ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมทับหลังแบบถาลาบริวัต
ทับหลังมีสภาพชำรุดแตกหักออกเป็นสองชิ้น ที่ขอบด้านข้างทั้งสองแกะสลักเป็นรูปมกรหันหน้าเข้าหากันแล้วคายวงโค้งที่ประกอบด้วยวงโค้งด้านละหนึ่งวง ภายในวงโค้งนั้นเรียบไม่มีลวดลายมาประดับ ส่วนขอบวงโค้งทั้งด้านบนและล่างประดับแนวลูกประคำ ภายใต้วงโค้งเป็นลายพวงอุบะที่มีช่อกลางใหญ่ที่สุดห้อยสลับกับลายพวงมาลัยที่มีลายใบไม้สามเหลี่ยมอยู่ภายใน บริเวณที่วงโค้งแต่ละข้างมาบรรจบกัน ปรากฏรูปครุฑยุดนาคอยู่ภายในวงกลมรูปเหรียญ ครุฑนั้นมีหน้าเป็นมนุษย์ และปรากฏเฉพาะใบหน้าและลำตัวเท่านั้น
สถาปัตยกรรมปราสาทเขาน้อย
ผังของปราสาทเขาน้อยประกอบไปด้วยอาคาร 3 หลังตั้งอยู่ในแนวเหนือใต้ ซึ่งหลังเหนือและใต้พังทลายลงเหลือเพียงหลังกลาง ปราสาททิศเหนือและปราสาทหลังกลางตั้งอยู่บนฐานอันเดียวกัน แต่ปราสาททิศเหนือสร้างยื่นล้ำออกมาข้างนอกมาก ส่วนอาคารทิศใต้ตั้งอยู่บนฐานสูงเท่ากันแต่แยกห่างออกไปเล็กน้อย มีเพียงแนวฐานอิฐด้านหลังทำมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าการวางผังก่อสร้างอาคารทั้ง 3 หลังนี้ไม่ได้สร้างให้อยู่ในแนวเดียวกัน เป็นลักษณะที่คล้ายกับการสร้างปราสาทในสมัยก่อนเมืองพระนครของเขมรซึ่งไม่ค่อยมีระเบียบนักปราสาทด้านทิศเหนือมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทางเข้าด้านทิศตะวันออก อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ช่องทางเข้าสร้างให้ยืดยาวออกไป ทำให้ผังของอาคารด้านนี้มีลักษณะเป็นช่องลึก ผังในห้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ละด้านทำเป็นช่องเว้าเข้าไปปราสาทหลังกลางเป็นอาคารก่ออิฐไม่สอปูนในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมไม้สิบสอง มีทางเข้าทางทิศตะวันออกทางเดียว อีก 3 ด้านเป็นประตูหลอก ส่วนด้านในเป็นห้องที่มีความยาวแต่ละด้านไม่เท่ากัน ส่วนทิศใต้เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าบนฐานอิฐ ผังอาคารก่อสร้างเป็นผนังขึ้นไป ทางเข้าทางทิศตะวันออกทำเป็นมุขยื่นออกมา ผังในอาคารก็เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเช่นเดียวกัน
ประติมากรรมทับหลังจากปราสาทเขาน้อยหลังกลาง
การสลักเป็นรูปมกรสองตัวที่ปลายขอบทั้งสองข้างหันหน้าเข้าภายในคายวงโค้งออกมาสี่วง เหมือมกรมีรูปบุคคลขี่เบื้องบนกับเบื้องล่างของมกรมีฐานมารองรับ บริเวณกึ่งกลางและที่เสี้ยวที่ลายวงโค้งมาบรรจบกันปรากฏลายวงรูปไข่หรือวงรูปเหรียญสามวง ที่ขอบวงโค้งทั้งสี่วงมีลายประคำประดับอยู่โดยรอบ ส่วนที่ขอบของลายวงรูปเหรียญมีทั้งลายลูกประคำและลายใบไม้ม้วนประกอบอยู่ ภายในวงรูปเหรียญมีรูปเทวดาทรงพาหนะวงละหนึ่งองค์ ในขณะที่ภายในลายวงโค้งสองวงกลางมีลายดอกไม้สี่กลีบประดับอยู่ เหนือลายวงโค้งมีลายใบไม้ตั้งขึ้น ส่วนเบื้องล่างของลายวงโค้งสลักเป็นลายพวงมาลัยสลับกับพวงอุบะ ภายในลายพวงมาลัยมีลายใบไม้แหลมหยักอยู่พวงละหนึ่งใบ ส่วนพวงอุบะล้วนมีขนาดเท่ากันหมดทุกพวง รายละเอียดที่กล่าวมานี้สามารถเปรียบเทียบได้จากทับหลังปราสาทสมโบร์ไพรกุกหมู่ใต้ หลังที่ 7
สถาปัตยกรรมปราสาทพนมวัน
อยู่ในแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสหันหน้าไปทางทิศตะวันออก กลุ่มปราสาทประธานประกอบด้วยตัวปราสาทประธาน อันตราละ และมณฑปตั้งอยู่บนฐานเดียวกันปราสาทประธานมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสออกมุม มีซุ้มมุขและประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศ โดยมีมุขทางเข้าด้านทิศตะวันออกเชื่อมต่อกับอันตราละคือฉนวนหรือมุขกระสันซึ่งทำเป็นทางผ่านไปยังมณฑปที่อยู่ทางด้านหน้า มณฑปนั้นมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าทั้งสี่ทิศเช่นเดียวกับปราสาทประธาน และมีหลังคาเป็นรูปโค้งทรงประทุน ทั้งหมดนี้ล้อมรอบด้วยแนวระเบียงคดซึ่งมีโคปุระหรือซุ้มประตูอยู่ทั้ง 4 ทิศ แต่ละมุมทั้ง 4 ของระเบียงคดยังปรากฏซุ้มทิศขนาดเล็กทรงสี่เหลี่ยมออกมุมมีประตูทางเข้าและประตูที่เชื่อมต่อกับปีกโคปุระทั้ง 2 ด้านส่วนทางทิศใต้ของปราสาทประธานในเขตระเบียงคดมีปราสาทขนาดย่อมลงมาเรียกกันว่าปรางค์น้อย มีผังแบบเพิ่มมุม ส่วนฐานก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนของเรือนธาตุก่อด้วยหินทราย มีประตูทางเข้าออกทางทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ปัจจุบันส่วนยอดได้พังทลายลงมาแล้ว องค์ปราสาทยังไม่มีการสลักลวดลายตกแต่งลงไปเป็นเพียงโครงสร้างรูปปราสาทเท่านั้น จากลักษณะดังกล่าวข้างต้นสันนิษฐานว่าปรางค์น้อยนี้น่าจะมีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ภายในยังเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทหินทราย นอกจากนี้ภายในระเบียงคดยังพบแนวฐานอาคารอิฐหลายหลังอยู่ล้อมรอบปราสาทประธานอีกด้วย
สถาปัตยกรรมปราสาทสด๊อกก๊อกธม
ประกอบไปด้วยปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกทางเดียว อีกสามด้านทำเป็นประตูหลอก ปราสาทประธานมีสภาพไม่สมบูรณ์ก่อด้วยศิลาทรายตั้งอยู่บนฐานศิลาแลง มีเสานางเรียงหรือเสานางจรัลปักอยู่โดยรอบ มีบรรณาลัยสองหลังในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานตามลำดับ อาคารทั้งหมดนี้ถูกล้อมรอบด้วยระเบียงคดซึ่งมีประตูทางเข้าหรือที่เรียกว่าโคปุระทางทิศตะวันออก ส่วนระเบียงคดด้านทิศตะวันตกปรากฏห้องยาวคั่นอยู่กึ่งกลาง ส่วนพื้นที่ระหว่างระเบียงคดและกำแพงแก้วนั้นขุดคูน้ำล้อมรอบ กำแพงแก้วนั้นก่อด้วยศิลาแลง มีโคปุระหนึ่งหลังอยู่ทางทิศตะวันออกและมีฉนวนหรือทางเดินปูด้วยศิลาแลงเชื่อมต่อกันเป็นแนวตรงระหว่างโคปุระของระเบียงคดและโคปุระของกำแพงแก้ว มีเสานางเรียงปักตามแนวทั้งสองข้างทอดยาวไปจนถึงคันดินสระน้ำทางทิศตะวันออกนอกกำแพงแก้ว
ประติมากรรมทับหลังแบบถาลาบริวัต
ทับหลังมีสภาพชำรุดแตกหักออกเป็นสองชิ้น ชิ้นหนึ่งนั้นสาบสูญไป ส่วนชิ้นที่เหลือนั้นเริ่มจากการแกะสลักเป็นรูปมกรหันหน้าเข้าคายวงโค้ง ด้านหน้าปากมกรมีขอบเส้นตรงมารัดวงโค้ง ภายในวงโค้งนั้นเรียบไม่มีลวดลายมาประดับ ส่วนขอบวงโค้งทั้งด้านบนและล่างประดับแนวลูกประคำ ภายใต้วงโค้งเป็นลายพวงอุบะที่มีช่อกลางใหญ่ที่สุดห้อยสลับกับลายพวงมาลัยที่มีลายใบไม้สามเหลี่ยมอยู่ภายใน บริเวณที่วงโค้งแต่ละข้างมาบรรจบกัน ปรากฏรูปครุฑยุดนาคอยู่ภายในวงกลมรูปเหรียญ ครุฑนั้นมีหน้าเป็นมนุษย์ และปรากฏเฉพาะใบหน้าและลำตัวเท่านั้น
ประติมากรรมทับหลังแบบถาลาบริวัต
มีสภาพชำรุดโดยมีบางส่วนนั้นหักหายไป ส่วนที่เหลือนั้นแสดงภาพหัวมกรขนาดใหญ่คายวงโค้งออกมาหนึ่งวง วงโค้งนี้มีลายประคำประดับอยู่สองข้าง ตรงกึ่งกลางของทับหลังมีลายวงรูปไข่หรือวงรูปเหรียญขนาดใหญ่วงเดียวมีรูปครุฑยุดนาคอยู่ภายใน วงรูปเหรียญมีขอบขมวดเป็นลายก้นหอยแทนลายลูกประคำ ครุฑซึ่งอยู่ภายในวงรูปเหรียญนี้มีใบหน้าเหมือนบุคคลไว้ผมเป็นขมวด สวมตุ้มหูเป็นห่วงกลมขนาดใหญ่ รูปร่างอ้วนท้องพลุ้ย คาดเข็มขัดมีชายผ้าห้อยอยู่ด้านหน้าและใช้มือยุดนาคเศียรเดียวสองตัวด้วยมือแต่ละข้าง ส่วนขานั้นทำเลียนแบบขาของนกอยู่บนขอบวงรูปเหรียญ ทางเบื้องล่างใต้วงโค้งซึ่งออกมาจากปากของมกรและวงรูปเหรียญจำหลักเป็นลายพวงมาลัยสลับกับลายพวงอุบะ โดยที่อุบะพวงกลางใต้วงรูปเหรียญมีขนาดใหญ่กว่าอุบะพวงอื่นๆ ซึ่งเป็นลายอุบะแบบเก่าที่นิยมใช้บนทับหลังแบบถาลาบริวัติรุ่นแรกๆ
สถาปัตยกรรมปราสาทวัดพระพายหลวง
ปราสาทวัดพระพายหลวงตั้งเป็นประธานของวัดพระพายหลวง ซึ่งเป็นวัดที่มีสิ่งก่อสร้างต่างๆ จำนวนมาก โดยสิ่งก่อสร้างเหล่านี้สร้างเสริมต่อเนื่องกันมาหลายยุค นับแต่ครั้งก่อนสุโขทัย สุโขทัยตอนต้น และสุโขทัยตอนปลาย ตัววัดล้อมรอบด้วยคู้น้ำ เรียกว่า ห้วยแม่โจนตัวปราสาทวัดพระพายหลวงเป็นปราสาท 3 หลัง ก่อด้วยศิลาแลง ฉาบปูนและประดับปูนปั้น ทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกัน เรียงตัวตามแนวเหนือใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทั้ง 3 หลังอยู่ในผังเพิ่มมุมปราสาทหลังกลางและใต้พังทลายลงเหลือเพียงฐานและเรือนธาตุ ปราสาทหลังเหนือยังสมบูรณ์จนถึงส่วนยอดที่เป็นชั้นซ่อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 4 ชั้น ยอดสุดเป็นกลศ จากสภาพปัจจุบันยังคงสังเกตเห็นได้ว่าปราสาทหลังกลางมีความสูงใหญ่กว่าอีก 2 หลัง ซึ่งเป็นระเบียบโดยทั่วไปของศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมร งานปูนปั้นประดับดั้งเดิมยังคงเห็นชัดเจนได้ที่ปราสาทหลังเหนือ (ลายปูนปั้นหลายส่วนปั้นใหม่โดยกรมศิลปากร) ที่น่าสนใจคือภาพพุทธประวัติที่หน้าบัน ทิศใต้เป็นตอนปลงพระเกศา ทิศเหนือเป็นตอนกองทัพพญามารกำลังผจญพระพุทธเจ้า และทิศตะวันตกน่าจะเป็นตอนชนะมารและตรัสรู้