ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปราสาทพิมาย
คำสำคัญ : ปราสาทหิน, ปราสาทเขมร, ปราสาทพิมาย
ชื่อเรียกอื่น | - |
---|---|
ชื่อหลัก | ปราสาทพิมาย |
ชื่ออื่น | - |
ประเภทงานศิลปะ | สถาปัตยกรรม |
ตำบล | ในเมือง |
อำเภอ | พิมาย |
จังหวัด | นครราชสีมา |
ภาค | ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 15.221047 Long : 102.493763 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 48 P Hemisphere : N E : 230765.17 N : 1684321.77 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | กลางเมืองพิมาย |
ประวัติการสร้าง | ปราสาทพิมายไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัดว่าเริ่มเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่ข้อมูลจากรูปแบบทางศิลปกรรมและจารึกทำให้เชื่อได้ว่าสร้างขึ้นราวกลาง - ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17 เพราะศิลปกรรมเป็นแบบบาปวนผสมกับนครวัด อย่างไรก็ตาม จากการขุดค้นขุดต่างทางโบราณคดีทำให้พบปราสาทก่ออิฐอยู่ใต้ปราสาทประธานและโคปุระ ปราสาทอิฐนี้ถูกรื้อลงเมื่อคราวสร้างปราสาทพิมายหลังที่เห็นในปัจจุบัน เป็นหลักฐานว่าปราสาทหินหลังปัจจุบันซ้อนทับอยู่บนศาสนสถานที่เก่าแก่กว่า แต่ไม่อาจกำหนดอายุที่แน่ชัดได้ ล่วงมาถึงสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หรือราวพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองพิมายเป็นเมืองสำคัญมาก พระองค์จึงโปรดให้สร้างที่พักพร้อมไฟหรือที่พักคนเดินทางระหว่างทางจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย ช่วงเวลานี้ปราสาทพิมายยังคงได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี อาจมีการสร้างปรางค์พรหมทัตเพิ่มเติมในช่วงเวลานี้ เพราะเป็นปรางค์ที่สร้างจากศิลาแลงซึ่งเป็นวัสดุหลักสำหรับปราสาทในสมัยของพระองค์ ภายในปรางค์พรหมทัตคันพบรูปฉลองพระองค์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นรูปท้าวพรหมทัตตามตำนานท้องถิ่น |
---|---|
ประวัติการอนุรักษ์ | ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 27 กันยายน พ.ศ. 2478 ปราสาทแห่งนี้เริ่มมีการขุดค้นอย่างจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2497 โดยขุดแต่งบริเวณใกล้กับปราสาทและได้เสริมความมั่นคงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กในส่วนที่ชำรุดมากๆ ต่อมาใน พ.ศ. 2506 กรมศิลปากรได้รับงบประมาณ 1,000,000 บาท ในการดำเนินการบูรณะ โดยมีหม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ เป็นผู้อำนวยการบูรณะ และนายโกรลิเยร์กับนายปิชาร์ดเป็นผู้ให้คำแนะนำ ปราสาทแห่งนี้ถือเป็นแห่งแรกที่ใช้วิธีการบูรณะโบราณสถานแบบอนัสติโลซิส ทำแผนผังหินหล่น ถ่ายรูปสภาพปัจจุบันโดยละเอียด ในพ.ศ. 2507 ได้ยกหินจากยอดปราสาทประธาน โดยทำการถ่ายรูปวัดขนาด แสดงทิศทาง เขียนแปลนไว้ทุกชั้น โดยเมื่อยกหินลงมาทุกๆ 6 ชั้นจะพบโบราณวัตถุจำพวกแก้ว แหวน แผ่นเงิน แผ่นทองฝังอยู่ในหินที่เจาะเป็นหลุมและมีอิฐเป็นฝาปิด ตำแหน่งของหลุมจะอยู่ตามทิศ 4 บ้าง 8 มีการขุดตรวจบริเวณพื้นตรงกลางปราสาทประธาน พบว่าเป็นผนังก่ออิฐกันดินไว้ 4 ด้าน พ.ศ. 2508 ยกหินที่ยอดปราสาทประธานและยกหินจากมุขทั้งสี่ เสริมความมั่นคงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กแล้วเรียงกลับที่เดิม พ.ศ. 2509 ยกหินจากมณฑปด้านใต้ลงจนถึงพื้นดิน ทำรากฐานใหม่ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก เรียงหินมณฑปกลับเข้าที่เดิมพร้อมเสริมความมั่นคงในทุกชั้น และยกหินยอดปราสาทประธานกลับเข้าที่เดิม พ.ศ. 2510 ได้ปฏิบัติงานต่อเนื่องมาโดยเป็นการยกหินขึ้นเรียงกลับที่เดิม นอกจากนี้ยังทำการขุดแต่งโคปุระด้านทิศเหนือ มุมกำแพงด้านทิศตะวันออกและตะวันตกด้วย พ.ศ. 2511-12 ยังคงดำเนินงานต่อเนื่องจากปีก่อนคือเรียงหินกลับที่เดิมพร้อมเสริมความมั่นคงและหาชิ้นส่วนที่ร่วงหล่นไปเรียงไว้ที่เดิม นอกจากนี้ยังหล่อชิ้นส่วนบางชิ้น เช่น บราลี กลีบขนุน สกัดแต่งหลังคาและเก็บรายละเอียดเพิ่มเติม |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ปราสาทพิมายตั้งอยู่ศูนย์กลางเมืองพิมาย หันหน้าไปทางทิศใต้ สิ่งก่อสร้างสำคัญลำดับจากด้านหน้าไปยังปราสาทประธานมีดังนี้ 1. ชาลานาคราชในแผงผังกากบาท ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของชาลานาคราชมีอาคารสี่เหลี่ยม 1 หลัง เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง 2. ถัดจากชาลานาคราชเป็นโคปุระและกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน โคปุระอยู่ในผังกากบาท ประจำอยู่กึ่งกลางด้านทั้งสี่ 3. ถัดจากโคปุระทิศใต้ไปเป็นชาลาทางเดินยกพื้น ชาลานี้เชื่อมต่อโคปุระทิศใต้ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับโคปุระทิศใต้ของระเบียงคด เดิมทีมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องคลุมอยู่ 4. พื้นที่ระหว่างกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับระเบียงคดมีบรรณาลัย 2 หลัง อยู่ทางพื้นที่ด้านตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำ 4 สระอยู่ที่มุมทั้งสี่ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานด้วย 5. ระเบียงคดล้อมรอบพื้นที่ศูนย์กลางอันเป็นที่ตั้งปราสาทประธาน มีโคปุระแผนผังกากบาทอยู่ที่ด้านทั้งสี่ 6. ปราสาทประธานตั้งอยู่กลางศาสนสถาน ก่อด้วยหินทรายสีเทาเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางใต้ รอบๆ ปราสาทประธานมีอาคารดังนี้ ด้านตะวันออกเฉียงใต้มีปรางค์พรหมทัต ด้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอพราหมณ์และปรางค์หินแดง ด้านตะวันออกมีส่วนฐานของอาคาร 1 หลัง น่าจะเป็นพลับพลาโถง |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | ปราสาทพิมายเป็นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สะท้อนถึงความสำคัญของเมืองพิมายและปราสาทพิมายได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ในทางศิลปกรรมยังแสดงให้เห็นถึงลักษณะทางสกุลช่างที่ต่างไปจากกัมพูชา เช่น ยอดทรงพุ่ม ลวดบัวกรวยเชิงประดับผนังเรือนธาตุอยู่สูงกว่าปกติ ลักษณะดังกล่าวนี้ยังส่งไปยังศาสนสถานอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ปราสาทพนมรุ้ง ศาสนสถานแห่งนี้มิได้สร้างขึ้นเนื่องในศาสนพาราหมณ์เฉกเช่นศาสนสถานในวัฒนธรรมเขมรอื่นๆ หากแต่สร้างขึ้นเนื่องในศาสนาพุทธมหายาน แต่ก็มีเรื่องราวของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ปรากฏอยู่ตามส่วนต่างๆ ของปราสาทด้วย สะท้อนถึงการผสมผสานกลมกลืนระหว่างพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์ในพื้นที่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ….......... 1. คำว่า “พิมาย” เพี้ยนมาจาก “วิมาย” อันเป็นนามที่ใช้เรียกปราสาทแห่งนี้ นอกจากนี้ยังปรากฏชื่อเมืองพิมายในจารึกปราสาทพระขรรค์ ซึ่งระบุว่าพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 โปรดให้สร้างที่พักพร้อมไฟหรือที่พักคนเดินทางจากเมืองพระนครมายังเมืองพิมาย 2. รูปเคารพดั้งเดิมที่ทำประดิษฐานพร้อมการสร้างปราสาทควรเป็นพระพุทธรูป มีพระนามปรากฏในจารึกว่า “กัมรเตงชคต วิมาย” หมายถึง พระผู้เป็นเจ้าแห่งพิมาย |
ข้อสังเกตอื่นๆ | ปราสาทพิมายใช้หินทรายเป็นวัสดุหลัก หินที่ใช้มีสองสี ได้แก่ หินทรายสีแดง และหินทรายสีเทา หินทั้งสองสีได้รับการออกแบบให้จัดวางในตำแหน่งต่างๆ อย่างลงตัว เช่น ปราสาทประธานใช้หินทรายสีเทาทั้งหมด ในขณะที่ระเบียงคดใช้หินทรายสีเทาผสมกับสีแดง โดยส่วนฐาน พื้น ผนัง และหลังคาของระเบียงคดใช้หินทรายสีแดง แต่กรอบประตู ทับหลัง เสาประดับกรอบประตู ช่องหน้าต่างหลอกใช้หินทรายสีเทา |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
สมัย/รูปแบบศิลปะ | ลพบุรี, เขมรในประเทศไทย |
อายุ | กลาง-ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17 |
ศาสนา | พุทธ |
ลัทธิ/นิกาย | มหายาน |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนามหายาน |
งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง | 1. ปราสาทพนมรุ้ง เพราะมีรูปแบบทางศิลปกรรมหลายอย่างที่คล้ายกัน เช่น ยอดปราสาททรงพุ่มอันเกิดจากการทำนาคปักและบรรพแถลงให้เอนเข้าด้านใน สันนิษฐานว่าช่างที่สร้างปราสาทพิมายได้ส่งต่อแบบแผนดังกล่าวนี้ไปสู่ปราสาทพนมรุ้ง 2. ประเด็นการใช้หินทรายสองสีเป็นวัสดุหลักน่าจะมีที่มาจากปราสาทพนมวันซึ่งสร้างขึ้นก่อน แต่ตำแหน่งหินทรายทั้งสองสีของปราสาทพนมวันยังจัดเรียงกันไม่เป็นระบบระเบียบ ปราสาทพิมายเป็นระบบระเบียบมากกว่า น่าจะสะท้อนให้เห็นว่ามีการออกแบบและวางแผนเป็นอย่างดีแล้วว่าตำแหน่งใดจะใช้หินสีอะไร |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2015-09-07 |
ผู้จัดทำข้อมูล | ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง |
บรรณานุกรม | ศิลปากร, กรม. ทะเบียนโบราณสถาน. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2532. ศิลปากร, กรม. อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. ศิลปากร, กรม. อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2532. สมมาตร์ ผลเกิด. ปราสาทพิมาย : เพชรน้ำเอกแห่งวิมายปุระ. กรุงเทพฯ: ดวงกมล, 2554. |