ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 9 ถึง 16 จาก 25 รายการ, 4 หน้า
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปปูนปั้นองค์นี้นั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย พระพักตร์กึ่งกลมกึ่งรีอาจแสดงถึงการคลี่คลายระหว่างพระพักตร์กลมแบบพระพุทธรูประยะแรกกับพระพักตร์วงรูปไข่แบบหมวดใหญ่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สมส่วน เม็ดพระศกเล็ก พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว ชายจีวรหรือสังฆาฏิที่พาดผ่านพระอังสาซ้ายมีรูปแบบพิเศษ กล่าวคือ ทำริ้วจีวรซ้อนทับกันตลอดแนว แตกต่างไปจากพระพุทธรูปหมวดใหญ่ทั่วไปที่ทำเป็นจีวรสี่เหลี่ยมที่มีหยักริ้วเพียงส่วนปลาย

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะเด่นซึ่งเป็นแบบแผนของพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ได้แก่ พระพักตร์เป็นวงรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์งามสมส่วน เม็ดพะศกใหญ่ขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุณีษะนูน พระรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กและยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นริ้วดังที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ

พระพุทธรูป
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูป

พระพุทธรูปองค์นี้ชำรุดเสียหายหลายส่วนจนไม่ทราบว่าเดิมทีอยู่ในอิริยาบถใดและทำปางใด ทั้งนี้จากการเป็นประติมากรรมนูนสูงจึงเชื่อว่าน่าจะเคยใช้ประดับศาสนสถานโดยก่ออิงกับผนัง พระพักตร์กลม พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์สมส่วนและหยักเป็นคลื่น พระเกศาเป็นเม็ดเล็กๆ พระอุษณีษะนูน พระรัศมีชำรุดสูญหาย พระอุระนูน ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเล็กและสั้นเหนือพระถัน มีชายทบซ้อนกันดังที่เรียกกันว่าเขี้ยวตะขาบ

ปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา
สุโขทัย
ประติมากรรมปูนปั้นประดับวิหารวัดนางพญา

งานปูนปั้นประดับผนังวิหารด้านใต้ของวัดนางพญากำลังชำรุดหลุดล่วงลงตามกาลเวลา เดิมทีคงมีงานปูนปั้นประดับทั้งด้าน แต่ปัจจุบันเหลือชัดเจนเพียงแค่ผนังระหว่างช่วงเสากลางเท่านั้น ผนังวิหารก่อด้วยศิลาแลง ทำช่องแสงหรือช่องลมไว้ตรงกลาง ตกแต่งผนังด้วยปูนปั้นเลียนแบบฝาไม้ลูกฟัก ภายในลูกฟักและช่องแสงประดับด้วยงานปูนปั้น ออกแบบเป็นลวดลายประเภทเครือเถาหรือพรรณพฤกษา ซึ่งประกอบด้วยก้าน ใบ และดอก พันเกี่ยวกันเต็มพื้นที่ผนัง

ปราสาทวัดพระพายหลวง
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมปราสาทวัดพระพายหลวง

ปราสาทวัดพระพายหลวงตั้งเป็นประธานของวัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำนวนมาก โดยสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สร้างเสริมต่อเนื่องกันมาหลายยุค นับแต่ครั้งก่อนสุโขทัย สุโขทัยตอนต้น และสุโขทัยตอนปลาย ตัววัดล้อมรอบด้วยคู้น้ำ เรียกว่า ห้วยแม่โจนตัวปราสาทวัดพระพายหลวงเป็นปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูนและประดับปูนปั้น ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน เรียงตัวตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทั้ง 3 หลังอยู่ในผังเพิ่มมุมปราสาทหลังกลางและใต้พังทลายลงเหลือเพียงฐานและเรือนธาตุ ปราสาทหลังเหนือยังสมบูรณ์จนถึงส่วนยอดที่เป็นชั้นซ่อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 4 ชั้น ยอดสุดเป็นกลศ จากสภาพปัจจุบันยังคงสังเกตเห็นได้ว่าปราสาทหลังกลางมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 หลัง ซึ่งเป็นระเบียบโดยทั่วไปของศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร งานปูนปั้นประดับดั้งเดิมยังคงเห็นชัดเจนได้ที่ปราสาทหลังเหนือ (ลายปูนปั้นหลายส่วนปั้นใหม่โดยกรมศิลปากร) ที่น่าสนใจคือภาพพุทธประวัติที่หน้าบัน ทิศใต้เป็นตอนปลงพระเกศา ทิศเหนือเป็นตอนกองทัพพญามารกำลังผจญพระพุทธเจ้า และทิศตะวันตกน่าจะเป็นตอนชนะมารและตรัสรู้

เจดีย์วัดนางพญา
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์วัดนางพญา

เจดีย์ประธานวัดนางพญาตั้งอยู่ทางด้านหลังวิหาร ก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก รองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยมซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีประติมากรรมรูปช้างล้อมรอบ องค์เจดีย์ประกอบด้วยส่วนสำคัญไล่จากด้านล่างไปด้านบน คือ ชุดฐานเขียงต่อด้วยฐานบัว มาลัยเถาซ้อนกัน 3 ชั้น มีมุขอยู่ที่ทิศทั้งสี่ เฉพาะมุขทิศตะวันออกเท่านั้นที่มีบันไดทางขึ้นและสามารถเข้าไปยังห้องคูหาภายในได้ ถัดขึ้นเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ และส่วนยอด

เจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์รายวัดเจดีย์เจ็ดแถว

เจดีย์ทรงปราสาทยอดองค์นี้ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน และประดับปูนปั้น องค์ประกอบโดยรวมประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และยอด โดยส่วนฐานมีฐานเขียงและฐานบัวลูกฟักเป็นส่วนสำคัญ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยม กลางด้านทั้งสี่ประดับด้วยซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยองค์ระฆังกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง ที่มุมทั้งสี่มียอดเจดีย์เล็กๆวางตั้งอยู่ เมื่อนับรวมกับยอดกลางทำให้มีทั้งสิ้น 5 ยอด เหนือองค์ระฆังของยอดกลางเป็นองค์ระฆังขนาดเล็กกว่าลดหลั่นขึ้นไป ไม่ได้เป็นบัลลังก์และปล้องไฉนเหมือนที่พบทั่วไป

เจดีย์รายทรงปราสาทยอดวัดเจดีย์เจ็ดแถว
สุโขทัย
สถาปัตยกรรมเจดีย์รายทรงปราสาทยอดวัดเจดีย์เจ็ดแถว

เจดีย์รายทรงปราสาทยอดตั้งเรียงรายรอบๆ เจดีย์ประธานและวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูน และประดับปูนปั้น องค์ประกอบโดยรวมประกอบด้วยส่วนฐาน เรือนธาตุ และยอด โดยส่วนฐานมีฐานบัวในผังสี่เหลี่ยมเป็นส่วนสำคัญ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุในผังเพิ่มมุมหรือย่อมุม ด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหา ส่วนด้านอื่นๆ เป็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดเป็นชั้นซ้อน 2 ชั้น ต่อด้วยระเบียบของเจดีย์ทรงกลมศิลปะสุโขทัย คือ บัวถลา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง และส่วนยอดสุดที่พังทลายแล้ว