ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 9 ถึง 16 จาก 89 รายการ, 12 หน้า
ภาพสลักรูปปราสาท บนผนังที่ปราสาทสมโบร์ไพรกุก
กัมปง ธม
ประติมากรรมภาพสลักรูปปราสาท บนผนังที่ปราสาทสมโบร์ไพรกุก

เป็นปราสาทที่สร้างจากอิฐ อยู่ในผังสี่เหลี่ยม มีเสาติดผนังที่มุมของเรือนธาตุ มีทางเข้าทางเดียว อีกทั้งสามทางเป็นประตูหลอก หลังคาทำเป็นเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบวิมานของอินเดียใต้ ปราสาทตั้งอยู่บนพื้นราบ ไม่มีการทำฐานซ้อนชั้น

ทับหลัง
กัมปง ธม
ประติมากรรมทับหลัง

ทับหลังในภาพ เป็นรูปแบบของทับหลังในศิลปะไพรกเมงที่จะคลี่คลายไปสู่แบบศิลปะกำพงพระ โดยมีการทำเส้นวงโค้งเป็นเส้นตรงเพียงเส้นเดียว กลางทับหลัง และปรากฏเหรียญอยู่กลางเส้นวงโค้ง ตามรูปแบบของศิลปะไพรกเมง แต่อย่างไรก็ตามตัวเหรียญได้ปรับเปลี่ยนเป็นลักษณะของลายใบไม้ซึ่งเหมือนกับปลายของทับหลังทั้งสองด้านปรากฏเป็นลายใบไม้ขนาดใหญ่ซึ่งต่อมาลายใบไม้ดังกล่าวจะเป็นที่นิยมในศิลปะกำพงพระ

ปราสาทบากอง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทบากอง

ปราสาทประธานจำนวน 1 หลังตั้งอยู่บนฐานเป็นชั้น ล้อมรอบด้วยปราสาทหลังเล็กๆ จำนวนหนึ่ง ด้านหน้ามีซุ้มประตูสำหรับทางเดินขึ้น ส่วนปราสาทหลังอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่นั้น สร้างด้วยอิฐและตั้งอยู่บนพื้น กระจายตัวกันอยู่ทุกทิศ (ไม่เห็นในภาพ)อนึ่ง ปราสาทหลังนี้ยังคงสร้างปราสาทจำนวนน้อยหลังบนฐานเป็นชั้น เนื่องจากฐานเป็นชั้นนี้สร้างอยู่บนพื้นราบ ในระยะต่อไป ปราสาทจะพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นปราสาทบนฐานเป็นชั้นที่มีปราสทอยู่ด้านบนฐานเป็นจำนวนมากและมีความซับซ้อนมากขึ้น

ปราสาทบริวารของปราสาทบากอง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทบริวารของปราสาทบากอง

ภาพปราสาทบริวารของปราสาทบากอง เป็นปราสาทอิฐที่แตกต่างด้วยปูนปั้น ตั้งอยู่บนพื้น กระจายตัวกันอยู่ทุกทิศ จำนวนแปดหลัง (ด้านละสองหลังดังที่เห็นในภาพ)

ปราสาทประธาน : ปราสาทบากอง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทประธาน : ปราสาทบากอง

เป็นที่น่าแปลกว่า ปราสาทประธานของปราสาทบากองกลับสร้างด้วยหินทรายและมีลวดลายในสมัยนครวัด ซึ่งแตกต่างไปจากองค์ประกอบโดยรวมของปราสาทบากองที่มีอายุอยู่ในสมัยพระโค อันแสดงให้เห็นว่า ปราสาทประธานหลังนี้ถูกสร้างใหม่ในสมัยนครวัด ซ่งออาจทดแทนปราสาทหลังเดิมของปราสาทบากองที่สร้างด้วยอิฐและอาจพังทลายลงในสมัยนครวัดลักษณะของปราสาทในสมัยนครวัดก็คือ การมีแผนผังเพิ่มมุม การตกแต่งด้วยนางอัปสรที่แต่งกายตามแบบนครวัดและการประดับกลีบขนุนที่ยอดด้านบน

ปราสาทตระพังพง
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทตระพังพง

ปราสาทก่อด้วยอิฐและประดับด้วยปูนปั้นตามแบบสถาปัตยกรรมพระโคโดยทั่วไป เรือนธาตุมีการประดับด้วยภาพเทพธิดาเช่นเดียวกับปราสาทพระโคและโลเลย ส่วนทับหลังและประตูหลอกสร้างด้วยหิน สลักเป็นลายหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยประดับมกรที่ปลายสุดตามแบบอิทธิพลชวา ยอดปราสาทมีเรือนธาตุจำลองซ้อนชั้นตามแบบวิมานอินเดียใต้ แต่เก็จประธานกลับมีการยกมุมแตกออกเป็นเก็จย่อยๆ ซึ่งคล้ายคลึงกับปราสาทในสมัยก่อนเมืองพระนคร อนึ่ง ศิลปะพระโคถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนเมืองพระนครกับสมัยพระนคร ด้วยเหตุนี้จึงมีลักษณะบางอย่างปะปนกันได้

ปราสาทโลเลย
เรอลั้วะ
สถาปัตยกรรมปราสาทโลเลย

ปราสาทโลเลยประกอบด้วยปราสาทก่อด้วยอิฐประดับด้วยปูนปั้นจำนวน 4 หลัง ตั้งเรียนกันบนพื้นราบซึ่งคงมีพื้นฐานมาจากปราสาทพระโคที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษเช่นเดียวกัน รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับปราสาทตระพังพงและปราสาทบากอง กล่าวคือ ประกอบด้วยทับหลังและประตูหลอกที่สลักด้วยหิน ส่วนด้านข้างของเรือนธาตุปรากฏรูปเทพและเทพธิดาทวารบาล ด้านบนเป็นชั้นวิมานตามแบบอินเดียใต้แต่มีการยกเก็จจำนวนมากที่เก็จประธาน

ปราสาทบาแค็ง
อังกอร์
สถาปัตยกรรมปราสาทบาแค็ง

ปราสาทบาแค็งเป็นปราสาทบนฐานเป็นชั้น สร้างขึ้นบนภูเขาหินธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ปราสาทจึงสามารถสร้างด้วยหินทั้งหลังได้ แตกต่างไปจากปราสาทบากองที่ฐานเป็นชั้นสร้างอยู่บนพื้นราบ ปราสาทประกอบด้วยปราสาทบนยอดจำนวน 5 หลัง และปราสาทขนาดเล็กอีกจำนวน 60 หลังที่ฐานทั้งห้าชั้น ทุกหลักประดิษฐานศิวลึงค์ตามลัทธิไศวนิกายและหันหน้าไปทางทางทิศตะวันออกอันเป็นทิศมงคล เมื่อรวมปราสาทที่ด้านล่างแล้วนักวิชาการประมาณกันว่าปราสาทแห่งนี้มีจำนวนถึง 108 หลัง อันเป็นเลขมงคลในศาสนาฮินดู