ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 289 ถึง 296 จาก 880 รายการ, 110 หน้า
พระสยามเทวาธิราช
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสยามเทวาธิราช

รูปแบบของพระสยามเทวาธิราชเป็นประติมากรรม ทรงเครื่องต้นอย่างพระจักรพรรดิ ได้แก่ พระมหามงกุฎยอดแหลม มีกรรเจียกจร ทรงสังวาล ทับทรวง พาหุรัด ทองพระกร ทรงสนับเพลาประดับชายไหวชายแครง ทรงฉลองพระบาทเชิงงอน ประทับยืน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ในระดับพระโสณี พระหัตถ์ซ้ายจีบนิ้วพระหัตถ์ในระดับพระอุระ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิมานไม้จันทน์แบบเก๋งจีน มีคำจารึกภาษาจีน แปลได้ว่า “สถิตแห่งพระสยามเทวาธิราช”เบื้องหน้าพระวิมานทองสามมุข รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชและตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายเครื่องสังเวยพระสยามเทวาธิราชเป็นประจำ

จิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังที่พระพุทธรัตนสถาน

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระพุทธรัตนสถานแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ผนังเหนือช่องประตูและหน้าต่างเป็นงานจิตรกรรมดั้งเดิมสมัยรัชกาลที่ 4 เขียนเรื่องประวัติพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ตั้งแต่อัญเชิญเสด็จจากลพบุรีสู่เมืองหริภุญชัยไปจนถึงการเสด็จสู่กรุงรัตนโกสินทร์และการสมโภช มีการผสมผสานระหว่างเทคนิคการเขียนแบบไทยประเพณีดั้งเดิมเข้ากับเทคนิคการเขียนจิตรกรรมแบบตะวันตกที่เพิ่งจะเข้ามาในสมัยนั้น ทำให้ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีความสมจริงมากขึ้นกว่างานแบบไทยประเพณีดั้งเดิม จิตรกรรมฝาผนังระหว่างช่องหน้าต่างเล่าประวัติของพระพุทธรัตนสถานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 โดยมีการแทรกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือบริบทสังคมในสมัยนั้นๆ ลงไปในฉาก เป็นงานที่ผสมผสานจิตรกรรมแบบไทยประเพณีและทัศนียวิทยาแบบตะวันตก มีการแสดงรูปบุคคล เครื่องแต่งกาย พาหนะ สถาปัตยกรรม วัฒนธรรมประเพณีตรงตามยุคสมัยในฉากนั้นๆเพื่อให้เกิดความสมจริง

พระพุทธรัตนสถาน
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระพุทธรัตนสถาน

พระพุทธรัตนสถานเป็นอาคารแบบไทยประเพณีในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าชั้นเดียวยกพื้นสูงตั้งบนฐานไพที ฐานประทักษิณ และฐานบัว ผนังด้านนอกเป็นหินอ่อน ด้านหน้ามีมุขลด รอบอาคารมีเสาพาไล ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มยอดมงกุฎ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง หน้าบันมีเครื่องลำยอง หน้าบันมุขลดเป็นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพาน 2 ชั้น ขนาบด้วยฉัตร 5 ชั้นซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 4 หน้าบันหลักทั้งหน้าและหลังเป็นรูปครุฑยุดนาคซึ่งเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 2 มีรูปพระวิมานและพระมหามงกุฎประดับอยู่เบื้องล่างซ้ายและขวา มีอาคารประกอบเป็นศาลาโถง 2 หลังซ้ายขวา ด้านหน้ามีหอระฆัง และเสาประทีป 4 ต้น

พระสัมพุทธพรรณี
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมพระสัมพุทธพรรณี

พระสัมพุทธพรรณีเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิราบ ปางสมาธิ พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็ก รัศมีเป็นเปลว ไม่มีพระเกตุมาลา พระขนงโก่ง มีพระอุณาโลมอยู่ระหว่างพระขนง พระเนตรเหลือบต่ำ ครองจีวรห่มเฉียงมีริ้วตามริ้วผ้าธรรมชาติ ชายสังฆาฏิใหญ่ปลายตัดตรงยาวถึงพระนาภี ประทับนั่งบนฐานหน้ากระดานเกลี้ยงเหนือขาสิงห์ตกแต่งด้วยพรรณพฤกษาและลายเครือเถาแบบฝรั่ง ผ้าทิพย์ทำเป็นรูปม่านแหวกออก มีคำจารึกอักษรมอญภาษาบาลีด้านหน้ากล่าวถึงพระนามของพระพุทธรูปองค์นี้พระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปองค์แรกที่ไม่ทำอุษณีษะและเริ่มมีริ้วจีวรยับย่นอย่างสมจริง ซึ่งแนวความคิดในการสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้มีการอธิบาย 3 แนวทาง คือ 1. เพื่อให้มีลักษณะถูกต้องตามพุทธลักษณะที่ปรากฏในอรรถกถาบาลี2. เพื่อให้พระพุทธรูปมีรูปแบบที่เข้ากับวิธีคิดตามแนวสัจนิยมให้สมจริงเหมือนมนุษย์ยิ่งขึ้น 3. เป็นการมองพระพุทธเจ้าในฐานะมนุษย์มากขึ้นตามบริบทสังคมที่เริ่มคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลและมีความเป็นมนุษย์นิยมมากขึ้น

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ
กรุงเทพมหานคร
จิตรกรรมจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติ

ผนังด้านหลังพระพุทธรูปประธานเขียนภาพพระพุทธเจ้าแสดงปางมารวิชัยอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วทรงกลีบบัวล้อมรอบด้วยพระสาวก พรหม และประชาชน ขนาบข้างด้วยพระพุทธรูปทรงเครื่องและพระพุทธรูปลีลาผนังด้านขวามือของพระพุทธรูปประธานเป็นพระพุทธเจ้าปางประสูติ ด้านบนเขียนภาพสันดุสิตเทพบุตร ผนังด้านหน้าเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังระหว่างหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม เหนือช่องหน้าต่างมีพระอดีตพุทธเจ้านั่งเรียงแถวกันใต้ลายพวงมาลัยและพวงอุบะ แม้การแสดงออกของฉากและตัวบุคคล เช่น หนุมาน ยักษ์ สัตว์หิมพานต์จะคงลักษณะตามแบบไทยประเพณี แต่ก็มีการแทรกรูปสัตว์และรูปบุคคลที่มีอิริยาบถ เครื่องแต่งกาย รวมถึงการจัดวางภาพตามแบบแผนสมัยปัจจุบันเข้าไปผสมผสาน

พระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ

เจดีย์เป็นทรงระฆังในผัง 12 เหลี่ยม พื้นผิวเจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีม่วง ผนังด้านนอกตกแต่งด้วยภาพดินเผาเคลือบสีเป็นเรื่องของพระภิกษุณีผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุณีทั้งมวล องค์เจดีย์ช่วงล่างมีบัวรัดรอบ แบ่งออกเป็น 4 ชั้น ช่วงบนแบ่งเป็นชั้นเล็กๆอีก 25 ชั้น ก่อนถึงยอดปลีมีฐานรองรับซึ่งแบ่งออกเป็นชั้นเล็กๆอีก 8 ชั้น ยอดปลีด้านบนประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เหนือยอดปลีมีฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น องค์เจดีย์มีระเบียง 2 ระดับตกแต่งด้วยภาพดินเผาเคลือบสีน้ำตาลเล่าเรื่องอุบาสิกาที่พระพุทธเจ้าประกาศว่าเป็นเลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลายและภาพสวรรค์ 6 ชั้น บริเวณทางเข้าประดิษฐานพระนามาภิไธยย่อ สก. ทั้ง 3 ด้านภายในโถงกลางทรงโดม ผนังตอนล่างตกแต่งด้วยภาพแกะสลักหินแกรนิตสีขาวเล่าเรื่องพระราชกรณียกิจสำคัญของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ผนังตอนบนตกแต่งด้วยโมเสกแก้ว ออกแบบและลงสีด้วยคอมพิวเตอร์เล่าเรื่องพุทธประวัติที่สัมพันธ์กับพระนางสิริมหามายา พระนางปชาบดีโคตมี พระนางยโสธราพิมพา และนางวิสาขา บนเพดานตกแต่งด้วยโมเสกแก้วสีรูปดอกสาละ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึงแกะสลักจากหยกขาว ได้รับพระราชทานนามว่า “พระพุทธสิริกิติทีฆายุมงคล” เจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่1) ทรง 12 เหลี่ยมหมายถึง อัจฉริยธรรม 12 ประการของพระพุทธมารดา2) การแบ่งชั้นเจดีย์น้อยใหญ่รวม 37 ชั้น หมายถึงโพธิปักขิยธรรม 37 ประการการที่เจดีย์องค์นี้เลือกใช้สีม่วงเพื่อให้มีความอ่อนหวานงดงามตามลักษณะความงามของกุลสตรีไทย เจดีย์องค์นี้มีความสูง 55 เมตรซึ่งต่ำกว่าความสูงของพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล มีความหมายถึงพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งอ่อนกว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 5 พรรษา

พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล
เชียงใหม่
สถาปัตยกรรมพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล

เจดีย์เป็นทรงระฆังแปดเหลี่ยมมีลวดบัวรัดแบ่งองค์เจดีย์ออกเป็น 3 ชั้น ผิวภายนอกองค์เจดีย์ประดับด้วยโมเสกแก้วสีน้ำตาล ส่วนยอดสุดเป็นปลียอดสีทองรองรับด้วยดอกบัวบาน 8 กลีบ เหนือปลียอดกั้นฉัตรโลหะสีเงิน 9 ชั้น ตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนระเบียงกว้าง 2 ระดับ ประดับด้วยซุ้มภาพดินเผาเป็นเรื่องทศชาติชาดกและภาพป่าหิมพานต์ ซุ้มระเบียงด้านล่างเป็นสัญลักษณ์กองทัพอากาศ ในขณะที่ทางเข้าเจดีย์ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ทั้ง 4 ด้านภายในเป็นห้องโถง ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งปางประทานพรแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวจากอินโดนีเซียไว้ที่กึ่งกลางโถง พระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานนามว่า “พระพุทธบรมศาสดานวมินทรมหาจักรีราชานุสรณ์ สัฐิพรรษาสถาพรพิพัฒน์” ผนังภายในมีภาพแกะสลักจากหินแกรนิตสีเขียวเป็นภาพสังเวชนียสถาน เพดานห้องโถงตกแต่งด้วยโมเสกแก้วเป็นรูปดอกสาละเจดีย์องค์นี้สร้างโดยผสมผสานข้อธรรมะสำคัญในพุทธศาสนามาเป็นแนวคิดในการออกรายละเอียดต่างๆ ได้แก่ 1) ทรงแปดเหลี่ยมของเจดีย์หมายถึงมรรค 8 2) การแบ่งเจดีย์เป็น 3 ชั้น หมายถึงการบำเพ็ญบารมี 3 ขั้น ได้แก่ บารมี อุปบารมี และปรมัตถบารมี โดยแต่ละขั้นจะมีขั้นละ 10 ทัศ รวมเป็น 30 ทัศ 3) ดอกบัวบานรองรับยอดปลี หมายถึงการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน นอกจากแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาแล้วยังมีบางแนวคิดที่สัมพันธ์กับพระบาทสมเด็จพระปรมิรทรมหาภูมิพลอดุลยเดชด้วย คือ เจดีย์มีความสูง 60 เมตร หมายถึงการสร้างเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา

บ้านดำ
เชียงราย
สถาปัตยกรรมบ้านดำ

ตัวอาคารแต่ละหลังได้รับการออกแบบให้มีแนวคิด และความน่าสนใจที่แตกต่างกันออกไป รวมถึงสิ่งที่สะสมและจัดแสดงภายในบ้าน เช่น บ้านล้านนา บ้านล้านช้าง ภายในจัดแสดงเครื่องเงิน เขาสัตว์ กระดูกสัตว์ต่างๆ อาคารมหาวิหาร สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในจัดการแสดงศิลปะ ทั้งถาวรและหมุนเวียน หรืออูบหัวนกกกที่ได้แรงบันดาลใจจากนกเงือก ด้านในเป็นที่อยู่อาศัย อาคารทั้งหมดล้วนทาสีดำ