ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมภาพเล่าเรื่องพระกฤษณะที่จันทิปรัมบะนัน
รูปแบบภาพล่าเรื่องที่จันทิปรัมบะนันมีพัฒนาการแล้วจากภาพเล่าเรื่องที่บุโรพุทโธ กล่าวคือ นิยมการถมพื้นที่ว่างจนเต็มไปด้วยลวดลายธรรมชาติ เช่น ภาพภูเขาและต้นไม้ ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้เรียกโดยศาสตราจารย์หม่อมเจ้าสุภัทรดิศว่า “การรังเกียจพื้นที่ว่างเปล่า” ซึ่งแสดงแนวโน้มที่ใกล้เคียงกับศิลปะชวาภาคตะวันออกเข้าไปทุกที แม้ว่าลักษณะบางประการจะใกล้เคียงกับศิลปะชวาภาคตะวันออก แต่ภาพบุคคลยังคงกลมกลึงมีปริมาตร และหลายครั้งยังคงหันหน้าตรงตามแบบภาพเล่าเรื่องในศิลปะอินเดีย
ประติมากรรมทับหลัง สลักภาพเล่าเรื่องพระกฤษณะปราบพระยากงส์
ทับหลังในสมัยบันทายศรีจะมีลักษณะรับอิทธิพลมาจากศิลปะเกาะแกร์ มาผสมผสานกับศิลปะพระโค กล่าวคือการทำภาพเล่าเรืองอยู่กึ่งกลางทับหลังกดทับท่อนพวงมาลัยให้โค้งลงมาอยู่ด้านล่างของทับหลัง ท่อนพวงมาลัยมีการทำลายใบไม้ตั้งขึ้น และใบไม้ห้อยลงตามอีกทั้งยังปรากฏการทำพวงอุบะแทรกอยู่ในส่วนของใบไม้ห้อยลงตามแบบศิลปะพระโค ลักษณะเด่นของทับหลังในสมัยนี้ก็คือการประดับบริเวณเสี้ยว (เศษ 1 ส่วน 4) ของท่อนพวงมาลัยด้วยรูป “ใบหน้าสัตว์ขบท่อนพวงมาลัย” ซึ่งต่อไปจะเป็นต้นแบบของเสี้ยวพวงอุบะในศิลปะบาปวน ตรงกลางของทับหลัง ปรากฏภาพเล่าเรื่องพระกฤษณะปราบพระยากงส์
ประติมากรรมหน้าบัน สลักภาพเล่าเรื่องตอนกฤษณะปราบพระยากงส์
หน้าบันมีลักษณะยืดสูงเป็นทรงสามเหลี่ยม มีกรอบซุ้มเป็นซุ้มคดโค้ง กล่าวคือมีการทำกรอบโค้งเข้าโค้งออกอย่างสวยงาม ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปนาคหลายเศียรตามแบบหน้าบันในสมัยพระนครตอนปลาย ตรงกลางหน้าบันปรากฏภาพสลักเล่าเรื่องเป็นรูปพระกฤษณะปราบพระยากงส์