ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 33 ถึง 40 จาก 62 รายการ, 8 หน้า
พระพุทธรูปปางมารวิชัย
สุโขทัย
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบบนฐานหน้ากระดาน พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย ลักษณะเด่นซึ่งเป็นแบบแผนของพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ได้แก่ พระพักตร์เป็นวงรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกโด่งงุ้ม พระโอษฐ์งามสมส่วน เม็ดพะศกใหญ่ขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุณีษะนูน พระรัศมีเปลวไฟ ครองจีวรห่มเฉียง เรียบไม่มีริ้ว ชายสังฆาฏิเป็นแถบเล็กและยาวจรดพระนาภี ปลายหยักเป็นริ้วดังที่เรียกว่าเขี้ยวตะขาบ

พระพุทธรูปปางมารวิชัย
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางมารวิชัย

พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร พระหัตถ์ทำปางมารวิชัย รองรับด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายซึ่งวางอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมที่ประดับรูปสิงห์อยู่ที่มุม เบื้องหลังเป็นประภามณฑลวงกลม พื้นที่ตรงกลางเจาะโปร่ง ขอบนอกประดับด้วยลายดอกไม้กลมและลายเปลวเพลิง ด้านบนมีฉัตร

พระพุทธสิหังคปฏิมากร
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระพุทธสิหังคปฏิมากร

พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานสิงห์ ชั้นบนเป็นรูปกลีบบัวซ้อนชั้น แสดงปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก มีอุษณีษะรองรับเปลวรัศมี ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวเป็นแผ่นจรดพระนาภี

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ภายในวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง แบ่งเป็นพื้นที่เขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ในส่วนพุทธาวาสมีอาคารสำคัญ ได้แก่ พระวิหารหลวงที่มีรูปแบบอย่างไทยประเพณี ตัวอาคารประดับด้วยหินอ่อน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องประดับเครื่องลำยอง หน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎและพระขรรค์ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า เบื้องล่างมีรูปช้างสำคัญ ขนาบด้วยฉัตร เบื้องหลังพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของ ปาสาณเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัด มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 สร้างจากหินอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาคารสำคัญอื่นอีก เช่น หอพระจอม รูปแบบและแผนผังของวัดที่มีองค์ประกอบหลักอย่างเรียบง่ายคือพระวิหารและพระเจดีย์เช่นนี้ พบได้ในวัดที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ส่วนเขตสังฆาวาสของวัดนี้ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์นั้นมีข้อกำหนดไว้ว่าเป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรี

บุษบกธรรมาสน์ยอดทรงมงกุฎ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมบุษบกธรรมาสน์ยอดทรงมงกุฎ

บุษบกธรรมาสน์ยอดทรงมงกุฎประกอบด้วยส่วนฐาน ส่วนกลาง และส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์เพิ่มมุมซ้อนชั้นโดยมีท้องไม้ยืดสูง ด้านหน้ามีชั้นลดสำหรับพระสงฆ์ขึ้นสู่ธรรมาสน์ ส่วนกลางมีลักษณะโปร่ง ประกอบด้วยเสาย่อมุมไม้สิบสองที่ 4 มุมของบุษบก รองรับส่วนยอดทรงมงกุฎที่ประกอบด้วยชั้นเกี้ยวรัดเกล้าซ้อนลดหลั่น 3 ชั้น แต่ละชั้นประดับดอกไม้ไหว ถัดขึ้นไปเป็นปลียอดเรียวแหลม

พระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง
โฮจิมินห์
ประติมากรรมพระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง

พระพุทธรูปมีลักษณะตามอย่างศิลปะอมราวดีหรือลังกา กล่าวคือมีอุษณีษะต่ำ พระเกศาขมวดก้นหอย ห่มจีวรเฉียง จีวรเป็นริ้วทั้งองค์ มีขอบจีวรหนายกขึ้นมาพาดพระกรซ้ายเป็นรูปสามเหลี่ยม พระพุทธรูปยกพระหัตถ์ขวาแสดงวิตรรกมุทราและยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นมาจับชายจีวรขนานกันกับพระหัตถ์ขวา รูปแบบทั้งหมดนี้แสดงว่าพระพุทธรูปองค์นี้อาจะเป็นของนำเข้ามาจากอินเดียใต้หรือลังกา

เจดีย์มินกุน
มินกุน
สถาปัตยกรรมเจดีย์มินกุน

เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีเรือนธาตุขนาดใหญ่ เป็นแท่งทึบตัน เพื่อรองรับชั้นหลังคาและศิขระขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่การสร้างเจดีย์องค์นี้ต้องล้มเลิกไปภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าปดุง ทำให้ชั้นเรือนธาตุเท่านั้นที่เสร็จสมบูรณ์

รูปจำลองของเจดีย์มินกุน
มินกุน
สถาปัตยกรรมรูปจำลองของเจดีย์มินกุน

เนื่องจากเจดีย์เมืองมินกุนองค์จริงสร้างไม่สำเร็จ เราจำเป็นต้องศึกษาภาพเต็มของเจดีย์องค์นี้จากรูปจำลองซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเจดีย์องค์จริง เจดีย์จำลององค์นี้ปรากฏยอดศิขระและยอดเจดีย์บนยอดของเรือนธาตุซึ่งแสดงให้เห็นว่า เจดีย์องค์จริงอาจตั้งใจที่จะมียอดศิขระเช่นกัน