ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์ประธาน

คำสำคัญ : เจดีย์ทรงปราสาท, ศิลปะล้านนา, เจดีย์ประธาน, วัดผ้าขาวป้าน

ชื่อเรียกอื่นเจดีย์ทรงปราสาท
ชื่อหลักวัดผ้าขาวป้าน
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลเวียง
อำเภอเชียงแสน
จังหวัดเชียงราย
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.852026
Long : 146.527814
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 6133574.52
N : 2242590.05
ตำแหน่งงานศิลปะทิศตะวันตกของวิหาร

ประวัติการสร้าง

ศิลาจารึกที่พบในวัดกล่าวถึงการสร้างเจดีย์และการบรรจุพระธาตุโดยพญาหลวงเมืองเชียงแสนพร้อมทั้งมหาสังฆราชสวามีในปี พ.ศ. 2158 – 2159

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 เจดีย์องค์นี้ได้รับการบูรณะโดยกรมศิลปากรในปีพ.ศ. 2505

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียว ฐานเขียงด้านล่างอยู่ในผังสี่เหลี่ยม 1 ฐานรองรับฐานเขียงในผังยกเก็จ 28 จำนวน 4 ฐาน ต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงาย 2 ฐานต่อกันยืดท้องไม้สูงในผังยกเก็จ 28 ปลายเส้นลวดสะบัดขึ้นเล็กน้อย เรือนธาตุยกเก็จ 28 มีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้านประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน เหนือเรือนธาตุมีหลังคาลาด ต่อด้วยฐานบัวคว่ำ ชุดฐานบัวคว่ำบัวหงาย 3 ฐานในผัง 12 เหลี่ยม รองรับองค์ระฆังที่มีบัวปากระฆัง องค์ระฆังและบัลลังก์อยู่ในผังกลม ต่อด้วยบัวแวงหรือปัทมบาทรองรับปล้องไฉนและปลี

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เจดีย์ทรงปราสาทยอดศิลปะล้านนาในพุทธศตวรรษที่ 22 ที่มีหลักฐานจารึกและรูปแบบยืนยันศักราชการสร้าง

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. งานประดับลวดบัวที่ปลายตวัดขึ้นมีชื่อเรียกว่า บัวงอน ซึ่งปรากฏมาก่อนในฐานพระพุทธรูปก่อนจะส่งไปยังเจดีย์ในศิลปะล้านนา และเป็นที่นิยมอย่างมากในศิลปะล้านช้าง

2. พระพุทธรูปในซุ้มทั้ง 4 องค์เป็นงานซ่อมในรุ่นหลังเพราะลักษณะพระพักตร์ไม่จัดอยู่ในกลุ่มใดๆ พระวรกายบอบบางและสูงผิดส่วน พระกรที่ยาวอย่างมาก น่าจะเป็นงานซ่อมแซมในพุทธศตวรรษที่ 24 – 25

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 22
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานในประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 กล่าวว่าวัดนี้สร้างในสมัยลาวเก้าแผ่นมาเมือง (พญาลาวเกลาแก้วมาเมือง) ผู้ครองเมืองหิรัญนครเงินยางเชียงแสนเมื่อ พ.ศ. 1304 โดยกล่าวว่ามีตาผ้าขาวได้ลงอาบน้ำบริเวณหน้าวัดแห่งนี้และจมหายไป ผ้าขาวลอยน้ำมาพันที่บริเวณหน้าวัด เมื่อสร้างวัดแล้วจึงเรียกว่าวัดผ้าขาวพันหรือออกสำเนียงทางเหนือว่า ผ้าขาวป้าน อย่างไรก็ดี จากรูปแบบศิลปะสัมพันธ์กับข้อความในจารึกที่พบที่วัดมากกว่าที่ปรากฏในตำนาน

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. เจดีย์ประธาน วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เจดีย์ทรงปราสาทในศิลปะล้านนาองค์แรกที่เริ่มสร้างเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดเดียวตามความประสงค์ของพระเจ้าติโลกราช

2. เจดีย์ประธาน วัดพระธาตุจอมกิตติ เชียงแสน จังหวัดเชียงรายเจดีย์ทรงปราสาทในศิลปะล้านนาในเมืองเชียงแสนที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันและยังปรากฏลวดลายปูนปั้นอยู่

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-23
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในเขตรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรม, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะเมืองเชียงแสน : วิเคราะห์งานศิลปกรรมร่วมสมัยกับหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2551.

โครงการวิจัยการปริวรรตและชำระจารึกล้านนา. จารึกล้านนาภาค 1 จารึกจังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา แพร่. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเจมส์ เอช ดับเบิ้ลยู ทอมป์สัน, 2534.

โครงการอนุรักษ์นครประวัติศาสตร์เชียงแสน. แผนแม่บท นครประวัติศาสตร์เชียงแสน. ม.ป.ท., 2536.