ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

หมู่พระมหามณเฑียร

คำสำคัญ : พระบรมมหาราชวัง, ที่ประทับ, พระที่นั่ง, วังหลวง

ชื่อหลักพระบรมมหาราชวัง
ชื่ออื่นวังหลวง
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลพระบรมมหาราชวัง
อำเภอเขตพระนคร
จังหวัดกรุงเทพมหานคร
ภาคภาคกลาง
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 13.750114
Long : 100.492071
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 P
Hemisphere : N
E : 661318.8
N : 1520589.84
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน พระบรมมหาราชวัง

ประวัติการสร้าง

สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1

ประวัติการอนุรักษ์

บูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เช่น ก่ออิฐหุ้มเสาไม้ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เปลี่ยนไม้เครื่องบนของหลังคา พร้อมทั้งทำผนังก่ออิฐฉาบปูนโดยรอบ

ลักษณะทางศิลปกรรม

หมู่พระมหามณเฑียรเป็นอาคารทรงไทยประเพณีล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ภายในหมู่อาคารประกอบด้วยพระที่นั่งที่สำคัญ 3 องค์เชื่อมต่อกัน ได้แก่ 1. พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน 2.พระที่นั่งไพศาลทักษิณ 3.พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมานพระที่นั่งทุกองค์เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ซ้อนชั้นมุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวสลับส้มและเหลืองกรอบหน้าบันประดับเครื่องลำยอง ที่หน้าบันประดับรูปเทวดาถือพระขรรค์ซุ้มพระทวารและพระบัญชรเป็นซุ้มทรงบรรพแถลง ภายในพระที่นั่งแต่ละองค์เป็นห้องโถงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งมีทางเชื่อมระหว่างกัน มีเสาในประธานทรงสี่เหลี่ยมรองรับน้ำหนักภายในพระที่นั่งแต่ละองค์ตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังมีทั้งที่เป็นภาพปรัมปราคติที่เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าซึ่งเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อในราชสำนัก และภาพลวดลายประดับต่างๆ

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่พระมหามณเฑียรเพื่อเป็นที่ประทับ ประกอบด้วยพระที่นั่งและอาคารสำคัญเชื่อมต่อกัน รวม 5 องค์ ได้แก่ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน พระปรัศว์ซ้ายและพระปรัศว์ขวา ทั้งยังมีหอพระสุราลัยพิมานและหอพระธาตุมณเฑียรเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปและพระบรมอัฐิ

หมู่พระมหามณเฑียรตั้งอยู่ย่านกลางของพระบรมมหาราชวัง โดยมีอาณาเขตครอบคลุมบริเวณเขตพระราชฐานชั้นกลางและชั้นใน ภายในหมู่พระมหามณเฑียรเป็นที่ประทับและเสด็จออกว่าราชการของพระมหากษัตริย์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของบ้านเมือง เช่น พระสยามเทวาธิราช เป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1-3 ทั้งยังเป็นสถานที่เก็บรักษาพระราชบัลลังก์ เช่น พระที่นั่งภัทรบิฐ พระที่นั่งอัฏฐทิศ รวมทั้งเครื่องราชูปโภคอื่นๆที่สำคัญในราชสำนัก หมู่พระมหามณเฑียรยังเป็นสถานที่ในการประกอบพระราชพิธีที่สำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น

รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างซุ้มพระทวารเพิ่มเติม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ได้แก่ พระทวารเทวาภิบาล และพระทวารเทเวศร์รักษา ซึ่งเป็นซุ้มพระทวารยอดทรงมงกุฎและโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งโถงขึ้นองค์หนึ่งชิดกับด้านหน้าของพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย สำหรับเป็นท้องพระโรงก่อนเข้าพระที่นั่ง พร้อมทั้งสร้างกำแพงแก้วมาบรรจบกับพระที่นั่งโถงที่สร้างขึ้นใหม่
ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 24
ศาสนาพุทธ
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องประเพณีในราชสำนัก, พระพุทธศาสนา

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2015-05-26
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. พระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุ๊คส์, 2543.

สันติ เล็กสุขุม. ข้อมูลกับมุมมอง : ศิลปะรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2548.