ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พระธาตุเชิงชุม
คำสำคัญ : พระธาตุ, เจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม, พระธาตุเชิงชุม
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | วัดพระธาตุเชิงชุม วรวิหาร |
ชื่ออื่น | - |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ธาตุเชิงชุม |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | สกลนคร |
ภาค | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 17.16445 Long : 104.15298 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 Q Hemisphere : N E : 409916.78 N : 1897944 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางเขตพุทธาวาส |
ประวัติการสร้าง | ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่จากรูปแบบทางศิลปกรรมทำให้ทราบได้ว่าเดิมทีสถานที่แห่งนี้เคยเป็นปราสาทศิลาแลงในวัฒนธรรมเขมรมาก่อน กำหนดอายุจากจารึกที่พบบนกรอบประตูด้านตะวันออกได้ราวพุทธศตวรรษที่ 17 อย่างไรก็ตามการสร้างปราสาทด้วยศิลาแลงทำให้นึกถึงศาสนสถานเขมรในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยล้านช้าง ราวพุทธศตวรรษที่ 22 ได้บูรณปฏิสังขรณ์ปราสาทแห่งนี้ขึ้นมาใหม่ โดยสร้างพระธาตุแบบล้านช้างครอบทับปราสาทเขมร |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ฉบับที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
ลักษณะทางศิลปกรรม | พระธาตุเชิงชุมเป็นพระธาตุทรงบัวเหลี่ยม ก่ออิฐถือปูนครอบทับปราสาทเขมรที่ก่อจากศิลาแลง พระธาตุเชิงชุมมีแผนผังสี่เหลี่ยม เรือนธาตุมีรูปแบบเป็นชุดฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกัน ด้านทั้งสี่มีซุ้มประตูทรงปราสาท ซุ้มด้านตะวันออกเป็นทางเข้าสู่ห้องคูหาที่ตั้งอยู่ภายใน โดยห้องดังกล่าวนี้ก็คือครรภคฤหะเดิมของปราสาทเขมรนั่นเอง ในขณะที่ซุ้มประตูด้านใต้ ตะวันตก และเหนือ แม้ว่าจะผลักบานประตูได้แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปภายในได้ เพราะเมื่อผลักเข้าไปจะพบกับผนังประตูหลอกของปราสาทศิลาแลง ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุเป็นองค์ประกอบคล้ายองค์ระฆังแต่อยู่ในผังสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซึ่งอาจเทียบได้กับบัลลังก์ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนยอดที่ประกอบจากบัวเหลี่ยมซ้อนกัน |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | พระธาตุเชิงชุมสร้างขึ้นในสมัยล้านช้างครอบทับปราสาทเขมรที่มีมาก่อน เป็นหนึ่งในหลักฐานของการซ่อมแปลง ศาสนสถานเขมรให้กลายเป็นพระธาตุ ซึ่งเป็นประเพณีที่พบได้แพร่หลายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ยังเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์สองฝั่งโขงเพราะเชื่อกันตามตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าสี่พระองค์เสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาทไว้ … จารึกวัดพระธาตุเชิงชุมที่พบบนกรอบประตูทิศตะวันออก เขียนเป็นอักษรขอมโบราณ ภาษาเขมร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื้อหาเกี่ยวกับการแบ่งที่ดินที่ชระเลง โดยที่ดินในหลักเขตมอบให้ขึ้นอยู่กับโลญผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านชระเลง ส่วนที่ดินนอกหลักเขตให้ขึ้นอยู่กับโลญผู้เป็นหัวหน้าหมู่บ้านพะนุรพิเนา |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ล้านช้าง |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 22 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | เถรวาท |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถรวาท |
ตำนานที่เกี่ยวข้อง | เรื่องราวของพระธาตุเชิงชุมในทางตำนานปรากฏอยู่ในตำนานอุรังคธาตุ อันเป็นตำนานที่เล่าว่าย้อนกลับไปถึงสมัยพุทธกาลว่าพระพุทธองค์เคยเสด็จมายังดินแดนสองฝั่งโขง วัตถุประสงค์หลักของตำนานก็เพื่อเล่าประวัติการสร้างพระธาตุพนม แต่ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงตำนานของบ้านเมืองและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ริมสองฝั่งโขง ซึ่งรวมถึงพระธาตุเชิงชุมด้วย ในส่วนของพระธาตุเชิงชุมนั้นตำนานอุรังคธาตุได้เล่าไว้ว่า พระพุทธองค์เสด็จมายังหนองหารหลวง เจ้าเมืองในครั้งนั้นคือพระยาสุวรรณภิงคาร พระพุทธองค์ได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ที่เมืองแห่งนี้เหนือสถานที่ที่พระอดีตพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ และพระกัสสปะ ได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ก่อน จึงเป็นที่มาของชื่อเรียกพระธาตุเชิงชุม ซึ่งหมายถึงที่ประชุมพระพุทธบาท พระยาสุวรรณภิงคารเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างยิ่ง จึงได้ถอดพระมงกุฎทองคำของพระองค์บูชารอยพระพุทธบาท แล้วทรงสร้างอุโมงค์ (อาคาร) ครอบไว้ |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-09-09 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ประภัสสร์ ชูวิเชียร. ศิลปะลาว. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558. ธรรมราชานุวัตร, พระ. และ โสภณเจติยาภิบาล, พระ. อุรังคนิทาน ตำนานพระธาตุพนม (พิสดาร). พิมพ์ครั้งที่ 11, กรุงเทพฯ : จูน พับลิชชิง, 2551. ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2555. สิริกุล จุมพล และคนอื่นๆ. แหล่งท่องเที่ยวอีสานบน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2534. |