ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระศรีรัตนเจดีย์
พระศรีรัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังในผังกลม มีมุขหรือช่องคูหายื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ ที่สันหลังคาประดับเจดีย์ทรงระฆังจำลองขนาดเล็ก ส่วนองค์เจดีย์รองรับด้วยฐานบัวคว่ำ-บัวหงาย ชุดมาลัยเถา บัวปากระฆัง องค์ระฆัง บัลลังก์ในผังสี่เหลี่ยม ส่วนยอดประกอบด้วยแกนปล้องไฉนที่มีเสาหารล้อมรอบ ปล้องไฉน ปลียอดและเม็ดน้ำค้าง องค์เจดีย์ประดับกระเบื้องโมเสกสีทอง ช่องคูหาทั้ง 4 ทิศมีบานประตูเปิดปิดเพื่อเข้าไปภายในองค์เจดีย์ได้ ภายในองค์เจดีย์มีลักษณะเป็นโถงผนังโค้ง ภายในประดิษฐานพระเจดีย์กะไหล่ทองซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
สถาปัตยกรรมพระมหามณฑป
เป็นอาคารในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีเสาพาไลเพิ่มมุมที่ประดับบัวหัวเสาอยู่โดยรอบอาคาร ตัวอาคารและเสาปิดทองประดับกระจก เครื่องหลังคามีลักษณะเป็นเรือนซ้อนชั้นยอดแหลมในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมแสดงความเป็นเรือนฐานันดรสูง ประกอบด้วยชั้นหลังคาลาดที่มีหน้าจั่วขนาดเล็กซ้อนกัน ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์ เหม บัวคลุ่มเถาและปลียอด ประดับกระดิ่งทองเหลืองที่ชายคารอบอาคาร
สถาปัตยกรรมหมู่พระมหามณเฑียร
หมู่พระมหามณเฑียรเป็นอาคารทรงไทยประเพณีล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในหมู่อาคารประกอบด้วยพระที่นั่งที่สำคัญ 3 องค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่ 1. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน 2.พระที่นั่งไพศาลทักษิณ 3.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานพระที่นั่งทุกองค์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวสลับส้มและเหลืองกรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง ที่หน้าบันประดับรูปเทวดาถือพระขรรค์ซุ้มพระทวารและพระบัญชรเป็นซุ้มทรงบรรพแถลง ภายในพระที่นั่งแต่ละองค์เป็นห้องโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีทางเชื่อมระหว่างกัน มีเสาในประธานทรงสี่เหลี่ยมรองรับน้ำหนักภายในพระที่นั่งแต่ละองค์ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังมีทั้งที่เป็นภาพปรัมปราคติที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในราชสำนัก และภาพลวดลายประดับต่างๆ
สถาปัตยกรรมพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม
พระวิหารหลวงมีแผนผังรูปสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่บนฐานไพทีสูง ด้านหน้าหันทางทิศเหนือ ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องสีส้มสลับเขียวซ้อนชั้น กรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง มีเสาพาไลย่อมุมรองรับเครื่องหลังคาโดยรอบพระวิหาร เสาพาไลประดับบัวหัวเสาปิดทองประดับกระจกและมีคันทวย หน้าบันเครื่องไม้ปิดทองประดับกระจกรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านหน้าพระวิหารหลวงทางทิศเหนือมีมุขลด เครื่องหลังคาซ้อนชั้น ที่หน้าบันประดับรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ
สถาปัตยกรรมพระปรางค์ วัดอรุณราชวราราม
รูปแบบพระปรางค์วัดอรุณมีลักษณะที่พัฒนามาจากพระปรางค์ในศิลปะอยุธยา ส่วนฐานมีลักษณะผายกว้าง ประกอบด้วยชั้นซ้อนลดหลั่น แต่ละชั้นประดับด้วยประติมากรรมพลแบก ฐานลดหลั่นนี้ได้เอนสอบขึ้นไปรองรับเรือนธาตุซึ่งมีจระนำทั้งสี่ด้าน ประดิษฐานรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณแทนการประดิษฐานพระพุทธรูปที่เป็นแบบแผนดั้งเดิม ซึ่งการประดับรูปพระอินทร์ที่เรือนธาตุนี้นักวิชาการบางท่านเสนอว่าเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าพระปรางค์มีความเกี่ยวข้องกับเจดีย์จุฬามณีหรืออาจสะท้อนให้เห็นว่าองค์พระปรางค์หมายถึงเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางจักรวาลส่วนยอดของพระปรางค์ประกอบด้วยกลีบขนุนซ้อนชั้น ที่ส่วนบนของจระนำทั้งสี่ด้านประดับด้วยยอดปรางค์ขนาดเล็ก เมื่อนับรวมยอดทั้งหมดจึงเป็น 5 ยอดซึ่งการประดับยอดบริวารเช่นนี้เป็นรูปแบบที่เคยมีมาก่อนในศิลปะอยุธยา
สถาปัตยกรรมโลหะปราสาท
โลหะปราสาทเป็นอาคารทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนสูง 3 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับส่วนยอดด้วยโลหะ มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ยอดภายในโลหะปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด เดิมมีแกนกลางหลักเป็นซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาท โดยเจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ต่อมาเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์จึงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก
สถาปัตยกรรมพระอุโบสถ วัดราชโอรสาราม
พระอุโบสถเป็นอาคารขนาดใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีเสาพาไลสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ไม่ประดับบัวหัวเสารองรับน้ำหนักซึ่งทำให้อาคารดูมั่นคงแข็งแรง เครื่องหลังคาไม่ใช้เครื่องไม้ แต่เป็นงานก่ออิฐถือปูน หน้าบันไม่ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่ประดับลวดลายอย่างจีน โดยเป็นลายสัญลักษณ์แห่งความเป็นมงคลและลายทิวทัศน์ กรอบหน้าบันประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเป็นเครื่องถ้วยจีน หน้าบันแบ่งเป็น 2 ตับ ตับบนประดับรูปแจกันและช่อดอกไม้ขนาดใหญ่ที่กึ่งกลาง ขนาบข้างด้วยมังกรคู่ ถัดขึ้นไปเป็นหงส์คู่ และลายมงคลอื่นๆ ตับล่างเป็นภาพทิวทัศน์ มีบ้าน ภูเขา เขามอ ต้นไม้และสัตว์ต่างๆ
สถาปัตยกรรมพระบรมบรรพต
รูปแบบของบรมบรรพตหรือภูเขาทองที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นเจดีย์ทรงระฆังสีทอง ตั้งอยู่บนเนินดินสูงก่อแนวกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ มีบันไดทางขึ้น 2 ทางไปสู่อาคารโถง ซึ่งมีบันไดขึ้นไปยังลานประทักษิณรอบองค์พระเจดีย์ที่อยู่ด้านบนสุด องค์เจดีย์เป็นทรงระฆังศิลปะรัตนโกสินทร์แบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกับเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะอยุธยาที่มีส่วนรองรับองค์ระฆังเป็นชุดมาลัยเถา