ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมหอระฆังของอาสนวิหารเซนต์แอนดรูส์
ศิลปกรรม อาสนวิหารเซนต์แอนดรูส์ เป็นโบสถ์แบบนีโอโกธิคที่มีขนาดใหญ่และสง่างามที่สุดในสิงคโปร์ ด้านหน้าประดับด้วยหอระฆังขนาดใหญ่ มีตัวอาคารซ้อนกันสามชั้นประดับด้วยหน้าต่างโค้งแหลมแบบโกธิค ด้านบนมีหลังคาทรงกระโจมแหลมแปดเหลี่ยมซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะโกธิคเช่นกัน
สถาปัตยกรรมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสิงคโปร์ ถือเป็นอาคารแบบพัลลาเดียนที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ เป็นอาคารที่มีองค์ประกอบแบบคลาสิกทั้งหมด อาร์คโค้ง เสาดอริก-ไอโอนิก หน้าจั่วสามเหลี่ยมและโดมกลม แผนผังอยู่แบบพัลลาเดียน คือแผนผังรูปตัว E ที่มีมุขกลางยื่นออกมาด้านหน้าและชักปีกออกไปสองด้าน ที่ปลายสุดมีมุขขนาบ แผนผังแบบนี้ถือเป็นแผนผังที่มีเหตุผลและใช้กับสถานที่ราชการทั้งในยุโรปและในประเทศอาณานิคมต่างๆ
สถาปัตยกรรมพระพุทธรูปที่ถ้ำช้าง
พระพุทธรูปในศิลปะทวารวดีภาคอีสาน มีลักษณะเด่นหลายประการ เช่น การที่พระพักตร์มีลักษณะแบบพื้นบ้าน เม็ดพระศกเล็กและวมขึ้นอันแสดงอิทธิพลขอมที่เข้ามาปะปน พระหัตถ์แสดงปางวิตรรกมุทราซึ่งเป็นมุทราที่โดดเด่นในศิลปะทวารวดี พระเพลาขัดสมาธิราบแบบหลวมๆและเห็นฝ่าพระบาทจากด้านบนซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยนี้เช่นกัน
สถาปัตยกรรมปราสาทนครวัด
ปราสาทล้อมรอบไปด้วยคูน้ำซึงกว้างด้านละ 1 กิโลเมตร ด้านหน้าปรากฏทางเดินยาวนำเข้าสู่ปราสาทซึ่งตั้งอยู่บนฐานสามชั้น แต่ละชั้นมีระเบียงคดล้อมรอบ มีโคปุระที่ด้านทุกด้านและมีปราสาทที่มุมทุกมุม ด้านบนสุดประดิษฐานปราสาทประธานจำนวนห้าหลัง ปราสาทนครวัดถือเป็นปราสาทที่นำความสำเร็จของปราสาทตาแก้วมาผสมกับความสำเร็จของปราสาทบาปวน ด้วนเหตุนี้ ปราสาทแห่งนี้จึงมีปราสาทประธานห้าหลังอยู่บนยอดเช่นเดียวกับปราสาทตาแก้ว และสามารถนำระเบียงคดขึ้นไปไว้ด้านบนฐานเป็นชั้นแต่ละชั้นได้
สถาปัตยกรรมจันทิอรชุน
จันทิมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก กล่าวคือ เป็นจันทิในผังครรภคฤหะ มีมุขสั้นๆยื่นออกมาทางด้านหน้า เรือนธาตุประดับด้วยเสาติดผนังสี่ต้นแบ่งผนังออกเป็นสามส่วน (เก็จประธานและเก็จมุม) ชั้นหลังคามีเรือนธาตุจำลอง (ตละ) ซ้อนชั้นขึ้นไป ที่มุมประดับด้วยอาคารจำลอง (หาระ) การท่เส้นรอนอกของยอดมีลักษณะป้นขั้นบันไดนั้นคล้ายคลึงกับวิมานในศิลปะอินเดียใต้อย่างมาก
สถาปัตยกรรมมัสยิดอับดุลกัฟฟูร์
เป็นมัสยิดที่ได้รับอิทธิดลตะวันตกอย่างมากมาย ทั้งในแง่ของเสาแบบโรมัน อาร์คที่ต่อเนื่องกันตามระบบ loggia ลวดลายที่ขื่อและการใช้โดมแบบตะวันตก โดยมีแผงด้านหน้าตกแต่งแบบศิลปะบารอก ในขณะเดียวกันเอง องค์ประกอบเล็กน้อย เช่นหอคอยปลอมขนาดเล็ก กลับถูกนำมาใช้ตกแต่งแทนที่ถ้วยรางวัลในศิลปะบารอก หอคอยขนาดเล็กเหล่านี้เป็นสิ่งเดียวที่แสดงออกถึงความเป็นอิสลามในมัสยิดแห่งนี้
สถาปัตยกรรมโดมของมัสยิดอับดุลกัฟฟูร์
เป็นมัสยิดที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกอย่างมากมาย ทั้งในแง่ของเสาแบบโรมัน อาร์คที่ต่อเนื่องกันตามระบบ loggia ลวดลายที่ขื่อและการใช้โดมแบบตะวันตก โดมที่นี่มีลักษณะตามแบบคลาสิกในศิลปะตะวันตกอย่างมาก การรองรับโดมกลางเป็นอาร์คโค้งรองรับตามระบบ Pendentive ถัดขึ้นไปมีขื่อ รองรับคอโดมที่มีหน้าต่างโดยรอบสลับกับเสาไอโอนิก ด้านบนสุดเป็นโดมที่มี rib ต่อเนื่องจากเสาโดมข้นไปถึงบนยอด ทั้งหมดนี้เป็นระบบโดมแบบคลาสิกซึ่งแตกต่างไปจากโดมแบบอิสลามอย่างชัดเจน
สถาปัตยกรรมมัสยิดจามา
ประตูทางเข้าของมัสยิดจามามีหอคอยปลอมจำนวนสองหอขนาบทางเข้า หอคอยนี้มีองค์ประกอบคือ เป็นหอคอยสี่เหลี่ยมซ้อนขึ้นไปหลายชั้นตามแบบหอคอยที่นากอร์ดารกาห์ (Nagore Dargah) อันเป็นสุสานของ Sufi Saint องค์สำคัญในรัฐทมิฬนาฑุ อินเดียใต้ หอคอยแบบนี้ยังปรากฏที่สุสานนากอร์ดารกาห์จำลองในสิงคโปร์และที่ปีนังอีกด้วย