ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 401 ถึง 408 จาก 471 รายการ, 59 หน้า
โรงเมี้ยนโกศวัดเชียงทอง
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมโรงเมี้ยนโกศวัดเชียงทอง

โรงเมี้ยนโกศ ถือเป็นอาคารรุ่นหลังที่สุดที่ปรากฏ ณ วัดเชียงทอง สร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บโกศและพระราชรถ ด้วยเหตุนี้ ผนังด้านหน้าจึงประกบด้วยแผ่นไม้จำนวนมากเพื่อการ ถอด-ประกอบได้ถ้าจำเป็นต้องเชิญรารถออกใช้ในงานพระเมรุ แผงด้านหน้ามีภาพสลักเรื่องรามเกียรติ์หลายเรื่อง เช่น เรื่องนางสีดาลุยไฟ เรื่องพระรามรบกับยักษ์ เรื่องทศกัณฑ์สู้กับนกชดายุและเรื่องทศกัณฑ์ล้ม เป็นต้น ภาพสลักเหล่านี้สลักขึ้นโดย “เพียตัน” ซึ่งเป็นช่างในราชสำนักในสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 โดยช่างผู้นี้มีลักษณะเฉพาะที่ต่อมาจะกลายเป็นสกุลช่างของศิลปะลาวปัจจุบันคือ มีการสลักตัวละครให้มีปริมาตรกลมกลึงตามอย่างสัจนิยม แต่สวมเครื่องละครตามแบบประเพณี และภาพสลักอยู่ท่ามกลางลายกนกซึ่งทำให้ภาพไม่มีพื้นที่ว่างเปล่า

สิมวัดคีลี
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมสิมวัดคีลี

สิมวัดคีลี ถือเป็นตัวอย่างสิมแบบเชียงขวางที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองหลวงพระบาง ในขณะที่สิมสกุลช่างเชียงขวางที่เมืองคูนเองกลับถูกทำลายจนหมดสิ้นจากภัยสงคราม ทำให้การศึกษาสิมในสกุลช่างเชียงขวางอาจศึกษาจากเมืองหลวงพระบางเท่านั้น ลักษณะของสิมสกุลช่างเชียงขวาง มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสิมแบบหลวงพระบางอย่างมาก ทั้งในแง่ของหน้าบันที่มีกรอบอ่อนโค้งและยาวลงมาเกือบจรดพื้น รวมถึงลักษณะหน้าบันที่เป็นกรอบไม้ต่างไหมและอย่างไรก็ตาม ประเด็นแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ในขณะที่หน้าบันของสิมสกุลช่างหลวงพระบางมักมีการแบ่งเป็น “ปีกนก” แต่สกุลช่างเชียงขวางกลับไม่แบ่งปีกนกแต่อย่างใด

สิมวัดปากคาน
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมสิมวัดปากคาน

สิมวัดปากคาน ถือเป็นตัวอย่างของสิมแบบไทยลื้อที่ดีที่สุดในเมืองหลวงพระบาง ลักษณะของสิมแบบไทยลื้อก็คือ เป็นอาคารที่มีคอสองกว้าง และมีความสูงของหลังคาทางด้านหน้าและด้านยาวเท่ากัน สิมแบบไทยลื้อปรากฏความนิยมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยุนนานของจีน การปรากฏสิมแบบไทยลื้อที่เมืองพลวงพระบาง แสดงให้เห็นการอพยพเคลื่อนย้ายของคนไทยลื้อจากสิบสองปันนาลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองหลสวงพระบางแห่งนี้

สิมวัดใหม่
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมสิมวัดใหม่

สิมวัดใหม่ มีลักษณะของการซ้อนชั้นหลังคาที่โดดเด่น อาคารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกือบจะคล้ายกับสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาชั้นบนสุดซ้อนแบบ “ลอย” อยู่บนหลังคาหลัก ถัดลงมาเป็นหลังคาปีกนกที่ครอบคลุมพาไลต่อเนื่องลงมาหลายชั้น แต่ละชั้นมีคอสองสูง ด้านหน้ายังปรากฏ “หอขวาง” ซึ่งถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นสำหรับสิมแห่งนี้

พระราชวังเมืองหลวงพระบาง
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมพระราชวังเมืองหลวงพระบาง

พระราชวังเมืองหลวงพระบาง เป็นอาคารแบบตะวันตกในผังแบบพัลลาเดียม มีหน้าบันและลายปูนปั้นแบบตะวันตก สร้างขึ้นภายใต้สมัยอาณานิคมฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม มีความพยายามในการสร้างยอดมหาปราสาทตามอิทธิพลรัตนโกสินทร์ซึ่งทำให้อาคารหลังนี้ดูคล้ายกับพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในกรุงเทพพอสมควร หน้าบันที่เป็นรูปช้างเอราวัณนั้น เป็นตราแผ่นดินในสมัยพระราชอาณาจักรลาว โดยรอบช้างปรากฏนาคด้านละ 7 ตัวซึ่งอาจเชื่อมโยงได้กับชื่อเดิมของอาณาจักรล้านช้างซึ่งเรียกว่า “ศรีสัตนาคนหุต” อันแปลว่านครแห่งนาค 7 ตัว

มัสยิดมลายู
จอร์จทาวน์
สถาปัตยกรรมมัสยิดมลายู

อาคารมัสยิดมลายู มีลักษณะตามแบบเอเชียอาคเนย์ที่ไม่นิยมสร้างโดมแต่สร้างเป็นหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง เป็นหลังคาลาดเพื่อให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกตลอดปี อย่างไรก็ตาม แผงด้านหน้าของอาคารกลับใช้อาร์คแบบมัวร์ของสเปนเข้ามาผสมผสาน โดยเป็นอาร์คแบบวงโค้งเกือกม้าซึ่งแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลแบบสเปนที่เข้ามาพร้อมกับสถาปนิกชาวอังกฤษในสมัยอาณานิคม

ศาลเจ้าคูกงสี
จอร์จทาวน์
สถาปัตยกรรมศาลเจ้าคูกงสี

บ้านประจำตระกูลคูแห่งนี้ก็ได้รับการสลักเสลาและมีลวดลายตกแต่งอย่างอลังการ ภายนอกตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆตามความนิยมในศิลปะจีนภาคใต้ ส่วนภายในตกแต่งด้วยไม้สลักซึ่งมีการนำช่างสลักมาจากประเทศจีน ศาลเจ้าของตระกูลซึ่งอยู่ตรงกลาง อุทิศให้กับเทพเจ้าประจำตระกูลรวมถึงบรรพบุรุษ ด้านหน้าศาลเจ้ามีลานกว้างและโรงงิ้ว โดยรอบเป็นบ้านของครองครัวต่างๆในตระกูลรวมถึงที่ประชุมของตระกูล

ลวดลายประดับ : ศาลเจ้าคูกงสี
จอร์จทาวน์
สถาปัตยกรรมลวดลายประดับ : ศาลเจ้าคูกงสี

บ้านประจำตระกูลคูแห่งนี้ก็ได้รับการสลักเสลาและมีลวดลายตกแต่งอย่างอลังการ ภายนอกตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆตามความนิยมในศิลปะจีนภาคใต้ กระเบื้องเคลือบเหล่านี้ มีทั้งตัดเป็นชินเล็กๆแล้วมาประกอบใหม่ หรือแบบที่ทำสำเร็จรูปมาเพื่อประกอบเป็นอาคารหรือเรื่องราว