ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมพระพุทธเจ้าและฤาษีประทับในถ้ำ จิตรกรรมในเจดีย์อเพยทนะ
เจดีย์อเพยทนะ สร้างขึ้นโดยพระนางอภัยรัตนา พระมเหสีในพระเจ้าจันสิตถาในพุทธศตวรรษที่ 17 ภายในปรากฏจิตรกรรมซึ่งคล้ายคลึงกับศิลปะปาละอย่างมากและมีแนวโน้มไปทางพุทธศาสนามหายาน
จิตรกรรมพระโพธิสัตว์ จิตรกรรมในเจดีย์อโลปเย
พระโพธิสัตว์เหล่านี้แต่งตัวคล้ายคลึงกับศิลปะปาละอย่างมาก เช่น การทรงมงกุฎที่มีกระบังหน้าสามตาบ การทรงยัชโญปวีตตวัดเป็นรูปตัว S และการนุ่งผ้านุ่งเป็นริ้ว รวมถึงการปรากฏดอกไม้สองดอกขนาบทั้งสองข้างอย่างสมมาตร ย่อมแสดงให้เห็นอิทธิพลปาละตอนปลายอย่างมาก จิตรกรรมเองก็ใช้สีโทนร้อนตามอย่างปาละ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าจิตรกรรมดังกล่าวคงมีอายุอยู่ในสมัยพุกามตอนต้น
จิตรกรรมลิงถวายบาตรน้ำผึ้ง จิตรกรรมในเจดีย์ปยาตองสู
จิตรกรรมแสดงการใช้โทนสีร้อนแบบปาละ คือ เน้นสีแดง เหลือง ดำ ขาว ส่วนรูปแบบของพระพุทธรูปล้วนแต่เกี่ยวข้องกับจิตรกรรมในใบลานของศิลปะปาละซึ่งคงถูกนำมาที่พุกามและกลายเป็นต้นแบบสำหรับจิตรกรพุกามด้วย อย่างไรก็ตาม การถมลวดลายลงไปในพื้นที่ว่างเปล่านั้นเป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะพุกามตอนปลาย
จิตรกรรมจิตรกรรมประกอบซุ้มในเจดีย์ปยาตองสู
ซุ้มประตูของเจดีย์ปยาตองสูตกแต่งด้วยจิตรกรรมอย่างน่าสนใจ โดยตามเคล็กมีการถมด้วยลวดลายพันธ์พฤกษาแทนกลายเทวดาตามแบพุกามตอนปลาย ที่ปลายสุดของซุ้มปรากฏรูปกินนร-กินนรีกำลังยกมือไหว้ ซึ่งลวดลายนี้จะเป็นต้นแบบให้ศิลปะสุโขทัยและล้านนาในศิลปะไทย นอกจากนี้ยังประดับพระโพธิสัตว์กำลังกอดนางตาราอันแสดงแนวโน้มความเป็นมหายานของวัดแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
จิตรกรรมพระอดีตพุทธเจ้าที่มากมายนับไม่ถ้วน เจดีย์ปยาตองสู
ผนังของเจดีย์ปยาตองสูมีการประดับด้วยจิตรกรรมพระอดีตพุทธเจ้าจำนวนนับไม่ถ้วน โดยบางครั้งพระอดีตพระพุทธเจ้าเหล่านี้ก็อยู่ในช่องตารางที่เป็นรวงผึ้ง
ประติมากรรมพระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง
พระพุทธรูปองค์นี้แสดงให้เห็นศิลปะพื้นเมืองดงเดืองปะปนกับอิทธิพลจากศิลปะจีนและอินเดีย ประการแรกคือท่านั่งห้อยพระบาทที่ใช้พระหัตถ์ทั้งสองวางอู่บนพระชานุนั้นแสดงถึงอิทธิพลจีน แต่จีวรที่ห่มเฉียงและมีชายจีวรสั้นๆอยู่ที่พระอังสาซ้ายนั้นกลับเป็นลักษณะประจำในศิลปะปาละของอินเดีย อย่างไรก็ตาม พระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้กลับแสดงความเป็นพื้นเมืองอย่างมากมาย เช่น พระโอษฐ์ที่หนา พระขนงต่อเป็นปีกกาและพระเนตรโปน เป็นต้น
ประติมากรรมเศียรของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระเศียรของพระโพธิสัตว์องค์นี้ ทรงชฎามงกุฎตามแบบนักบวช มีกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา พระพักตร์มีความเป็นอินเดีย-ชวาสูง คือพระเนตรเรียวเล็กเหลือบต่ำ พระโอษฐ์บาง ไม่มีพระมัสสุ ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาอย่างมากในระยะนี้
ประติมากรรมพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรสี่กร
พระโพธิสัตว์องค์นี้แสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะชวาที่เข้ามาอย่างมากในระยะนี้ กล่าวคือทรงกระบังหน้าประดับตาบสามเหลี่ยมสามจุดตามแบบศิลปะปาละ-ชวา นุ่งผ้าโธตียาวที่มีผ้าคาดวงโค้งกว้างตามแบบศิลปะอินเดียใต้-ชวาภาคกลาง อยย่างไรก็ตาม พระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้เริ่มมีพระโอษฐ์หนาและพระเนตรโปนตามแบบพื้นเมืองแล้วยัชโญปวีตในระยะนี้ก็หายไปซึ่งแตกต่างไปจากศิลปะชวา