ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 33 ถึง 40 จาก 56 รายการ, 7 หน้า
พระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปประจำพระชนมวารรัชกาลที่ 9

พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ พระพักตร์รูปไข่ ขมวดพระเกศา รัศมีเป็นเปลวไฟ มีพระเกตุมาลา พระอังสาใหญ่ ครองจีวรห่มคลุม จีวรบางเรียบไม่มีริ้ว ปรากฏรัดประคดและจีบเป็นแถบที่สบง ประทับยืนบนฐานบัวคว่ำบัวหงายบนฐานแปดเหลี่ยม

พระสยามเทวาธิราช
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสยามเทวาธิราช

รูปแบบของพระสยามเทวาธิราชเป็นประติมากรรม ทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิ ได้แก่ พระมหามงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร ทรงสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทรงสนับเพลาประดับชายไหวชายแครง ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทน์แบบเก๋งจีน มีคำจารึกภาษาจีน แปลได้ว่า “สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”เบื้องหน้าพระวิมานทองสามมุข รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชและตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชเป็นประจำ

สถานีรถไฟกรุงเทพ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมสถานีรถไฟกรุงเทพ

สถานีรถไฟหัวลำโพงนี้เป็นสถานีรถไฟแบบปลายตัน ประกอบด้วยอาคาร 2 ส่วนเชื่อมต่อกัน คือโถงระเบียงหน้าสถานีและโถงชานชาลา โถงระเบียงหน้าออกแบบโดยนายมาริโอ ตามาญโญในปี พ.ศ. 2455 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 มีผังเป็นรูปตัว E มีมุขกลางขนาดใหญ่มีหลังคาโค้ง ปลายสองด้านเป็นป้อมรูปสี่เหลี่ยมเชื่อมต่อกันด้วยระเบียงยาวชั้นเดียว ใช้เสาไอโอนิครับน้ำหนัก ส่วนโถงชานชาลาสร้างขึ้นก่อนโดยนายเกอร์เบอร์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2455 เป็นอาคารโถงหลังคาโค้งกว้างทำด้วยเหล็ก ผนังด้านหน้ากรุแผ่นกระจกเล็กๆเรียงกัน มีหอคอยสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ปลายปีกทั้งสองด้าน

ศาลาเฉลิมกรุง
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมศาลาเฉลิมกรุง

ศาลาเฉลิมกรุงมีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตัดมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ตัวอาคารเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมเรียบเกลี้ยงสูง 3 และ 4 ชั้น มีทางเข้า 3 ช่อง มีการเจาะช่องหน้าต่างที่มีขนาดแตกต่างกันตามหน้าที่การใช้งาน มีลวดลายฉลุลายไทยประยุกต์แบบเรขาคณิตเป็นรูปหัวลิง ยักษ์ และฤๅษี ภายในแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือโถงหน้าและโรงหนัง ตกแต่งแบบเรียบง่ายด้วยลายไทยประยุกต์ และรูปเทวดาขนาดใหญ่ ภายในโรงภาพยนตร์มีเพดานสูง 15 เมตร ที่นั่งผู้ชมลดหลั่นตามขั้นบันได

ตึกแถวถนนหน้าพระลาน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตึกแถวถนนหน้าพระลาน

เป็นอาคารสองชั้น ผังอาคารมีลักษณะเป็นรูปตัว E ขนานไปกับแนวถนน มี 3 มุขคือ มุขกลางและหัวท้ายโดยเชื่อมต่อกันด้วยปีก มีการแบ่งเป็นห้องๆ มุขกลางมี 3 ห้อง มีหน้าบันครึ่งวงกลมขนาดใหญ่ตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปดอกบัวขนาบด้วยแจกัน คอสองประดับเฟื่องอุบะ ระเบียงชั้นสองมีเสาลอยรับหน้าบัน หน้าต่างโค้งแบบบานแฝดในกรอบวงโค้งคู่กับซุ้มโค้งด้านล่างที่มีชุดบานเฟี้ยม หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีขนาดใหญ่กว่าขนาดจริงเล็กน้อยอยู่ในอิริยาบถทรงม้า ฉลองพระองค์เครื่องแบบจอมพลทหารบก ทรงพระคทาจอมพลที่พระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายทรงกุมบังเหียน ม้าพระที่นั่งยืนบนแผ่นโลหะทองบรอนซ์หนาประมาณ 25 เซนติเมตรซึ่งวางอยู่บนแท่นหินอ่อนสี่เหลี่ยมสูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาวประมาณ 5 เมตรครึ่ง รอบแท่นมีเสาล้อมและขึงโซ่ไว้โดยรอบ ตรงฐานมีจารึกแสดงข้อความเฉลิมพระเกียรติที่ด้านหน้า มีชื่อช่างปั้น C.MASSON SEULP 1908 ช่างหล่อ G.Paupg Statuare ทางด้านขวา และบริษัทที่หล่อ SUSSF Fres FONDEURS. PARIS ทางด้านซ้าย

ตำหนักพรรณราย
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมตำหนักพรรณราย

ตำหนักพรรณรายเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า 2 ชั้นหลังคาจั่ว หน้าบันทรงสามเหลี่ยมมีปูนปั้นรูปวงกลม 3 วงซ้อนกัน ขอบหน้าบันส่วนที่ติดกับหลังคาทำปูนปั้นคล้ายแพรระบาย ตัวอาคารไม่มีชายคา เสารับหลังคามีทั้งแบบเสาสี่เหลี่ยมเรียบและเสากลมที่มีหัวเสาเป็นใบอะแคนธัสและฐานเสาแบบตะวันตก ระหว่างเสามีกันสาดโครงไม้ เหนือช่องหน้าต่างตกแต่งเท้าแขนไม้รูปวงกลม หน้าต่างเป็นแบบบานเกล็ด

ท้องพระโรง วังท่าพระ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมท้องพระโรง วังท่าพระ

ท้องพระโรงเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันด้านแป หรือด้านยาวออกหน้าวัง หลังคงทรงไทยชั้นเดียวมุงกระเบื้องไม่มีมุขลด เครื่องลำยองประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่มีนาคสะดุ้งหน้าบันแบบฝาปะกน มีบันไดใหญ่ทางด้านหน้า ลูกกรงกำแพงแก้วเป็นเหล็กหล่อลวดลายแบบสมัยวิคตอเรียน พื้นภายในเป็นไม้ มีเสาไม้กลมเซาะร่องมีฐานแบบตะวันตกเรียงรายตลอดความยาวของอาคาร ด้านหลังมีโถงทางเดินเชื่อมไปยังตำหนักกลาง