ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทหัวล่าย
ปราสาทมีเสาติดผนังสี่ต้นตามระบบศิลปะจามระยะต้น กึ่งกลางเสามีแถบลายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสมัยหัวล่าย ที่ฐานปราสาทประดับด้วยปราสาทจำลองซึ่งคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและศิลปะขอมก่อนเมืองพระนคร ส่วนด้านบนของปราสาทนั้นเป็นเรือนธาตุจำลองซ้อนกันตามระบบวิมานอินเดียใต้
สถาปัตยกรรมซุ้มของปราสาทหัวล่าย
ซุ้มของปราสาทหัวล่าย เป็นซุ้มรูปพิณฝรั่งคว่ำ ครอบคลุมด้วยลายขนมจีนจนเต็ม มีลายขมวดเข้าพร้อมขมวดออก ไม่มีรูปสัตว์ใดๆ แทรกอยู่ในซุ้ม ทั้งหมดนี้แสดง “ความเป็นพื้นเมือง” ของซุ้มในสมัยหัวล่ายที่แตกต่างไปจากกูฑุแบบอินเดียในศิลปะมิเซิน E1 แล้ว
สถาปัตยกรรมเสาติดผนังของปราสาทหัวล่าย
ปราสาทมีเสาติดผนังสี่ต้นตามระบบศิลปะจามระยะต้น กึ่งกลางเสามีแถบลายซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะสมัยหัวล่าย ซึ่งคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียที่มีมาก่อน ที่บัวหัวเสาปรากฏครุฑยุดนาคซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเดนสำหรับปราสาทแห่งนี้ ครุฑมีจะงอยปากนกแล้วอันแตกต่างไปจากครุฑหน้าคนแบบอินเดีย
สถาปัตยกรรมปราสาทหลังเหนือของปราสาทหัวล่าย
ปราสาทหลังเหนือของปราสาทหัวล่าย แม้ว่ายังสลักลวดลายประดับเสาไม่เสร็จ แต่ลักษณะที่โดเด่นก็คือปราสาทจำลองซึ่งประดับที่โคนเสาติดผนังแต่ละต้น เนื่องจากปราสาทจำลองเหล่านี้ปรากฏทั้งเรือนธาตุและชั้นหลังคาแบบวิมานอย่างซับซ้อน และถือเป็นปราสาทจำลองที่ซับซ้อนที่สุดในศิลปะจาม จากรูปแบบของปราสาทจำลองซึ่งยังคล้ายคลึงกับศิลปะอินเดียและศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร ทำให้กำหนดอายุได้ว่าปราสาทหลังนี้อยู่ในระยะแรกของศิลปะจาม