ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมมณฑปวัดตระพังทองหลาง
มณฑปวัดตระพังทองหลางตั้งอยู่กึ่งกลางวัด เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาไม่เหลือร่องรอยแล้ว เชื่อว่าเพราะทำจากเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง เมื่อเวลาผ่านไปจึงปรักหักพังลง ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน มีทางเข้าอยู่ทางด้านตะวันออก ส่วนด้านเหนือ ตะวันตก และใต้ มีจระนำประดับภาพปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ ด้านเหนือเป็นตอนโปรดช้างนาฬาคีรี ด้านตะวันตกเป็นตอนแสดงยมกปาฏิหาริย์ ณ เมืองสาวัตถี และด้านใต้เป็นตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้านหน้าของมณฑปมีวิหารสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหลือแต่ฐานและแนวเสา เข้าใจว่าคงเป็นวิหารโถง หลังคาคงเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องได้หักพังลงหมดแล้ว
สถาปัตยกรรมมณฑปวัดศรีชุม
มณฑปอยู่ในผังสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่ภายใน มีอุโมงค์ทางเดินอยู่ภายในผนังของมณฑป อุโมงค์นี้ไต่ระดับขึ้นไปจนถึงยอด ภายในอุโมงค์ประดับตกแต่งด้วยภาพสลักเรื่องชาดก การทำอุโมงค์ระหว่างผนังและสามารถเดินไปถึงด้านบนได้เช่นนี้อาจเกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมพม่าสมัยเมืองพุกาม ส่วนยอดของมณฑปพังทลายลงแล้ว มีแนวสันนิษฐานไว้สองแบบ แบบแรกเชื่อว่าเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง แบบที่สองเชื่อว่าเป็นเจดีย์ทรงกลม
สถาปัตยกรรมมณฑปพระสี่อิริยาบถ
สภาพปัจจุบันของมณฑปพระสี่อิริยาบถเหลือให้เห็นเฉพาะอิฐที่เป็นแกนกลางของมณฑป หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องพังทลายลงแล้ว ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูประทับนั่ง และด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนอน พระพุทธรูปทั้งสี่องค์เป็นงานก่ออิฐฉาบปูนแบบนูนสูง โดยด้านหลังของพระพุทธรูปแต่ละองค์อิงติดกับแกนกลางของมณฑป
สถาปัตยกรรมมณฑปพระสี่อิริยาบถ
สภาพปัจจุบันของมณฑปพระสี่อิริยาบถเหลือให้เห็นเฉพาะศิลาแลงที่เป็นแกนกลางของมณฑป หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องพังทลายลงแล้ว ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูประทับนอน และด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง พระพุทธรูปทั้งสี่องค์เป็นงานก่ออิฐฉาบปูนแบบนูนสูง
สถาปัตยกรรมพระมหามณฑป
เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสาพาไลเพิ่มมุมที่ประดับบัวหัวเสาอยู่โดยรอบอาคาร ตัวอาคารและเสาปิดทองประดับกระจก เครื่องหลังคามีลักษณะเป็นเรือนซ้อนชั้นยอดแหลมในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมแสดงความเป็นเรือนฐานันดรสูง ประกอบด้วยชั้นหลังคาลาดที่มีหน้าจั่วขนาดเล็กซ้อนกัน ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ เหม บัวคลุ่มเถาและปลียอด ประดับกระดิ่งทองเหลืองที่ชายคารอบอาคาร
สถาปัตยกรรมมณฑปของปราสาทบันทายสรี
ปราสาทบันทายสรีเป็นปราสาทบนพื้นราบที่เน้นแนวแกนกลาง ด้วยเหตุนี้ปราสาทประธานจึงปรากฏมณฑปในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งตรงตามแนวแกนตะวันออก มณฑปนั้นเป็นห้องสำหรับรอกระทำพิธีกรรมและเป็นห้องสำหรับผู้ศรัทธาที่ไม่สามารถเข้าไปภายในครรภคฤหะได้ หน้าบันด้านหน้าของปราสาทบันทายสรี เป็นภาพของพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึงถือเป็นเทพประจำทิศตะวันออกที่มักปรากฏเสมอแม้ว่าปราสาทหลังนั้นจะไม่ได้อุทิศให้กับพระอินทร์ก็ตาม