ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเจดีย์บูพยา
เจดีย์มีลักษณะเป็นทรงลอมฟาง ไม่มีฐาน อัณฑธยืดสูง ยอดมีลกัษณะเป็นทรงกรวยอย่างง่ายๆ ต่อขึ้นไปด้านบน ทั้งหมดนี้มีเค้าโครงคล้ายเจดีย์ในศิลปะศรีเกษตร เช่น เจดีย์ปยามาและเจดีย์โบโบจีเป็นอย่างมาก จึงแสดงให้เห็นว่าอาจสร้างขึ้นก่อนรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา
สถาปัตยกรรมหอพระไตรปิฎก
เป็นตัวอย่างอาคารทรงปราสาท (ปยาทาด) ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งศิลปะพม่า เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัสทึบ โดยมีหลังคาลาดซ้อนชั้นกันหลายชั้น ทรงค่อนข้างเตี้ย อาคารแบบนี้ต่อมาจะเป็นต้นเค้าให้กับปยาทาดที่ยืดสูงในศิลปะอมรปุระ-มัณฑเล แม้ว่าไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าอาคารหลังนี้สร้างขึ้นโดยพระเจ้าอโนรธาเพื่อเก็บพระไตรปิฎกจริงหรือไม่ แต่จากรูปแบบอาคารแสดงให้เห็นว่าสร่างขึ้นในสมัยพุกามตอนต้นอย่างแน่นอน
สถาปัตยกรรมมนูหะ
เป็นตัวอย่างอาคารประดิษฐานพระพุทธรูปหรือที่เรียกว่า “ปฏิมาฆระ” ในศิลปะพุกามตอนต้น มีการวางผังแบบพิเศษโดยให้ปฏิมาฆระจำนวน 4 หลังตั้งอยู่ติดกัน อันได้แก่ปฏิมาฆระของพระพุทธรูปนั่งจำนวนสามหลัง และพระพุทธรูปไสยาสน์จำนวนหนึ่งหลัง
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวซิกอง
เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนสามชั้น แต่ละชั้นประดับภาพชาดกและมีทางประทักษิณพร้อมบันไดขึ้นทุกด้าน ที่มุมประดับด้วยสถูปิกะ องค์ระฆังประดับด้วยรัดอกและบัวคอเสื้อตามแบบเจดีย์พม่าโดยทั่วไป ไม่มีบัลลังก์ ถัดขึ้นไปได้แก่ปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้นซึ่งถือเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์แบบพม่าในศิลปะพุกาม เจดีย์แบบพม่าแท้องค์นี้ เป็นต้นค้าให้กับเจดีย์แบบพม่าแท้องค์อื่นๆในศิลปะพุกามและศิลปะพม่าในสมัยหลัง จากรูปแบบศิลปกรรมนั้นสอดรับกับประวัติศาสตร์ที่ว่าเจดีย์องค์นี้ควรสร้างขึ้นในสมัยพุกามตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 16
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวซานดอ
เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนถึง 5 ชั้น ซึ่งมีจำนวนฐานมากกว่าเจดีย์ชเวซิกอง แต่ละชั้นมีทางประทักษิณพร้อมบันไดขึ้นทุกด้าน องค์ระฆังมีขนาดค่อนข้างเล็กเนื่องจากตั้งอยู่บนฐานสูง ไม่มีบัลลังก์ ถัดขึ้นไปได้แก่ปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลี ด้วยเหตุที่ฐานที่มีจำนวนมากเกินไปและองค์ระฆังที่มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้เจดีย์แบบพม่าแท้องค์นี้ไม่ได้รับการพัฒนาต่อ แตกต่างไปจากเจดีย์ชเวซิกองที่มีความลงตัวทางด้านสัดส่วนมากกว่า และได้รับสืบทอดไปสู่ศิลปะในระยะหลัง
สถาปัตยกรรมเจดีย์โลกานันท์
เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังแปดเหลี่ยมเพิ่มมุมจำนวนสามชั้น แต่ละชั้นประดับช่องที่ท้องไม้และมีทางประทักษิณพร้อมบันไดขึ้นทุกด้าน องค์ระฆังประดับด้วยรัดอกและบัวคอเสื้อตามแบบเจดีย์พม่าโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม การยืดสูงขององค์ระฆังทำให้สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเจดีย์องค์นี้อยู่ในกลุ่มอิทธิพลปยู เจดีย์ไม่มีบัลลังก์ มีปล้องไฉนทรงกรวยเตี้ย ปัทมบาทและปลีสั้นซึ่งทั้งหมดนี้เป็นลักษณะร่วมกันของเจดีย์แบบพม่าแท้และเจดีย์กลุ่มอิทธิพลปยู เจดีย์แบบปยู ถือเป็นเจดีย์รุ่นเก่าที่สืบทอดมาตั้งแต่ก่อนรัชกาลพระเจ้าอโนรธาเรื่อยมาจนถึงรัชกาลดังกล่าว โยในรัชกาลนี้เจดีย์แบบปยูเริ่มใช้ฐานระบบพม่าแท้ตามอิทธิพลของเจดีย์ชเวซิกอง
จิตรกรรมพระโพธิสัตว์เจดีย์ปยาตองสู
พระโพธิสัตว์ที่เจดีย์ปยาตองสู ทรงเครื่องทรงที่คล้ายคลึงกับศิลปะปาละอย่างมาก เช่น มงกุฎสามตาบ ผ้านุ่งที่เป็นริ้ว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พระโพธิสัตว์แสดงอาการจีบนิ้วและถือ “ช่อกนก” อันแตกต่างไปจากพระโพธิสัตว์ในศิลปะพุกามตอนต้นที่ยังคงถือดอกไม้จามแบบศิลปะปาละ
ประติมากรรมพระพุทธรูปประทับยืนที่ชเวซิกอง
พระพุทธรูปลักษณะตามอย่างพระพุทธรูปประทับยืนในศิลปะพุกามโดยทั่วไป กล่าวคือ ครองจีวรห่มคลุม เรียบไม่มีริ้ว มีชายจีวรตงลงมาจากพระหัตถ์ทั้งสองข้างแตกเป็นเขี้ยวตะขาบตามแบบปาละตอนปลาย พระหัตถ์ทั้งสองแสดงปางประทานอภัยในพระหัตถ์ขวาและจับชายจีวรในแนวลงในพระหัตถ์ซ้าย อันเป็นระบบอินเดียเหนือที่พระหัตถ์ทั้งสองมักมีแนวพระหัตถ์ตรงกันข้ามกัน