ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

เจดีย์ทรงปราสาท

คำสำคัญ : เจดีย์ทรงปราสาท, ศิลปะล้านนา, วัดปันสาด, เจดีย์ทรงพิเศษ

ชื่อหลักวัดปันสาท
ชื่ออื่นเจดีย์ข้างสถานีขนส่ง
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลช้างเผือก
อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงใหม่
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 18.800344
Long : 98.987042
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 498634.51
N : 2078736.25
ตำแหน่งงานศิลปะใกล้สถานีขนส่งช้างเผือก

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏประวัติการก่อสร้าง แต่จากรูปแบบศิลปะและลวดลายสามารถกำหนดอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 21

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 97 ตอนที่ 10 วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2523

ในปี พ.ศ. 2528 มีการขุดแต่งเจดีย์องค์นี้ พบเจดีย์องค์ในที่ถูกเจดีย์ทรงปราสาทครอบ

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงปราสาท มีฐานเขียงรอบรับฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้ว 1 เส้น 2 ฐานยืดท้องไม้สูงในผังยกเก็จ ต่อด้วยฐานหน้ากระดานยกเก็จรองรับเรือนธาตุยกเก็จมีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้านประดิษฐานพระพุทธรูป ประดับลายกาบบน กาบล่าง ประจำยามอกที่บริเวณเสา เหนือขึ้นไปเป็นส่วนเรือนยอดที่ทำเป็นเรือนชั้นซ้อนคือมีผนัง ช่องวิมาน มีปราสาทจำลองที่ด้านและมุม มีบรรพแถลงสลับกับหลังคาลาด ส่วนยอดสุดหักหายไป

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

1. เจดีย์ทรงปราสาทเพียงองค์เดียวที่ได้รับอิทธิพลศิลปะอยุธยา

2. เจดีย์ทรงปราสาทที่สร้างครอบเจดีย์ทรงระฆัง

ข้อสังเกตอื่นๆ

1. ลักษณะเรือนยอดเช่นนี้มีลักษณะคล้ายปยาทาดของพม่า เรือนยอดเช่นนี้ส่วนใหญ่พบในงานเครื่องไม้ เช่น ธรรมาสน์ หรือโขงพระเจ้า โขงประตูวัด

2. ลักษณะลวดลายที่ปรากฏเป็นลายเครือล้านนา ลายกาบบน กาบล่างที่มีเส้นหยักโค้งอย่างมาก นิยมในศิลปะล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นสิ่งที่ช่วยในการกำหนดอายุได้เป็นอย่างดี

3. ชื่อวัดปันสาทน่าจะหมายถึงปราสาท ซึ่งเป็นชื่อที่มีการตั้งขึ้นในภายหลัง ไม่น่าจะเป็นชื่อวัดมาแต่เดิม

4. จากการขุดแต่งวัดแห่งนี้พบว่าเจดีย์องค์สร้างครอบเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัยเอาไว้ แสดงถึงอายุสมัยที่หลังลงมากว่าเจดีย์องค์ด้านใน

5. เจดีย์องค์นี้ในระยะแรกไม่ปรากฏชื่อ บางครั้งจึงเรียกว่าเจดีย์ข้างสถานีขนส่งสายเหนือ

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านนา
อายุพุทธศตวรรษที่ 21
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. กู่พระแก่นจันทน์ วัดมหาโพธาราม จังหวัดเชียงใหม่ ตัวอย่างของกู่พระเจ้าในศิลปะล้านนาซึ่งเดิมเคยใช้ประดิษฐานพระแก่นจันทน์ มีลักษณะลวดลายปูนปั้นที่สามารถกำหนดอายุได้อยู่ในข่วงพุทธศตวรรษที่ 21 เช่นกัน

2. โขงประตู วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง โขงประตูที่มีลักษณะของเรือนยอดคล้ายกับวัดปันสาทและมีอายุสมัยใกล้เคียงกันแต่ลวดลายปูนปั้นได้รับการบูรณะในระยะหลังแล้ว

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-05-25
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

ศิลปากร, กรม. การขึ้นทะเบียนโบราณสถานภาคเหนือในเขตรับผิดชอบของหน่วยศิลปากรที่ 4 ตามโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานของกองโบราณคดี. กรุงเทพฯ: กรม, 2525.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศิลปะล้านนา. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.

อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว. วัดร้างในเวียงเชียงใหม่. พิมพ์ครั้งที่ 2. เชียงใหม่: สุริวงศ์ บุ๊คเซนเตอร์, 2539.

หน่วยศิลปากรที่ 4. รายงานการขุดแต่งและบูรณะเจดีย์วัดปันสาท. เอกสารสำเนา, 2528.