ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ
อุโบสถหลังนี้ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศใต้สู่แม่น้ำลพบุรีสายเดิม แผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีระเบียงทางด้านหน้าและด้านหลัง ผนังด้านหน้ามีทั้งประตูทางเข้าสองบานและประตูช่องแสงขนาดใหญ่ ผนังด้านหลังมีประตูทางเข้าสองบาน ผนังด้านข้างเจาะเป็นช่องแสงหรือช่องลม หลังคาทรงจั่วซ้อน 3 ชั้น โครงสร้างเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้อง หลังคาด้านหน้าเป็นมุขคลุมส่วนหนึ่งของระเบียงด้านหน้า มีเสาพาไลรองรับชายหลังคาด้านข้าง
สถาปัตยกรรมกลุ่มปราสาทประธานปราสาทเมืองต่ำ
กลุ่มปราสาทประธานของปราสาทเมืองต่ำประกอบด้วยปรางค์ 5 หลัง จัดวางเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 หลัง แถวหลัง 2 หลังในตำแหน่งสับหว่างกับแถวหน้า ปรางค์ทั้ง 5 หลังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานไพทีศิลาแลงเดียวกัน ปรางค์หลังกลางของแถวหน้าเป็นประธานของกลุ่ม สภาพพังทลายลงแล้ว แต่จากส่วนฐานที่เหลืออยู่เห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าอีก 4 หลังอย่างชัดเจน ปรางค์อีก 4 หลังขนาดเท่าๆกัน ฐานเป็นศิลาแลง เรือนธาตุและยอดซ้อนชั้นก่ออิฐฉาบปูน ทุกหลังมีประตูทางเข้าสู่ครรภคฤหะเพียงด้านตะวันออกด้านเดียว ภายในครรภคฤหะเหลือแต่เพียงฐานประดิษฐานรูปเคารพ จึงไม่อาจทราบได้ว่าแต่ละหลังเคยประดิษฐานเทพเจ้าองค์ใด
สถาปัตยกรรมปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทพนมรุ้งเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างสำคัญลำดับจากด้านหน้าสุดหรือด้านตะวันออกไปยังปราสาทประธานมีดังนี้1. โคปุระแผนผังกากบาท เดิมทีคงเป็นเครื่องไม้จึงสูญสลายไปหมดแล้ว เหลือแต่เพียงฐานศิลาแลง 2. พลับพลาหรือศาลาเปลื้องเครื่อง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของโคปุระ 3. ถัดจากโคปุระเป็นทางดำเนิน สองข้างเรียงรายด้วยเสานางเรียง ปลายสุดของทางดำเนินเป็นชาลานาคราชแผนผังกากบาท 4. ถัดจากชาลานาคราชเป็นชุดขั้นบันได 5 ชุด มุ่งสู่ยอดพนมรุ้งอันเป็นที่ตั้งของปราสาทประธานและสิ่งก่อสร้างสำคัญอื่นๆ 5. พื้นที่ด้านตะวันออกนอกแนวระเบียงคดมีฐานของอาคารหลังคาคลุม เข้าใจว่าเป็นอาคารโถง ใช้ไม้เป็นวัสดุหลักจึงสูญสลายไปตามกาลเวลา พบเศษกระเบื้องตกอยู่จำนวนมากจึงสันนิษฐานว่าอาคารนี้มุงด้วยกระเบื้อง รูปแบบของอาคารเป็นลักษณะระเบียงทางเดินที่ตัดไขว้กัน ทำให้เกิดหลุม 4 หลุม ทางเดินนี้เชื่อมต่อเข้ากับระเบียงโถงที่เคยล้อมรอบระเบียงหินทราย ปัจจุบันระเบียงโถงเหลือแต่ฐานเช่นกัน 6. ระเบียงคดหินทรายและศิลาแลงล้อมรอบปราสาทประธานและสิ่งก่อสร้างอื่นๆ มีโคปุระหรือซุ้มประตูที่กลางด้านทั้งสี่ 7. ปราสาทประธานหินทรายตั้งอยู่กลางพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยระเบียงคด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก รอบๆปราสาทประธานมีสิ่งก่อสร้างต่างๆ คือ ทางด้านเหนือมีปราสาทอิฐ 2 หลัง ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้มีปรางค์น้อย ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้มีอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือบรรณาลัย
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานปราสาทพนมรุ้ง
ปราสาทประธานหรือปรางค์ประธานสร้างจากหินทราย หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ประกอบสำคัญได้แก่ เรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุม ด้านเหนือ ใต้ และตะวันตกของเรือนธาตุเป็นมุขทางเข้าสู่ครรภคฤหะที่อยู่ภายใน ส่วนด้านตะวันออกเป็นอันตราละเชื่อมต่อกับมณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสู่มณฑปทางด้านตะวันออก เหนือ และใต้ สันหลังคามุข อันตราละ และมณฑปประดับด้วยบราลีหลังคาของเรือนธาตุเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น แต่ละชั้นจำลองย่อส่วนจากเรือนธาตุ ประดับด้วยบรรพแถลงและนาคปัก (กลีบขนุน) ยอดสุดเป็นกลศ นภศูลที่เคยมีอยู่พักหายไปแล้ว ห้องครรภคฤหะที่อยู่ในเรือนธาตุประดิษฐานศิวลึงค์ มีรางน้ำมนต์หรือท่อโสมสูตรไหลออกทางมุขด้านเหนือ ภายในมณฑปประดิษฐานโคนนทิ นอกจากนี้ยังมีแท่นสี่เหลี่ยมสลักภาพเทพประจำทิศประดิษฐานอยู่ภายในมณฑป มุข และฐานโดยรอบเรือนธาตุด้วย
สถาปัตยกรรมกู่คำ
เจดีย์กู่คำก่อด้วยอิฐ ฉาบปูน ตกแต่งด้วยปูนปั้น รูปแบบโดยรวมคล้ายเจดีย์กู่กุด จังหวัดลำพูนเจดีย์กู่คำเป็นทรงปราสาทในผังสี่เหลี่ยม ฐานล่างสุดมีพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ภายในซุ้มด้านละ 1 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นเรือนธาตุซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ชั้นล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด ชั้นห้ามีขนาดเล็กที่สุด แต่ละชั้นมีพระพุทธรูปประทับยืนอยู่ภายซุ้มด้านละ 3 องค์ รวม 4 ด้าน 12 องค์ รวม 5 ชั้น เป็น 60 องค์ ที่มุมของเรือนธาตุแต่ละชั้นประดับด้วยสถูปิกะ เหนือจากเรือนธาตุชั้นที่ห้าเป็นส่วนยอดในผังสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยกลีบบัว ปลี และฉัตร ส่วนยอดนี้หุ้มทองจังโก
สถาปัตยกรรมเจดีย์หลวง
เจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยปูนปั้น และหุ้มด้วยจังโกรูปแบบประกอบด้วยฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ส่วนบนของฐานทักษิณประดับด้วยช้างล้อม มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน แต่บันไดเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนขั้นบันไดให้เป็นทางลาดเมื่อภายหลัง ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ ด้านทั้งสี่มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประดับอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยแนวชั้นหลังคาลาด แต่องค์ระฆังและส่วนเหนือขึ้นไปพังทลายลงมานานแล้ว
สถาปัตยกรรมพระธาตุดอยสุเทพ
พระธาตุดอยสุเทพเป็นเจดีย์ก้ออิฐถือปูนหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญจากด้านล่างสู่ด้านบน ได้แก่ ฐานบัวในผังเพิ่มมุมที่ออกแบบจนแลดูคล้ายกับฐานบัวซ้อนกัน 2 ชั้น ถัดขึ้นไปถัดขึ้นไปเป็นชุดบัวถลาในผังสิบสองเหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันรับองค์ระฆัง องค์ระฆังอยู่ในผงสิบสองเหลี่ยมเช่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมวิหารมหาโพธิ์
วิหารมหาโพธิ์หรือวิหารเจ็ดยอดก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและตกแต่งด้วยปูนปั้นวิหารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าผนังวิหารประดับด้วยงานปูนปั้นรูปเทพชุนนุม มีทั้งอิริยาบถนั่งและยืน อีกทั้งยังมีลวดลายประดับอื่นๆ อาทิ ลายดอกไม้ร่วง วิหารหลังนี้มีประตูทางเข้าสู่ห้องคูหาภายในจากด้านตะวันออก จึงถือได้ว่าวิหารหันหน้าไปทางด้านนี้ปัจจุบันภายในประดิษฐานพระพุทธรูป มีบันไดทางขึ้นสู่ชั้นหลังคา ด้านบนหลังคามียอดศิขรประธานขนาดใหญ่หนึ่งยอด ที่มุมทั้งสี่ของยอดศิขรใหญ่มียอดศิขรขนาดเล็ก 4 ยอด ถัดมาเบื้องหน้ามีเจดีย์ทรงกลม 2 องค์ จึงเป็นที่มีของการเรียกวิหารหลังนี้อีกชื่อหนึ่งว่า วิหารเจ็ดยอด