ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมเจดีย์หลวง
เจดีย์หลวงเป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยปูนปั้น และหุ้มด้วยจังโกรูปแบบประกอบด้วยฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ส่วนบนของฐานทักษิณประดับด้วยช้างล้อม มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน แต่บันไดเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนขั้นบันไดให้เป็นทางลาดเมื่อภายหลัง ถัดขึ้นไปเป็นองค์เจดีย์ในผังเพิ่มมุมไม้ยี่สิบ ด้านทั้งสี่มีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปประดับอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดซึ่งประกอบด้วยแนวชั้นหลังคาลาด แต่องค์ระฆังและส่วนเหนือขึ้นไปพังทลายลงมานานแล้ว
ประติมากรรมซุ้มกาลมกร
เนื่องด้วยอิทธิพลแบบอินเดียชวาได้เข้ามามีบทบาทอีกครั้งหนึ่งในศิลปะมิเซิน A1 ด้วยเหตุนี้ ลวดลายหน้ากาล-มกรซึ่งนิยมใช้ประดับซุ้มกูฑุในศิลปะชวาจึงได้เข้ามามีบทบาทใหม่หลังจากที่ได้เสื่อมความนิยมไปแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ซุ้มกาลมกรในศิลปะมิเซิน A1 กลับมีลักษรเฉพาะตัว คือ มกรมักโผล่ออกมาจากด้านข้างหูของหน้ากาล นอกจากนี้ยังคายเลียงผาออกมาทั้งสองข้าง
ประติมากรรมหน้ากาลแบบชวาภาคตะวันออก
หน้ากาลในศิลปะชวาภาคตะวันออกมีความดุร้ายกว่าหน้ากาลชวาภาคกลางมาก มีตาถลนโปน ปากมีเขี้ยวทั้งปากบนและปากล่าง มีเขาและมีกะโหลก รวมถึงมีมือทั้งสองที่ยกขึ้นแสดงท่าขู่ “ดรรชนีมุทรา” อนึ่ง การที่หน้ากาลมีทั้งริมฝีปากบนและริมฝีปากล่างนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า คติแบบอินเดียที่หน้ากาลไม่มีปากล่างได้สูญหายไปแล้ว
ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลัง เป็นชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่พบในศิลปะเขมร โดยจะติดตั้งอยู่บนกรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังในพระโคเริ่มปรากฏหน้ากาลตามอทธิพลชวา อย่างไรก็ตาม ลักษณะเด่นของทับหลังชิ้นนี้ก็คือการประดับบริเวณเสี้ยว (เศษ 1 ส่วน 4) ของท่อนพวงมาลัยด้วยรูป “ใบหน้าสัตว์ขบท่อนพวงมาลัย” ซึ่งต่อไปจะเป็นต้นแบบของเสี้ยวพวงอุบะในศิลปะบันทายสรีและบาปวน
ประติมากรรมลายประดับ รูปหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย
ปรากฏหน้ากาลในตำแหน่งด้านบนของเรือนธาตุ หน้ากาลไม่ปรากฏปากล่าง คายท่อนพวงมาลัยที่มีลักษณะเป็นใบไม้ตกลง ภายในปรากฏการแทรกประติมากรรมบุคคลในลักษณะของการยืนหรือเต้นอยู่
ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลัง เป็นชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่พบในศิลปะเขมร โดยจะติดตั้งอยู่บนกรอบประตูทางเข้าเสมอทับหลังในสมัยพระโคจะมีลักษณะรับอิทธิพลมาจากศิลปะกุเลน ผ่านศิลปะชวา กล่าวคือการทำหน้ากาลอยู่กึ่งกลางด้านบนของท่อนพวงมาลัย ปลายทั้งสองข้างทำเป็นมกรหันหน้าออก ตามแบบซุ้มกาล-มกรตามศิลปะชวาภาคกลางแต่อย่างไรก็ตามในศิลปะพระโคสามารถทำเป็นประติมากรรมอื่นๆหันออกแทน ดังเช่นในภาพเป็นคชสิงห์ยืนอยู่บนแท่นท่อนพวงมาลัยมีการทำลายใบไม้ตั้งขึ้น ห้อยลงตามแบบศิลปะกุเลนลายดอกไม้กลมได้ปรับเปลี่ยนเป็นการแทรกภาพบุคคลอยู่ระหว่างท่อนพวงมาลัยรวมถึงภาพบุคคลที่แทรกอยู่ในส่วนของใบไม้ตกลงใต้ท่อนพวงมาลัยระหว่างช่องใบไม้ตกลงปรากฏการทำใบไม้สามเหลี่ยมแทรกอยู่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาต่อไปในศิลปะเกาะแกร์ด้านล่างของแผ่นทับหลังปรากฏการทำแถวดอกบัวซึ่งต่อมาจะเป็นรูปแบบที่ส่งให้กับทับหลังในสมัยศิลปะแปรรูป
ประติมากรรมลายหน้ากาลคายพวงมาลัย-พวงอุบะ
ที่ด้านบนของเรือนธาตุเจตียวิหารในศิลปะพุกาม ย่อมประดับด้วยลายหน้ากาลคายพวงมาลัย-พวงอุบะเสมอ ลวดลายดังกล่าวปรากฏมาก่อนในศิลปะปาละก่อนที่จะได้รับความนิยมอย่างมากในศิลปะพุกาม ลวดลายดังกล่าวยังแสดงให้เห็นความปรารถนาที่จะให้เรือนธาตุได้รับการตกแต่งด้วยดอกไม้สดเสมอ
ประติมากรรมลายกาบล่างประดับหน้ากาล
ที่ด้านล่างของเสาติดผนังที่ประดับเรือนธาตุเจตียวิหารในศิลปะพุกามตอนปลาย ย่อมประดับลาย “กาบล่าง” เสมอ อันเป็นส่วนหนึ่งของลายประดับเสาติดผนังจำนวนสามจุด คือ “กาบบน-ประจำยามอก-กาบล่าง” โดยลายทั้งหมดอยู่ในกรอบรูปสามเหลี่ยมและมีลายพันธุ์พฤกษาหรือลายกนกบรรจุอยู่เต็ม บางครั้งก็มีลายหน้ากาลคายพันธุ์พฤกษาด้วย