ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 177 ถึง 184 จาก 282 รายการ, 36 หน้า
พระพุทธรูปประทานพร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปประทานพร

พระพุทธรูปปางประทานพรองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตริภังค์บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระพักตร์อิ่ม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่นพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยมและมีชายทบไปมาแบบที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ และเห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระกรขวาทอดตัวลงหงายพระหัตถ์ออกด้านหน้า เรียกว่าปางประทานพร พระกรซ้ายเหลือเพียงส่วนบนตั้งแต่พระพาหา (ต้นแขน) จนถึงพระกะโประ (ศอก) แลเห็นหลุมวงกลมที่ใช้สำหรับรับเดือยของพระกรท่อนล่างที่หลุดหายไปแล้วพระองค์ยืนพักพระบาท (พักขา) โดยสังเกตได้จากพระชานุขวาตึง พระขานุซ้ายหย่อน ทำให้พระโสณี (สะโพก) เยื้องไปทางขวามากกว่าทางซ้าย บางท่านเรียกว่ายืนเอียงสะโพก หรือตริภังค์ (เอียงสามส่วน ได้แก่ พระโสณี พระอังสา และพระเศียร) เพียงแต่พระพุทธรูปองค์นี้ทำพระอังสาแลพระเศียรตรง ในขณะที่ต้นแบบในศิลปะอินเดียจะเอียงทั้ง 3 ตำแหน่งชัดเจน พระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เป็นอาคารแบบสมมาตร (Symmetrical) 3 ชั้น รูปตัวยู (U) ในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบนีโอคลาสสิก (Neoclassic Art) ซึ่งมีความโดดเด่นในแง่ของการได้รับอิทธิพลศิลปะแบบคลาสสิกของกรีกหรือโรมันโบราณ เหนือชั้น 3 ส่วนหน้าของอาคารแนวเดียวกับหลังคามีการประดับยอดโดมเพื่อเสริมความโดดเด่นในการมองเห็นระยะไกล

อวมงคล
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมอวมงคล

เป็นผลงานจิตรกรรมไทยประเพณีร่วมสมัยของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและวิถีการดำรงชีวิตของคนไทยที่เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์การศึกษาจิตรกรรมไทยประเพณีโบราณผสมผสานกับการศึกษาวิถีชีวิตและสังคมไทยในปัจจุบัน

อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

เป็นอนุสาวรีย์หินอ่อนแกะสลักจากประเทศอิตาลี ลักษณะเป็นฐานรูปทรงสี่เหลี่ยมและยอดหกเหลี่ยมทรงสูง มีรายละเอียดดังนี้ผนังด้านทิศตะวันตก ปรากฏข้อความดังนี้ที่รฦกถึงความรักแห่งสมเดจพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรตน์พระบรมราชเทวี อรรคมเหษีอันเสดจทิวงคตแล้วซึ่งเธอเคยมาอยู่ในสวนนี้ โดยความศุขสบายแลเปนที่เบิกบานใจพร้อมด้วยผู้ซึ่งเปนที่รัก แลที่สนิทอย่างยิ่งของเธออนุสาวรี นี้สร้างขึ้นโดยจุฬาลงกรณ์ บรมราชผู้เปนสวามี อันได้รับความเศร้าโศกเพราะความทุกข์อันแรงกล้าในเวลานั้น แทบจะถึงแก่ชีวิตรถึงกระนั้นยังมิได้หักหายจุลศักราช ๑๒๔๓ผนังด้านทิศตะวันตก ปรากฏข้อความเป็นภาษาอังกฤษในความหมายเดียวกันกับด้านทิศตะวันออกผนังด้านทิศใต้ สลักเป็นตัวอักษร "ส" ภายใต้พระมงกุฎ หมายถึงอักษรพระนามาภิไธยในสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีผนังด้านทิศเหนือ สลักเป็นรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์

อนุสาวรีย์ราชานุสรณ์
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมอนุสาวรีย์ราชานุสรณ์

เป็นอนุสาวรีย์หินอ่อนแกะสลักจากประเทศอิตาลี ลักษณะเป็นแท่นรูปทรงสี่เหลี่ยม แต่ละด้านแกะลวดลายเป็นคูหาสำหรับประดิษฐานพระรูปหินอ่อนแกะสลักเจ้านายที่สิ้นพระชนม์ไปแล้วทั้ง 4 พระองค์ เหนือขึ้นไปเป็นแท่งเสาทรงสี่เหลี่ยมสอบขึ้นไปจนถึงยอด

พระบรมรูป 4 รัชกาล
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระบรมรูป 4 รัชกาล

พระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3 มีขนาดเท่าพระองค์จริง หล่อด้วยสำริดเคลือบทองในพระราชอิริยาบถยืนตรง ทรงพระภูษาจีน มีสายรัดพระองค์และมีหัวพระปั้นเหน่งทับ ไม่ทรงฉลองพระองค์ ทรงพระแสงดาบคาบค่าย พระแสงดาบเวียต และพระแสงดาบญี่ปุ่นตามลำดับ จะเห็นได้ว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ทรงใช้วิธีการผสมผสานรูปลักษณ์ตามคติไทยลงไปในรูปเหมือนตามคติตะวันตก คือเน้นความเหมือนจริงของพระพักตร์ แต่พระวรกายในพระราชอิริยาบถยืนนั้นยังคงความเกลี้ยงเกลากลมกลืนดูสงบนิ่งแต่แฝงความศักดิ์สิทธิ์น่าเลื่อมใสศรัทธาตามแบบพระพุทธรูป ส่วนพระบรมรูปรัชกาลที่ 4 นั้นเดิมหลวงเทพรจนา (พลับ) เป็นผู้ปั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ แก้ไขและเพิ่มรายละเอียด เช่น รอยย่นบนพระพักตร์ รอยยับของพระภูษาโจง และลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทำให้ดูเหมือนจริงกว่าพระบรมรูปรัชกาลที่ 1 - 3

ขลุ่ยทิพย์
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมขลุ่ยทิพย์

ศิลปินได้รับความบันดาลใจทางด้านรูปแบบจากพระพุทธรูปลีลา ศิลปะสุโขทัย ก่อเกิดเป็นประติมากรรมที่ผสมผสานจังหวะลีลาและเส้นสายของศิลปะไทยกับความเรียบง่ายของรูปทรงแบบสากลอย่างงดงาม จนได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง ประเภทประติมากรรม ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2492

รำมะนา
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมรำมะนา

ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจจากลักษณะของความเป็นไทยจากพระพุทธรูปไทยที่มีสัดส่วนงดงามผนวกกับความคิดส่วนตัวโดยนำการจัดวางโครงสร้างและองค์ประกอบแบบสมัยใหม่มาผสมผสาน และสนใจสร้างงานประติมากรรมโดยการแกะสลักด้วยวัสดุไม้และงาช้าง ดังที่ศิลปินได้แสดงทัศนะไว้ว่า “รำมะนา…เวลาตีเสียงมันก้องกลมกังวาน สนุก จึงสร้างเส้นรอบนอกให้ประสานกันเป็นวงโค้งมีหน้ากลองวงกลมเป็นตัวขัดอยู่ตรงกลาง”