัตถุสมัยทวารวดี เครื่องถ้วยหริภุญไชย ลูกปัดแก้ว และชิ้นส่วนโครงกระดูกคน