ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทเมืองสิงห์
ปราสาทเมืองสิงห์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ฉาบปูนและประดับด้วยปูนปั้นซึ่งปัจจุบันหลุดล่วงไปเกือบหมดแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออกรูปแบบปราสาทมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางของฐานยกพื้น ยอดปรักหักพังหมดแล้ว ด้านหน้าปราสาทประธานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบรรณาลัยตั้งอยู่ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด กลางด้านทั้งสี่ของระเบียงคดเป็นโคปุระที่ทำยอดเป็นทรงปราสาท ด้านหน้าทางทิศตะวันออกของฐานยกพื้นมีลานศิลาแลง เดิมทีคงเคยมีหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องคลุมอยู่ แต่ปัจจุบันได้ปรักหักพังหมดแล้ว ถัดออกไปทางทิศตะวันออกมีร่องรอยของโคปุระ ทางด้านเหนือและใต้ของโคปุระเชื่อมต่อกับแนวกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน เบื้องหน้าของโคปุระมีชาลารูปกากบาท
สถาปัตยกรรมวิหารพระสิงห์
วิหารพระสิงห์มีรูปแบบอาคารเช่นเดียวกับวิหารล้านนารุ่นเก่า มีหลังคาซ้อน 3 ชั้นที่ด้านหน้า และ 2ชั้น ที่ด้านหลัง โดยมีตับหลังคาด้านข้าง 2 ตับ โครงสร้างหลังคาเป็นการเข้าเครื่องไม้เพื่อรับน้ำหนักเรียกว่า ม้าต่างไหม โครงสร้างหลังคาประกอบด้วยหน้าจั่ว ป้านลมหรือตัวรวย ซึ่งมีการประดับช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ ส่วนหน้าบันประกอบด้วยรวงผึ้งหรือโก่งคิ้วมีลักษณะเป็นแผงไม้ประดับที่ด้านหน้าระหว่างเสา ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพิ่มมุม มีทางเข้าด้านหน้าเป็นทางเข้าหลัก และมีทางเข้าเล็กๆที่ด้านซ้ายและขวาของอาคาร ที่ทางเข้าหลักประดับราวบันไดด้วยปูนปั้นรูปนาคและตัวมอมซึ่งเป็นสัตว์ผสมในจินตนาการ ทำหน้าที่ดูแลศาสนสถาน
จิตรกรรมวิหารพระสิงห์
ภายในวิหารลายคำมีงานจิตรกรรมที่น่าสนใจของล้านนา แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่จิตรกรรมลายคำซึ่งอยู่เบื้องหลังพระประธาน จิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องสุวรรณหงส์ที่ผนังด้านทิศใต้และจิตรกรรมสีฝุ่นเรื่องสังข์ทองที่ผนังด้านทิศเหนือซึ่งทั้ง 2 เรื่องมีที่มาจากปัญญาสชาดกสำหรับลายคำเบื้องหลังพระพุทธสิหิงค์ซึ่งเป็นพระประธานนั้นเป็นภาพเขียนด้วยทองคำเปลวบนพื้นสีแดง เขียนเป็นภาพกู่หรือปราสาทซึ่งเป็นอาคารหลังคาลาดซ้อนชั้นอันเอกลักษณ์ของศิลปะล้านนาที่นิยมใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ต่างจากภาคกลางที่ประดิษฐานพระพุทธรูปบนฐานชุกชี ลวดลายประดับอื่นๆ ยังแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะล้านนากับศิลปะจีน ได้แก่ ลายเมฆ ลายมุกไฟ และลายมังกร โดยบางแห่งใช้เทคนิคการปิดทองบนกระดาษปรุลาย
ประติมากรรมสิงห์ยกขาจากปราสาทจาเกียว
ประติมากรรมรูปสัตว์จากปราสาทจาเกียวทั้งหมด มักอยู่ในทาทางเคลื่อนไหวอันถือเป็นเอกลักษณ์ของประติมากรรมรูปสัตว์ในระยะนี้ รูปสิงห์เองก็มีท่าทางยกขาขึ้นและเอี้ยวตัวเคลื่อนไหวอย่างมาก อนึ่ง สิงห์ซึ่งมีเขาแพะนั้นเรียกว่า “วยาล” ในศิลปะอินเดีย
ประติมากรรมรูปสัตว์จากปราสาทถาปมาม
รูปสิงห์จากปราสาทถาปมาม แสดการยกแข้งยกขาตามแบบศิลปะจีน หน้าตาของสิงห์มีการปะปนระหว่าง "สิงห์" และ "มังกรจีน" เป็นอย่างมาก ทั้งการมีเครา การอ้าปากแลบลิ้น การมีเขี้ยวมุมปาก เป็นต้น ทั้งหมดนี้แสดงอิทธิพลของเวียดนามที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองขึ้นเรื่อยๆในพื้นที่แถบนี้
ประติมากรรมรูปสัตว์จากปราสาทถาปมาม
รูปสิงห์แบบจากปราสาทถาปมาม แสดงให้เห็นอิทธิพลศิลปะขอมแบบบายนที่เข้ามามีบทบาทในศิลปะบิญดิ่นอย่างมาก เนื่องด้วยท่าทางของสิงห์ดังกล่าวคล้ายคลึงกับสัตว์แบกฐานพระราชวังหลวงของเมืองพระนครอย่างมาก อนึ่ง เนื่องด้วยการโจมตีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทำให้ประติมากรรมในระยะนี้มีอิทธิพลขอมเข้ามาปะปน การชักชายผ้ารูปสามเหลี่ยมด้านหน้าก็ถือเป็นอิทธิพลจากศิลปะขอมเช่นกัน
ประติมากรรมรูปสัตว์จากปราสาทถาปมาม
รูปสิงห์จากปราสาทถาปมาม แสดการยกแข้งยกขาตามแบบศิลปะจีน รวมทั้งการมีเคราก็แสดงอิทธิพลจีนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หน้าตาของสิงห์ตัวนี้ยังแสดงให้เห็นอิทธิพลศิลปะขอมแบบบายนที่เข้ามามีบทบาทในศิลปะบิญดิ่นด้วย อนึ่ง เนื่องด้วยการโจมตีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทำให้ประติมากรรมในระยะนี้มีอิทธิพลขอมเข้ามาปะปน
ประติมากรรมหน้าบัน สลักภาพเล่าเรื่องนรสิงห์
หน้าบันมีลักษณะยืดสูงเป็นทรงสามเหลี่ยม มีกรอบซุ้มเป็นซุ้มคดโค้ง กล่าวคือมีการทำกรอบโค้งเข้าโค้งออกอย่างสวยงาม ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปนาคหลายเศียรตามแบบหน้าบันในสมัยพระนครตอนปลาย ตรงกลางหน้าบันปรากฏภาพสลักเล่าเรื่องเป็นรูปนรสิงห์แหวกอกอสูร