ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมพระพุทธมหาจักรพรรดิ
พระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ แสดงปางมารวิชัย พระวรกายเพรียว พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็ก พระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยจนเกือบเป็นเส้นตรง พระพักตร์คล้ายหุ่น อันเป็นรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปในรัชกาลที่ 3 ทรงเครื่องประดับต่างๆ ได้แก่ พระมหามงกุฎ กรองศอ สังวาล พาหุรัด ทองพระกร ทองพระบาท
ประติมากรรมพระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากร
พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมากรมีรูปแบบเฉพาะของพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 อย่างแท้จริง กล่าวคือ พระวรกายเพรียวบาง พระพักตร์ค่อนข้างกลมกึ่งรูปไข่ ขมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระขนงโก่ง พระเนตรเรียวเล็ก พระโอษฐ์อ่อนโค้งเล็กน้อยจนเกือบเป็นเส้นตรง พระพักตร์คล้ายหุ่น ขมวดพระเกศาเป็นเม็ดเล็ก มีอุษณีษะรองรับพระรัศมีเปลว ประทับนั่งขัดสมาธิราบแสดงปางมารวิชัย นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน ครองจีวรห่มเฉียงเรียบไม่มีริ้ว
ประติมากรรมพระพุทธมหาชนก
พระพุทธรูปประทับนั่งบนฐานชุกชี แสดงปางมารวิชัย ทรงครองจีวรลายดอกห่มเฉียง ประดับด้วยเครื่องทรงอื่นๆจำนวนมาก ได้แก่ มงกุฎยอดชัยหรือยอดแหลมซึ่งมีรูปแบบคล้ายเป็นการจำลองพระมหาพิชัยมงกุฎ โดยประกอบด้วยรัดเกล้า 3 ชั้นประดับดอกไม้ไหว และมีกรรเจียกจร ทรงสวมกรองศอ ทับทรวง พาหุรัด ธำมรงค์ ทองพระกร ทองพระบาท พระพักตร์สงบนิ่ง พระเนตรเหลือบต่ำ พระขนงโค้ง พระโอษฐ์แย้มเล็กน้อยซึ่งเป็นรูปแบบพระพักตร์ของพระพุทธรูปในสมัยรัตนโกสินทร์
ประติมากรรมพระพุทธรูปคันธารราฐ
พระพุทธรูปเลียนแบบศิลปะอินเดียแบบคันธารราฐ ประทับยืนปางขอฝนพระพักตร์แหงนเงยขึ้นเบื้องบน พระหัตถ์ขวายกในกิริยากวัก พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝนตรงบั้นพระองค์พระพักตร์มีรูปแบบคล้ายเทพเจ้ากรีก-โรมัน เกล้าพระเกศาเป็นมุ่นโมลี ไม่มีพระรัศมี พระวรกายแสดงกล้ามเนื้ออย่างมนุษย์ ครองจีวรห่มเฉียงเป็นริ้วหนา มีรอยยับอย่างเป็นธรรมชาติ ประทับยืนบนดอกบัว เหนือบันไดขั้นบนสุดของขอบสระโบกขรณี ใกล้กันมีราวบันไดซึ่งมีเสาและพนัก ประดับตกแต่งรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผม และรูปมนุษย์นาคซึ่งมีความหมายถึงน้ำ และความอุดสมบูรณ์
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางสมาธิ
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบแบบแปลกๆ พระหัตถ์ทำปางสมาธิ ใช้ประดับศาสนสถานดังนั้นด้านหลังจึงตัดเรียบพระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำแสดงความสงบ พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่น ยอดสุดเป็นพระรัศมีแบบลูกแก้วพระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว บางแนบพระวรกาย แลเห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรหรือชายสังฆาฏิซ้อนทบกันพาดผ่านเหนือพระอังสาซ้ายพระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระเพลาสลักให้เห็นเป็นมุมมองจากด้านบนจนแลดูคล้ายกำลังนั่งแบบตั้งพระชานุ ถือเป็นมุมมองที่แปลก มีชายจีวรพาดผ่านตรงกลางผิดทับข้อพระบาท เมื่อมองจากทางด้านข้างจะพบว่าพระเพลาอยู่ในแนวเดียวกันกับพระอุระและพระอุทร ไม่ได้ยื่นพ้นออกมาทางด้านหน้า ทำให้พระเพลามีกายวิภาคผิดไปจากความเป็นจริง
ประติมากรรมพระพุทธรูปนาคปรก
พระพุทธรูปองค์นี้เป็นประติมากรรมนูนสูงปางนาคปรก พระพุทธองค์นั่งขัดสมาธิราบแบบหลวม พระหัตถ์ทำปางสมาธิ มีเพียงฐานหน้ากระดานเรียบๆรองรับพระพุทธองค์ไม่ใช่ขนดนาค พระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง เรียบ บางแนบเนื้อ มีแนวชายจีวรพาดผ่านพระอังสาซ้ายยาวต่อเนื่องจนถึงข้อพระกรซ้าย แผ่นเบื้องหลังสลักนาค 7 เศียรปกอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า ใบหน้าละม้ายคล้ายลิงอันเป็นลักษณะเด่นของนาคแบบทวารวดี สองข้างของพระพุทธรูปสลักรูปเจดีย์ทรงกลมข้างละ 1 องค์
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางสมาธิ
พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมบฯฐานบัว พระหัตถ์ทำปางสมาธิ ด้านหลังมีแผ่นหลังทรงโค้งรองรับไว้เค้าพระพักตร์แตกต่างไปจากพระพุทธรูปที่พบจากภาคกลางทั่วไป พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อ พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกและพระโอษฐ์สมส่วน พระหนุ (คาง) เหลี่ยม พระเกศาขมวดเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนเพียงเล็กน้อยพระพุทธรูปครองจีวรห่มเฉียง ไม่มีริ้ว บางแนบพระวรกาย แลเห็นขอบสบงบริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน พระหัตถ์ทำปางสมาธิ พระเพลาสลักให้เห็นเป็นมุมมองจากด้านบน สังเกตได้จากการแบฝ่าพระบาทออกทางด้านหน้าและแลเห็นพระชงฆ์จากมุมมองด้านบน พระบาททั้งสองซ้อนทับกัน นิยมเรียกว่าขัดสมาธิราบแบบหลวม แผ่นเบื้องหลังสลักต้นพระศรีมหาโพธิ์อยู่เบื้องหลังพระเศียร สองข้างเป็นรูปสถูปทรงหม้อที่มีฉัตรซ้อนชั้นปักเป็นส่วนยอด อนึ่ง เมื่อมองจากทางด้านข้างจะพบว่าพระเพลาอยู่ในแนวเดียวกันกับพระอุระและพระอุทร ไม่ได้ยื่นพ้นออกมาทางด้านหน้า ทำให้กายวิภาคผิดไปจากความเป็นจริง ปัญหาดังกล่าวนี้อาจเกิดจากความหนาของหินไม่เพียงพอ หรืออาจเป็นความตั้งใจของช่างที่เห็นว่ารูปแบบเช่นนี้เหมาะสมดีแล้ว
ประติมากรรมพระพุทธรูปปางแสดงธรรม
พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในอิริยาบถยืนตรงบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย สลักขึ้นจากหินก้อนเดียวซึ่งเป็นกรรมวิธีการทำพระพุทธรูปหินที่มีขนาดไม่ใหญ่มากในศิลปะทวารวดี พระพักตร์เหลี่ยม พระขนงต่อกันเป็นปีกกา พระเนตรเบิกโพรง พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์แบะ พระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเวียนเป็นวงก้นหอย พระอุษณีษะนูนสูงเด่น เดิมทีน่าจะเคยมีพระรัศมีที่ทำจากอัญมณีมีค่าแต่ได้สูญหายไปแล้วพระพุทธรูปครองจีวรห่มคลุม ไม่มีริ้ว บางแนบเนื้อราวผ้าเปียกน้ำจนเห็นพระพุทธสรีระและขอบสบงที่บริเวณบั้นพระองค์ชัดเจน ชายจีวรด้านหน้ายกสูงพาดผ่านพระชงฆ์เป็นรูปวงโค้ง ชายจีวรด้านหลังยาวเป็นกรอบสี่เหลี่ยม เห็นชายสบงอยู่ตรงกลางระหว่างจีวรด้านหน้ากับด้านหลัง พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นสูงระดับพระอุระ แสดงปางประทานธรรมหรือวิตรรกมุทราแบบงอนิ้วพระหัตถ์ (บางท่านเรียกว่า อาหูยมุทรา) หากมองจากด้านข้างจะพบว่าพระกรช่วงล่างตั้งแต่พระกโปตะ (ศอก) จนถึงพระหัตถ์สั้นผิดส่วนและแนบชิดพระพาหา (ต้นแขน) โดยมีชิ้นหินที่ไม่ได้สกัดออกยึดตรึงระหว่างกัน รทำเช่นนี้คงเกิดขึ้นจากหินที่นำมาใช้มีความหนาไม่เพียงพอที่จะสลักช่วงพระกรให้ยาวออกไป และต้องการให้พระกรคงทนไม่หักง่ายจึงต้องยึดตรึงกับพระพาหาพระบาททั้งสองรองรับด้วยฐานสลักกลีบบัวคำว่ากลีบบัวหงาย ไม่สกัดหินบริเวณข้อพระบาทออก เป็นกรรมวิธีรับน้ำหนักที่พบได้ในประติมากรรมศิลปะทวารวดีอันมีต้นแบบอยู่ในศิลปะคุปตะของอินเดีย