ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 9 ถึง 16 จาก 73 รายการ, 10 หน้า
เจดีย์นันปยะ
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์นันปยะ

เจตียวิหารในระยะแรกสุดของศิลปะพุกาม เป็นอาคารทรงศิขระที่ยังคงมีการประดับกูฑุคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียเหนือ มีหน้าต่างบิดทึบจำนวนสามบานต่อด้านซึ่งตรงกับแนวความคิดของศิลปะพุกามตอนต้นที่ต้องการให้ภายในมืดทึบ ภายในอาคารปรากฏเสาสี่ต้นรองรับยอดศิขระ โดยรอบปรากฏภาพสลักพระพรหมซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ปรากฏเฉพาะที่นี่เท่านั้นจากรูปแบบของศิขระและลวดลายประดับที่ยังคล้ายคลึงศิลปะอินเดียอยู่มาก จากกำหนดอายุโบราณสถานแห่งนี้อยู่ในสมัยพุกามตอนต้น

เจดีย์ชเวซิกอง
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวซิกอง

เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนสามชั้น แต่ละชั้นประดับภาพชาดกและมีทางประทักษิณพร้อมบันไดขึ้นทุกด้าน ที่มุมประดับด้วยสถูปิกะ องค์ระฆังประดับด้วยรัดอกและบัวคอเสื้อตามแบบเจดีย์พม่าโดยทั่วไป ไม่มีบัลลังก์ ถัดขึ้นไปได้แก่ปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้นซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์แบบพม่าในศิลปะพุกาม เจดีย์แบบพม่าแท้องค์นี้ เป็นต้นค้าให้กับเจดีย์แบบพม่าแท้องค์อื่นๆในศิลปะพุกามและศิลปะพม่าในสมัยหลัง จากรูปแบบศิลปกรรมนั้นสอดรับกับประวัติศาสตร์ที่ว่าเจดีย์องค์นี้ควรสร้างขึ้นในสมัยพุกามตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 16

เจดีย์ชเวซานดอ
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวซานดอ

เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนถึง 5 ชั้น ซึ่งมีจำนวนฐานมากกว่าเจดีย์ชเวซิกอง แต่ละชั้นมีทางประทักษิณพร้อมบันไดขึ้นทุกด้าน องค์ระฆังมีขนาดค่อนข้างเล็กเนื่องจากตั้งอยู่บนฐานสูง ไม่มีบัลลังก์ ถัดขึ้นไปได้แก่ปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลี ด้วยเหตุที่ฐานที่มีจำนวนมากเกินไปและองค์ระฆังที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้เจดีย์แบบพม่าแท้องค์นี้ไม่ได้รับการพัฒนาต่อ แตกต่างไปจากเจดีย์ชเวซิกองที่มีความลงตัวทางด้านสัดส่วนมากกว่า และได้รับสืบทอดไปสู่ศิลปะในระยะหลัง

เจดีย์โลกานันท์
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์โลกานันท์

เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังแปดเหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนสามชั้น แต่ละชั้นประดับช่องที่ท้องไม้และมีทางประทักษิณพร้อมบันไดขึ้นทุกด้าน องค์ระฆังประดับด้วยรัดอกและบัวคอเสื้อตามแบบเจดีย์พม่าโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม การยืดสูงขององค์ระฆังทำให้สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเจดีย์องค์นี้อยู่ในกลุ่มอิทธิพลปยู เจดีย์ไม่มีบัลลังก์ มีปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้นซึ่งทั้งหมดนี้เป็นลักษณะร่วมกันของเจดีย์แบบพม่าแท้และเจดีย์กลุ่มอิทธิพลปยู เจดีย์แบบปยู ถือเป็นเจดีย์รุ่นเก่าที่สืบทอดมาตั้งแต่ก่อนรัชกาลพระเจ้าอโนรธาเรื่อยมาจนถึงรัชกาลดังกล่าว โยในรัชกาลนี้เจดีย์แบบปยูเริ่มใช้ฐานระบบพม่าแท้ตามอิทธิพลของเจดีย์ชเวซิกอง

เจดีย์อเพยาทนะ
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์อเพยาทนะ

เจดียวิหารสมัยพุกามตอนต้น ซึ่งนิยมเรือนธาตุทรงเตี้ยและมืดทึบ ด้วยเหตุนี้ หน้าต่างโดยรอบของเจดีย์จึงปิดทึบไปด้วยแผง รูปแบบหน้าต่างเองก็ประดับไปด้วยเคล็กสั้นๆ ตามแบบพุกามตอนต้น ด้านบนปรากฏหลังคาลาดซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์ในสมัยพุกามตอนต้น ด้านบนสุดปรากฏเจดีย์ยอดแบบปาละ ซึ่งประกอบด้วยบัลลังก์ในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม และปล้องไฉนที่ประดับไปด้วยเกล็ด เจดีย์อเพยทนะถือเป็นตัวอย่างสำคัญของเจตีวิหารหรือกู่ในศิลปะพุกามตอนต้น รัชกาลพระเจ้าจันสิตถาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

เจดีย์นาคยน
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์นาคยน

เจดียวิหารสมัยพุกามตอนต้น ซึ่งนิยมเรือนธาตุทรงเตี้ยและมืดทึบ ด้วยเหตุนี้ หน้าต่างโดยรอบของเจดีย์จึงปิดทึบไปด้วยแผง ด้านบนปรากฏหลังคาลาดซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์ในสมัยพุกามตอนต้น อย่างไรก็ตาม เจดีย์องค์นี้มีแนวโน้มไปสู่พุกามตอนปลายแล้ว เนื่องด้วยเคล็กที่ซุ้มมีขนาดค่อนข้างยืดสูง ด้านบนสุดเป็นศิขระแบบที่ปรากฏซุ้มเรียงกันที่เก็จประธาน ศิขระแบบนี้ปรากฏเสมอๆในรัชกาลพระเจ้าจันสิตถา ดังปรากฏเช่นกันที่อานันทเจดีย์

อานันทเจดีย์
พุกาม
สถาปัตยกรรมอานันทเจดีย์

อานันทเจดีย์ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของเจตียวิหารหรือกู่ในศิลปะพุกามตอนต้น รัชกาลพระเจ้าจันสิตถาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นเจดีย์ที่อยู่ในผังครรภคฤหะสี่ทิศ มณฑปสี่ทิศ ซึ่งทำให้แผนผังกายเป็นกากบาท ตรงกลางปรากฏแกนกลางทึบขนาดใหญ่รับน้ำหนักของยอดศิขระ แผนผังแบบนี้ปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ในศิลปะปาละ เช่นปหรรปุระและวิกรมศิลา ภายนอกปรากฏหลังคาลาดขนาดใหญ่ที่ประดับสถูปิกะขนาดเล็กทั้งสี่ทิศ หลังคาลาดนี้รองรับศิขระซึ่งประดับซุ้มที่เก็จประธาน โดยทั้งหมดนี้คล้ายคลึงกับหลังคาลาดและศิขระของเจดีย์นาคยน อย่างไรก็ตาม หน้าต่างที่ไม่มีแผงกั้นของอานันทเจดีย์ ย่อมทำให้แสงสามารถเข้าไปภายในอาคารได้มากกว่าเจดีย์ในระยะก่อนหน้า

ทางประทักษิณภายในอานันทเจดีย์
พุกาม
สถาปัตยกรรมทางประทักษิณภายในอานันทเจดีย์

ภายในอานันทเจดีย์ ปรากฏทางประทักษิณภายในซ้อนกันถึง 2 ชั้น ทางประทักษิณเหล่านี้วนล้อมรอบแกนกลางและครรภคฤหะ ที่ผนังของทางประทักษิณประดับภาพสลักพุทธประวัติจำนวนมาก เพื่อให้ผู้เดินประทักษิณได้เรียนรู้พุทธประวัติไปในตัว ด้านบนปรากฏหลังคาครึ่งวงโค้ง ซึ่งได้แก่หลังคาลาดเมื่อมองจากภายนอกนั่นเอง ทางประทักษิณภายในปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ศิลปะปาละ เช่นปหรรปุระและวิกรมศิลา