ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

จิตรกรรมเรื่องพระราชประวัติรัชกาลที่ 5

คำสำคัญ : วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม, จิตรกรรมฝาผนัง, พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, รัชกาลที่ 5

ชื่อหลักพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
ชื่ออื่นวัดเบญจฯ
ประเภทงานศิลปะจิตรกรรม
ตำบลดุสิต
อำเภอเขตดุสิต
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.766
Long : 100.514002
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 663678.37
N : 1522360.08
ตำแหน่งงานศิลปะผนังภายในพระที่นั่งทรงผนวช

ประวัติการสร้าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้รื้อพระที่นั่งทรงผนวชมาจากพระพุทธรัตนสถานในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับเมื่อทรงผนวชมาสร้างเป็นหมู่กุฏิเจ้าอาวาสที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามและโปรดเกล้าฯให้เขียนภาพพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของพระองค์ มีผู้สันนิษฐานว่าหม่อมเจ้าจันทร์ ดารากร เป็นช่างหลวงผู้เขียนภาพเหล่านี้

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ภาพเขียนสีฝุ่น ปิดทองคำเปลวบางส่วน

ประวัติการอนุรักษ์

พ.ศ. 2528 งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการศึกษาและเก็บข้อมูล พร้อมทั้งอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงผนวช

ขนาด82.7 ตารางเมตร
ลักษณะทางศิลปกรรม

จิตรกรรมพระราชประวัติรัชกาลที่ 5 เขียนภาพเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในราชสำนักตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 4 ถึงกระทั่งเมื่อย้ายพระที่นั่งทรงผนวชจากในพระบรมมหาราชวังมาสร้างไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ละห้องภาพปรากฏภาพพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีโสกันต์ รวมทั้งพระราชกรณียกิจต่างๆ เช่น ภาพการเสด็จออกรับราชทูต โดยมีฉากหลังเป็นสถานที่สำคัญที่มีอยู่จริง เช่น ภาพพระที่นั่งและอาคารสำคัญต่างๆในพระบรมมหาราชวัง ภาพพระปฐมเจดีย์ พระสมุทรเจดีย์ เป็นต้น เทคนิคการเขียนภาพใช้หลักทัศนียวิทยาอย่างตะวันตกที่สมจริงและเคร่งครัดมากขึ้นกว่าจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ 4 นอกจากนี้ยัง ภาพจิตรกรรมยังแสดงให้เห็นสภาพสังคมในสมัยนั้น ไม่ว่าจะเป็นภาพบ้านเรือน การแต่งกายของผู้คน การใช้เรือเป็นพาหนะสัญจร การใช้ธงชาติ มหรสพและการละเล่นต่างๆ

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งทรงผนวชสันนิษฐานว่าเขียนขึ้นโดยช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 เล่าเรื่องพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 เริ่มตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์เรื่อยมาจนถึงทรงผนวชและประทับอยู่ ณ พระที่นั่งองค์นี้จิตรกรรมฝาผนังแห่งนี้นับได้ว่าเป็นการวาดภาพตามแนวคิดใหม่เนื่องจากเป็นการบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์พระราชพิธีสำคัญในราชสำนักเมื่อปลายรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 เช่น ภาพพระราชพิธีโสกันต์ ภาพพระราชพิธีบรรพชา ที่น่าสนใจคือการเขียนภาพบุคคลสำคัญ เช่น ภาพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งแม้จะเป็นภาพขนาดเล็กแต่ก็ให้ความสำคัญกับความสมจริงเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ภาพพระที่นั่งและอาคารสำคัญต่างๆในพระบรมมหาราชวังยังเขียนขึ้นอย่างเหมือนจริง ซึ่งบางแห่งไม่ปรากฏหลักฐานในปัจจุบันแล้ว ภาพจิตรกรรมจึงเป็นหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่ยืนยันว่าเคยมีอาคารเหล่านั้นอยู่ในพระบรมมหาราชวังมาแต่เดิม

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 25
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-30
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

กองโบราณคดี.รายงานการอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม. กรุงเทพฯ : งานอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนังและประติมากรรมติดที่ กองโบราณคดี, 2528.

สน สีมาตรัง. “จิตรกรรมฝาผนังที่พระที่นั่งทรงผนวช : จิตรกรรมไทยประเพณีที่กำลัง ก้าวไปสู่จิตรกรรมไทยสมัยใหม่แต่ขาดการสืบทอด” เมืองโบราณปีที่ 6 ฉบับที่ 3 (ส.ค.-พ.ย.2523), 50-66.

เอนก นาวิกมูล. จิตรกรรมพระราชประวัติรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2554.