ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 145 ถึง 152 จาก 169 รายการ, 22 หน้า
พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท

มีรูปแบบเป็นปราสาททรงจัตุรมุข ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ประดับลวดลายปูนปั้นที่บริเวณหน้าบัน บัวหัวเสา และกาบพรหมศร ส่วนยอดเป็นปรางค์มีทั้งหมด 5 ยอด โดยประดับอยู่ที่กลางสันหลังคามุขทั้ง 4 และยอดประธานซึ่งมีความสูงที่สุด ทุกยอดประดับนภศูล ภายในพระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทมีขนาดไม่กว้างใหญ่มากนัก ใช้เทคนิคการก่ออิฐแนวผนังและเพดานโดยก่อเป็นวงโค้งปลายแหลม ซึ่งช่องวงโค้งค่อนข้างแคบจึงช่วยรองรับน้ำหนักของเครื่องหลังคาที่มีถึง 5 ยอดได้เป็นอย่างดี

วัดพระแก้วน้อย
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมวัดพระแก้วน้อย

สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดพระแก้วน้อย ได้แก่ พระอุโบสถ และพระสุทธเสลเจดีย์ ส่วนพระอุโบสถเป็นอาคารก่อด้วยหินอ่อนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาประดับกระเบื้องซ้อนชั้น เครื่องลำยองประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ขนาบสองข้างด้วยฉัตร 5 ชั้น พื้นหลังเป็นลายก้านขด ซึ่งเป็นฝีมือช่างเพชรบุรี ผนังพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมลายพรรณพฤกษา ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกประดับลวดลายปูนปั้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระนิรัยตรายจำลองและพระแก้วมรกตจำลองส่วนพระสุทธเสลเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถโดยมีทางเชื่อมต่อขึ้นไปยังฐานประทักษิณรอบองค์เจดีย์ องค์เจดีย์ก่อด้วยหินอ่อนที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดมาจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เรียงต่อกันตามแบบของเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นพระราชนิยม ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระเจดีย์ด้วย

พระปฐมเจดีย์
นครปฐม
สถาปัตยกรรมพระปฐมเจดีย์

พระปฐมเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลมที่มีขนาดสูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณที่มีระเบียงคดในผังกลมล้อมรอบองค์เจดีย์ โดยมีวิหารทิศทั้ง 4 คั่นจังหวะ ได้แก่ วิหารทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธรูปตอนประสูติ วิหารทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนตรัสรู้ วิหารทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปฐมเทศนา และวิหารทิศตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปตอนปรินิพพาน องค์พระปฐมเจดีย์ประกอบด้วยส่วนฐานซึ่งเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถารองรับองค์ระฆังขนาดใหญ่ ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์สี่เหลี่ยม แกนปล้องไฉนที่มีเสาหาร ปล้องไฉน และปลียอดที่มีลักษณะอ้วนป้อม

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ความสูง 2 ชั้น และ3 ชั้น มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทย ตะวันตก และจีน โครงสร้างหลังคารูปจั่ว มุงกระเบื้องกาบกล้วยดินเผาแบบจีน หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง ส่วนหน้าจั่วพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยเป็นรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง หมู่พระที่นั่งประกอบด้วยห้องโถงหลายห้องมีมุขที่ด้านหน้าขนาบอัฒจันทร์ซึ่งเป็นทางขึ้นอยู่ตรงกลาง อาคารด้านในเป็นอาคารขวาง เป็นท้องพระโรงซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นท้องพระโรงใหญ่สำหรับเสด็จออกว่าราชการ ตอนในเป็นท้องพระโรงเล็ก จากท้องพระโรงมีทางขึ้นไปสูระบียงอัฒจันทร์ชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องบรรทม หมู่พระที่นั่งมีการใช้ซุ้มวงโค้งปลายแหลมและโค้งมนมาใช้ในการประดับอาคารซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทำให้เกิดความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมเดิมที่อยู่ใกล้เคียง

ปราสาทพระเทพบิดร
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมปราสาทพระเทพบิดร

อาคารทรงปราสาทจัตุรมุขยอดปรางค์ มุขหน้าเป็นมุขลดโถงอยู่ทางทิศตะวันออก ตัวอาคารประดับกระเบื้องเคลือบลายพุ่มข้าวบิณฑ์บนพื้นสีฟ้าเข้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง มุงกระเบื้องเคลือบสี ส่วนยอดเป็นทรงปรางค์ทำด้วยปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ 4 รัชกาล ได้แก่ หน้าบันมุขทิศเหนือเป็นรูปอุณาโลม ในรัชกาลที่ 1 มุขทิศใต้รูปครุฑยุดนาค ในรัชกาลที่ 2 มุขทิศตะวันตกรูปพระวิมาน ในรัชกาลที่ 3 และมุขทิศตะวันออกรูปพระมหามงกุฎ ในรัชกาลที่ 4 ซุ้มประตูและหน้าต่างมีเครื่องยอดทรงมงกุฎปิดทองประดับกระจก ผนัง 2 ข้างของบานประตูและหน้าต่างประดับลายปูนปั้นปิดทองรูปตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 1-5

พระศรีรัตนเจดีย์
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระศรีรัตนเจดีย์

พระศรีรัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีมุขหรือช่องคูหายื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ ที่สันหลังคาประดับเจดีย์ทรงระฆังจำลองขนาดเล็ก ส่วนองค์เจดีย์รองรับด้วยฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์ในผังสี่เหลี่ยม ส่วนยอดประกอบด้วยแกนปล้องไฉนที่มีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลียอดและเม็ดน้ำค้าง องค์เจดีย์ประดับกระเบื้องโมเสกสีทอง ช่องคูหาทั้ง 4 ทิศมีบานประตูเปิดปิดเพื่อเข้าไปภายในองค์เจดีย์ได้ ภายในองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นโถงผนังโค้ง ภายในประดิษฐานพระเจดีย์กะไหล่ทองซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

พระมหามณฑป
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระมหามณฑป

เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสาพาไลเพิ่มมุมที่ประดับบัวหัวเสาอยู่โดยรอบอาคาร ตัวอาคารและเสาปิดทองประดับกระจก เครื่องหลังคามีลักษณะเป็นเรือนซ้อนชั้นยอดแหลมในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมแสดงความเป็นเรือนฐานันดรสูง ประกอบด้วยชั้นหลังคาลาดที่มีหน้าจั่วขนาดเล็กซ้อนกัน ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ เหม บัวคลุ่มเถาและปลียอด ประดับกระดิ่งทองเหลืองที่ชายคารอบอาคาร

หมู่พระมหามณเฑียร
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมหมู่พระมหามณเฑียร

หมู่พระมหามณเฑียรเป็นอาคารทรงไทยประเพณีล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในหมู่อาคารประกอบด้วยพระที่นั่งที่สำคัญ 3 องค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่ 1. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน 2.พระที่นั่งไพศาลทักษิณ 3.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานพระที่นั่งทุกองค์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวสลับส้มและเหลืองกรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง ที่หน้าบันประดับรูปเทวดาถือพระขรรค์ซุ้มพระทวารและพระบัญชรเป็นซุ้มทรงบรรพแถลง ภายในพระที่นั่งแต่ละองค์เป็นห้องโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีทางเชื่อมระหว่างกัน มีเสาในประธานทรงสี่เหลี่ยมรองรับน้ำหนักภายในพระที่นั่งแต่ละองค์ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังมีทั้งที่เป็นภาพปรัมปราคติที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในราชสำนัก และภาพลวดลายประดับต่างๆ