ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

กลุ่มปราสาทประธานปราสาทเมืองต่ำ

คำสำคัญ : ปราสาทเมืองต่ำ, ปราสาทหิน, ปราสาทเขมร, ลพบุรี, ศิลปะเขมรในประเทศไทย

ชื่อเรียกอื่น-
ชื่อหลักปราสาทเมืองต่ำ
ชื่ออื่น-
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลจรเข้มาก
อำเภอประโคนชัย
จังหวัดบุรีรัมย์
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 14.496203
Long : 102.982387
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 P
Hemisphere : N
E : 282550.7
N : 1603563.15
ตำแหน่งงานศิลปะกลางศาสนสถาน

ประวัติการสร้าง

ไม่ทราบประวัติการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบของลวดลายประดับบนส่วนต่างๆ เช่น ทับหลัง หน้าบัน ซึ่งมีรูปแบบตรงกับศิลปะบาปวน จึงทำให้กำหนดอายุปราสาทหลังนี้ไว้ราว พ.ศ.1600 โดยอาจสร้างก่อนหรือหลังจากนี้ไม่นาน

อนึ่ง แม้ว่าได้พบทับหลังแบบคลังที่ปราสาทเมืองต่ำ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปราสาทแห่งนี้ให้เก่าไปจนถึง พ.ศ.1510-1560 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ศิลปะคลังแพร่หลาย แต่น่าจะอธิบายได้ว่าช่างผู้สลักลวดลายยังนำเอาศิลปะแบบเก่ามาใช้ จึงเกิดการปะปนกันระหว่างศิลปะแบบใหม่คือบาปวนกับศิลปะแบบเก่าคือคลังในศาสนสถานแห่งนี้
ลักษณะทางศิลปกรรม

กลุ่มปราสาทประธานของปราสาทเมืองต่ำประกอบด้วยปรางค์ 5 หลัง จัดวางเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 หลัง แถวหลัง 2 หลังในตำแหน่งสับหว่างกับแถวหน้า

ปรางค์ทั้ง 5 หลังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานไพทีศิลาแลงเดียวกัน ปรางค์หลังกลางของแถวหน้าเป็นประธานของกลุ่ม สภาพพังทลายลงแล้ว แต่จากส่วนฐานที่เหลืออยู่เห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าอีก 4 หลังอย่างชัดเจน ปรางค์อีก 4 หลังขนาดเท่าๆกัน ฐานเป็นศิลาแลง เรือนธาตุและยอดซ้อนชั้นก่ออิฐฉาบปูน ทุกหลังมีประตูทางเข้าสู่ครรภคฤหะเพียงด้านตะวันออกด้านเดียว ภายในครรภคฤหะเหลือแต่เพียงฐานประดิษฐานรูปเคารพ จึงไม่อาจทราบได้ว่าแต่ละหลังเคยประดิษฐานเทพเจ้าองค์ใด
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

ปราสาทเมืองต่ำตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเขาพนมรุ้ง นับว่าเป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ 2 แห่งตั้งอยู่ใกล้กัน สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้ต้องมีขนาดใหญ่และมีความสำคัญมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และตั้งอยู่ระหว่างทางคมนาคมสายหลักระหว่างเมืองพระนครกับเมืองพิมาย

ความสำคัญทางศิลปกรรมของปราสาทเมืองต่ำ คือ ฝีมือช่างสลักที่ปราสาทแห่งนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นฝีมือช่างที่ดูไม่เชี่ยวชาญปรากฏอยู่ที่ทับหลังของกลุ่มปราสาทประธาน 5 หลัง และกลุ่มที่สองเป็นฝีมือช่างที่เชี่ยวชาญปรากฏอยู่ที่ระเบียงคดและโคปุระชั้นนอก น่าจะสะท้อนให้เห็นว่าอาจมีการแบ่งงานกันทำระหว่างช่างท้องถิ่นที่ฝีมือการสลักไม่ชำนาญนัก กับช่างที่มาจากภายนอกที่มีฝีมือสลักชำนาญมาก
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะลพบุรี, เขมรในประเทศไทย
อายุราว พ.ศ. 1600 (อาจสร้างก่อนหรือหลังจากนี้ไม่นาน)
ศาสนาพราหมณ์

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-08-21
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

โบราณคดี, กอง. รายงานการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทเมืองต่ำ และการขุดตรวจเพื่อค้นหาแหล่งชุมชนโบราณบริเวณโดยรอบปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพฯ : กองโบราณคดี, 2536.

โบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา, สำนักงาน. ปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพฯ : สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา, 2540.

สุภัทรดิศ ดิศกุล, หม่อมเจ้า, ศิลปะสมัยลพบุรี. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2547.

อนุวิทย์ เจริญศุภกุล. ปราสาทเมืองต่ำ การศึกษาทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม. กรุงเทพฯ : คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2541.