ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 17 ถึง 21 จาก 21 รายการ, 3 หน้า
ท้องพระโรง วังท่าพระ
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมท้องพระโรง วังท่าพระ

ท้องพระโรงเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันด้านแป หรือด้านยาวออกหน้าวัง หลังคงทรงไทยชั้นเดียวมุงกระเบื้องไม่มีมุขลด เครื่องลำยองประกอบด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ไม่มีนาคสะดุ้งหน้าบันแบบฝาปะกน มีบันไดใหญ่ทางด้านหน้า ลูกกรงกำแพงแก้วเป็นเหล็กหล่อลวดลายแบบสมัยวิคตอเรียน พื้นภายในเป็นไม้ มีเสาไม้กลมเซาะร่องมีฐานแบบตะวันตกเรียงรายตลอดความยาวของอาคาร ด้านหลังมีโถงทางเดินเชื่อมไปยังตำหนักกลาง

วัดพระแก้วน้อย
เพชรบุรี
สถาปัตยกรรมวัดพระแก้วน้อย

สถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัดพระแก้วน้อย ได้แก่ พระอุโบสถ และพระสุทธเสลเจดีย์ ส่วนพระอุโบสถเป็นอาคารก่อด้วยหินอ่อนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาประดับกระเบื้องซ้อนชั้น เครื่องลำยองประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ขนาบสองข้างด้วยฉัตร 5 ชั้น พื้นหลังเป็นลายก้านขด ซึ่งเป็นฝีมือช่างเพชรบุรี ผนังพระอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมลายพรรณพฤกษา ซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกประดับลวดลายปูนปั้น ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระนิรัยตรายจำลองและพระแก้วมรกตจำลองส่วนพระสุทธเสลเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงระฆังตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถโดยมีทางเชื่อมต่อขึ้นไปยังฐานประทักษิณรอบองค์เจดีย์ องค์เจดีย์ก่อด้วยหินอ่อนที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตัดมาจากเกาะสีชัง จ.ชลบุรี เรียงต่อกันตามแบบของเจดีย์ทรงระฆังซึ่งเป็นพระราชนิยม ทั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายในพระเจดีย์ด้วย

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ความสูง 2 ชั้น และ3 ชั้น มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทย ตะวันตก และจีน โครงสร้างหลังคารูปจั่ว มุงกระเบื้องกาบกล้วยดินเผาแบบจีน หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง ส่วนหน้าจั่วพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยเป็นรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง หมู่พระที่นั่งประกอบด้วยห้องโถงหลายห้องมีมุขที่ด้านหน้าขนาบอัฒจันทร์ซึ่งเป็นทางขึ้นอยู่ตรงกลาง อาคารด้านในเป็นอาคารขวาง เป็นท้องพระโรงซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นท้องพระโรงใหญ่สำหรับเสด็จออกว่าราชการ ตอนในเป็นท้องพระโรงเล็ก จากท้องพระโรงมีทางขึ้นไปสูระบียงอัฒจันทร์ชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องบรรทม หมู่พระที่นั่งมีการใช้ซุ้มวงโค้งปลายแหลมและโค้งมนมาใช้ในการประดับอาคารซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทำให้เกิดความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมเดิมที่อยู่ใกล้เคียง

พระมหามณฑป
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระมหามณฑป

เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสาพาไลเพิ่มมุมที่ประดับบัวหัวเสาอยู่โดยรอบอาคาร ตัวอาคารและเสาปิดทองประดับกระจก เครื่องหลังคามีลักษณะเป็นเรือนซ้อนชั้นยอดแหลมในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมแสดงความเป็นเรือนฐานันดรสูง ประกอบด้วยชั้นหลังคาลาดที่มีหน้าจั่วขนาดเล็กซ้อนกัน ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ เหม บัวคลุ่มเถาและปลียอด ประดับกระดิ่งทองเหลืองที่ชายคารอบอาคาร

โลหะปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมโลหะปราสาท

โลหะปราสาทเป็นอาคารทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนสูง 3 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับส่วนยอดด้วยโลหะ มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ยอดภายในโลหะปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด เดิมมีแกนกลางหลักเป็นซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาท โดยเจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ต่อมาเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์จึงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก