ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 17 ถึง 24 จาก 32 รายการ, 4 หน้า
พระหริหระ
ประติมากรรมพระหริหระ

เป็นประติมากรรมลอยตัว ปรากฏการทำชฎามงกุฎที่ด้านซีกขวา และกีรีฏมงกุฎที่ด้านซ้าย แสดงถึงความเป็นพระศิวะและพระวิษณุ ด้านบนขวามีชิ้นส่วนของตรีศูลซึ่งเป็นอาวุธของพระศิวะ ด้านบนซ้ายปรากฏพระกรถือจักรซึ่งเป็นอาวุธของพระวิษณุ ประติมากรรมทรงนุ่งผ้านุ่งแบบโทตียาว ตามอิทธิพลของศิลปะอินเดีย ด้านซ้ายของผ้าปรากฏหัวเสืออันเป็นผ้านุ่งของพระศิวะ

ปราสาทบริวารของปราสาทบากอง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทบริวารของปราสาทบากอง

ภาพปราสาทบริวารของปราสาทบากอง เป็นปราสาทอิฐที่แตกต่างด้วยปูนปั้น ตั้งอยู่บนพื้น กระจายตัวกันอยู่ทุกทิศ จำนวนแปดหลัง (ด้านละสองหลังดังที่เห็นในภาพ)

ปราสาทประธาน : ปราสาทบากอง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทประธาน : ปราสาทบากอง

เป็นที่น่าแปลกว่า ปราสาทประธานของปราสาทบากองกลับสร้างด้วยหินทรายและมีลวดลายในสมัยนครวัด ซึ่งแตกต่างไปจากองค์ประกอบโดยรวมของปราสาทบากองที่มีอายุอยู่ในสมัยพระโค อันแสดงให้เห็นว่า ปราสาทประธานหลังนี้ถูกสร้างใหม่ในสมัยนครวัด ซ่งออาจทดแทนปราสาทหลังเดิมของปราสาทบากองที่สร้างด้วยอิฐและอาจพังทลายลงในสมัยนครวัดลักษณะของปราสาทในสมัยนครวัดก็คือ การมีแผนผังเพิ่มมุม การตกแต่งด้วยนางอัปสรที่แต่งกายตามแบบนครวัดและการประดับกลีบขนุนที่ยอดด้านบน

จันทิส่าหรี
กลาเตน
สถาปัตยกรรมจันทิส่าหรี

จันทิส่าหรี เป็นจันทิในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งไม่ปรากฏมาก่อนในศิลปะชวาระยะก่อนหน้า ภายในปรากฏห้องจำนวน 3 ห้องและซ้อนกัน 2 ชั้นโดยเคยมีพื้นชั้นสองเป็นแผ่นไม้มาก่อน อาคารแบบนี้คงจำลองมาจากอาคารแบบพื้นเมืองชวาเอง และอาจเคยใช้ในการประดิษฐานพระพุทธเจ้าในห้องกลางและพระโพธิสัตว์ในห้องข้าง อนึ่ง นอกจากที่นี่แล้ว จันทิในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้ายังปรากฏอีกที่จันทิเพลาสัน

ภายในจันทิส่าหรี
กลาเตน
สถาปัตยกรรมภายในจันทิส่าหรี

จันทิส่าหรี เป็นจันทิในแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งไม่ปรากฏมาก่อนในศิลปะชวาระยะก่อนหน้า ภายในปรากฏห้องจำนวน 3 ห้องและซ้อนกัน 2 ชั้นโดยเคยมีพื้นชั้นสองเป็นแผ่นไม้มาก่อน อาคารแบบนี้คงจำลองมาจากอาคารแบบพื้นเมืองชวาเอง และอาจเคยใช้ในการประดิษฐานพระพุทธเจ้าในห้องกลางและพระโพธิสัตว์ในห้องข้าง จากภาพ จะเห็นว่าภายในอาคารปรากฏคิ้วหินสำหรับการรองรับพื้นชั้นสองซึ่งสูญหายไปแล้ว ลักษณะเช่นนี้ย่อมแสดงว่าจันทิดังกล่าวเคยมีสองชั้น

จันทิกิดาล
กิดาล
สถาปัตยกรรมจันทิกิดาล

จันทิแห่งนี้ มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่ต่อมาจะกลายเป็นรูปแบบโดยทั่วไปของศิลปะชวาภาคตะวันออก กล่าวคือ เป็นจันทิขนาดเล็กที่มีห้องครรภคฤหะเพียงห้องเดียว ตั้งอยู่บนฐาน 3 ชั้นที่ เหนือประตูกลางปรากฏหน้ากาลที่มีลักษณะดุร้ายตามแบบศิลปะชวาภาคตะวันออก คือ เป็นหน้ากาลที่มีปากล่าง มีเขี้ยวยื่นออกมา มีเขาและมีมือที่ชูนิ้วขึ้นในท่าขู่ เรือนธาตุคาด “เส้นรัดอก” ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะชวาภาคตะวันออก ยอดของจันทิมีลักษณะที่ต่อมาจะปรากฏเสมอๆในศิลปะชวาภาคตะวันออก กล่าวคือ ปรากฏ “ชั้นหน้ากระดาน” สลับอาคารจำลองขนาดเล็กเรียงกันจำนวน 5 หลัง

จันทิจาโก
ตุมปัง
สถาปัตยกรรมจันทิจาโก

ศาสนสถานมีฐานรองรับ 3 ชั้นโดยสลักเรื่องการวิวาทกันระหว่างราชวงศ์ปาณฑพและเการพในมหาภารตะ โดยเริ่มตั้งแต่พวกปาณฑพเล่นสกากับพวกเการพ การเปลื้องผ้านางเทราปตี การถูกขับไล่ออกจากเมืองจนถึงพระอรชุนไปบำเพ็ญตบะที่เขาอินทรกิละ และเรื่องการรับอาวุธปาศุปัตจากพระศิวะที่แปลงตนเองมาเป็นนายพรานชื่อกิราตะ หลังคาของปราสาทด้านบนได้หักพังลงมาหมดแล้ว แต่เป็นไปได้ที่หลังคาของปราสาทอาจเป็นเรื่องไม้มุงกระเบื้องหรือมุงฟาง โดยเป็นหลังคาลาดซ้อนชั้นตามแบบ “เมรุ” ก็ได้

จันทิสิงหาส่าหรี
สิงหาส่าหรี
สถาปัตยกรรมจันทิสิงหาส่าหรี

จันทิสิงหาส่าหรีมีลักษณะแผนผังที่แปลกประหลาด โดยห้องกลางของจันทิไม่สามารถเข้าไปได้ คือเป็นจันทิที่เรือนธาตุปิดเป็นห้องกรุทึบเนื่องจากตั้งอยู่ด้านบน ส่วนห้องที่มุขทั้ง 4 ทิศนั้นตั้งอยู่ที่ฐานด้านล่างและสามารถเข้าไปภายในได้ ห้องกลางประดิษฐานศิวลึงค์ ห้องด้านทิศใต้ประดิษฐานอคัสตยะ ห้องด้านทิศตะวันตกประดิษฐานพระคเณศ ส่วนด้านทิศเหนือประดิษฐานมหิษาสูรมรรทนี แผนผังแบบนี้ปรากฏมาแล้วตั้งแต่จันทิปรัมบะนันในศิลปะชวาภาคกลางตอนปลาย อาคารชั้นบนของจันทิสิงหาส่าหรีมีรูปแบบที่เทียบได้กับจันทิโดยทั่วไปในศิลปะชวาภาคตะวันออก คือ เรือนธาตุสี่เหลี่ยมจัตุรัสรัดด้วยรัดอก ทั้งสี่ด้านปรากฏประตูหลอกซึ่งมีหน้ากาลประดับอยู่ด้านบน ถัดขึ้นไปได้แก่ชั้นซ้อนซึ่งประกอบด้านหน้ากระดานสลับกับอาคารจำลอง