ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน
จิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างเป็นงานจิตรกรรมดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ตั้งแต่อัญเชิญเสด็จจากลพบุรีสู่เมืองหริภุญชัยไปจนถึงการเสด็จสู่กรุงรัตนโกสินทร์และการสมโภช มีการผสมผสานระหว่างเทคนิคการเขียนแบบไทยประเพณีดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคการเขียนจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เพิ่งจะเข้ามาในสมัยนั้น ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสมจริงมากขึ้นกว่างานแบบไทยประเพณีดั้งเดิม จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเล่าประวัติของพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 โดยมีการแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบริบทสังคมในสมัยนั้นๆ ลงไปในฉาก เป็นงานที่ผสมผสานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและทัศนียวิทยาแบบตะวันตก มีการแสดงรูปบุคคล เครื่องแต่งกาย พาหนะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีตรงตามยุคสมัยในฉากนั้นๆเพื่อให้เกิดความสมจริง
สถาปัตยกรรมพระพุทธรัตนสถาน
พระพุทธรัตนสถานเป็นอาคารแบบไทยประเพณีในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียวยกพื้นสูงตั้งบนฐานไพที ฐานประทักษิณ และฐานบัว ผนังด้านนอกเป็นหินอ่อน ด้านหน้ามีมุขลด รอบอาคารมีเสาพาไล ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดมงกุฎ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันมีเครื่องลำยอง หน้าบันมุขลดเป็นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพาน 2 ชั้น ขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้นซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 หน้าบันหลักทั้งหน้าและหลังเป็นรูปครุฑยุดนาคซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 2 มีรูปพระวิมานและพระมหามงกุฎประดับอยู่เบื้องล่างซ้ายและขวา มีอาคารประกอบเป็นศาลาโถง 2 หลังซ้ายขวา ด้านหน้ามีหอระฆัง และเสาประทีป 4 ต้น