ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 161 ถึง 168 จาก 471 รายการ, 59 หน้า
หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ
ลพบุรี
สถาปัตยกรรมหมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎ

หมู่พระที่นั่งพิมานมงกุฎเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ความสูง 2 ชั้น และ3 ชั้น มีรูปแบบผสมผสานระหว่างไทย ตะวันตก และจีน โครงสร้างหลังคารูปจั่ว มุงกระเบื้องกาบกล้วยดินเผาแบบจีน หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นรูปพระมหามงกุฎประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง ส่วนหน้าจั่วพระที่นั่งวิสุทธิวินิจฉัยเป็นรูปพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีฉัตรกระหนาบ 2 ข้าง หมู่พระที่นั่งประกอบด้วยห้องโถงหลายห้องมีมุขที่ด้านหน้าขนาบอัฒจันทร์ซึ่งเป็นทางขึ้นอยู่ตรงกลาง อาคารด้านในเป็นอาคารขวาง เป็นท้องพระโรงซึ่งแบ่งเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเป็นท้องพระโรงใหญ่สำหรับเสด็จออกว่าราชการ ตอนในเป็นท้องพระโรงเล็ก จากท้องพระโรงมีทางขึ้นไปสูระบียงอัฒจันทร์ชั้น 3 ซึ่งเป็นห้องบรรทม หมู่พระที่นั่งมีการใช้ซุ้มวงโค้งปลายแหลมและโค้งมนมาใช้ในการประดับอาคารซึ่งเป็นอิทธิพลศิลปะตะวันตกที่ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งทำให้เกิดความกลมกลืนกับสถาปัตยกรรมเดิมที่อยู่ใกล้เคียง

พระธาตุหริภุญชัย
ลำพูน
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย

พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร

รัตนเจดีย์
ลำพูน
สถาปัตยกรรมรัตนเจดีย์

รัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น แผนผังแปดเหลี่ยม ส่วนฐานค่อนข้างชำรุด ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุ แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนอยู่ภายในซุ้ม มุมทั้งแปดของเรือนธาตุตกแต่งด้วยเสาอิง ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยองค์ระฆัง ยอดสุดพังทลายลงแล้ว

เจดีย์กู่กุด
ลำพูน
สถาปัตยกรรมเจดีย์กู่กุด

เจดีย์กู่กุดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทผังสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง ตกแต่งด้วยปูนปั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ เรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น โดยชั้นล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นค่อยๆลดขนาดลงไปจนถึงชั้นที่ห้าซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดเรือนธาตุแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มด้านละ 3 ซุ้ม รวม 4 ด้าน ทำให้มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละชั้น 12 องค์ รวม 5 ชั้นเป็น 60 องค์ มุมทั้งสี่ของเรือนธาตชั้นที่ 1 -4 ประดับด้วยสถูปิกะ ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุชั้นที่ห้าเป็นปล้องไฉนในผังสี่เหลี่ยม ยอดสุดหักพังลงแล้ว

ซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง
ลำปาง
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูโขง วัดพระธาตุลำปางหลวง

ซุ้มประตูโขงก่อด้วยอิฐฉาบปูน ช่องทางเข้ามีลักษณะเป็นวงโค้ง ตัวอาคารอยู่ในผังยกเก็จ ส่วนยอดของโขงประกอบด้วยชุดหลังคาลาดซ้อนชั้นลดหลั่นกันในผังยกเก็จ ประดับลวดลายปูนปั้นรูปนาคที่หน้าบัน ประดับมุมอาคารด้วยลวดลายปูนปั้นที่เรียกว่า ลายเครือล้านนา ในตำแหน่งกาบบน กาบล่าง ประจำยามอก ซึ่งมีขนาดใหญ่ ลักษณะคล้ายลายฉลุโปร่ง ตัวลายประกอบด้วยลายคดโค้ง มีลายดอกโบตั๋นประกอบด้วยก้านใบ ลวดลายเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากเครื่องถ้วยจีนและเป็นที่นิยมในการประดับสถาปัตยกรรมในล้านนา โดยเฉพาะในช่วงพุทธศตวรรษที่ 21

พระธาตุลำปางหลวง
ลำปาง
สถาปัตยกรรมพระธาตุลำปางหลวง

พระธาตุลำปางหลวงเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐหุ้มด้วยทองจังโก องค์ประกอบสำคัญลำดับจากส่วนฐานถึงส่วนยอดได้ดังนี้ ฐานบัวสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ซึ่งออกแบบคล้ายฐานบัวซ้อนกันสองชั้นแบบที่นิยมในล้านนาช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-21 ถัดขึ้นไปเป็นบัวถลาซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ซึ่งเป็นลักษณะของสุโขทัย องค์ระฆังกลมซึ่งตกแต่งด้วยเส้นรัดอกดุนนูน ถัดขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร

พระธาตุศรีสองรัก
เลย
สถาปัตยกรรมพระธาตุศรีสองรัก

พระธาตุศรีสองรักสร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน มีองค์ประกอบทางศิลปกรรมลำดับจากส่วนล่างไปยังส่วนบน ได้แก่ ฐาน องค์บัวเหลี่ยม และยอดฐาน ประกอบด้วยฐานเขียงในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังเพิ่มมุม องค์ประกอบของฐานส่วนนี้เป็นแบบแผนของล้านช้าง คือ มีลูกแก้วขนาดใหญ่ (บัวเข่าพรหม) ซึ่งพัฒนามาจากฐานสิงห์ในศิลปะอยุธยาอยู่ด้านล่างของฐานบัว และบัวคว่ำมีส่วนปลายตวัดงอนขึ้น เป็นที่มาของการเรียกฐานบัวศิลปะล้านช้างว่า ฐานบัวงอน องค์บัวเหลี่ยม มุมทั้งสี่ประดับด้วยปูนปั้นรูปกาบ ทรวดทรงเตี้ย ส่วนล่างใหญ่จากนั้นตอนบนค่อยๆสอบเล็กลง ยอด ประกอบด้วยบัลลังก์สี่เหลี่ยมเตี้ยๆ และยอดกรวยในผังสี่เหลี่ยม ซึ่งเทียบได้กับตำแหน่งของปล้องไฉนและปลีของเจดีย์ทรงกลม

ปราสาทเมืองสิงห์
กาญจนบุรี
สถาปัตยกรรมปราสาทเมืองสิงห์

ปราสาทเมืองสิงห์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ฉาบปูนและประดับด้วยปูนปั้นซึ่งปัจจุบันหลุดล่วงไปเกือบหมดแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออกรูปแบบปราสาทมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางของฐานยกพื้น ยอดปรักหักพังหมดแล้ว ด้านหน้าปราสาทประธานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบรรณาลัยตั้งอยู่ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด กลางด้านทั้งสี่ของระเบียงคดเป็นโคปุระที่ทำยอดเป็นทรงปราสาท ด้านหน้าทางทิศตะวันออกของฐานยกพื้นมีลานศิลาแลง เดิมทีคงเคยมีหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องคลุมอยู่ แต่ปัจจุบันได้ปรักหักพังหมดแล้ว ถัดออกไปทางทิศตะวันออกมีร่องรอยของโคปุระ ทางด้านเหนือและใต้ของโคปุระเชื่อมต่อกับแนวกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน เบื้องหน้าของโคปุระมีชาลารูปกากบาท