ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

พระธาตุหนองสามหมื่น

คำสำคัญ : พระธาตุ, เจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม, เจดีย์, เจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม, วัดพระธาตุหนองสามหมื่น, พระธาตุหนองสามหมื่น, พระธาตุบ้านแก้ง

ชื่อเรียกอื่นพระธาตุบ้านแก้ง
ชื่อหลักวัดพระธาตุหนองสามหมื่น
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลบ้านแก้ง
อำเภอภูเขียว
จังหวัดชัยภูมิ
ภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 16.378267
Long : 102.042555
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 48 Q
Hemisphere : N
E : 184061.68
N : 1813078.6
ตำแหน่งงานศิลปะกึ่งกลางของพื้นที่โบราณสถานปัจจุบัน

ประวัติการสร้าง

ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง แต่จากรูปแบบงานศิลปกรรมสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 21 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ส่วนเหนือเรือนธาตุขึ้นไปอาจมีการบูรณะเพิ่มเติมในพุทธศตวรรษที่ 24

กระบวนการสร้าง/ผลิต

ก่ออิฐถือปูน

ประวัติการอนุรักษ์

ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 24 วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 พระธาตุหนองสามหมื่นได้รับการขุดแต่งและบูรณะจนแล้วเสร็จระหว่างปี พ.ศ. 2531 – 2533

ลักษณะทางศิลปกรรม

เจดีย์อยู่ในผังเพิ่มมุม มีลายประทักษิณด้านล่างรองรับฐานสิงห์สองฐานต่อด้วยฐานบัวคว่ำบัวหงายคาดลูกแก้วอกไก่ 1 เส้น เรือนธาตุตกแต่งด้วยลายกาบบน-กาบล่าง มีการประดับพระพุทธรูปภายในซุ้ม เหนือขึ้นไปเป็นหลังคาลาด เรือนชั้นซ้อนมีการจำลองเรือนธาตุขึ้นไปและมีการเพิ่มปราสาทจำลองหรือยอดซุ้มเหนือหลังคาทั้ง 4 ด้าน ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยม

ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

เจดีย์ที่มีการผสมผสานหลากศิลปะเข้าด้วยกัน

ข้อสังเกตอื่นๆ

เจดีย์องค์นี้แสดงลักษณะที่ผสมผสานกันของหลายศิลปะ ได้แก่ ศิลปะอยุธยา คือ การใช้ฐานสิงห์ ศิลปะล้านนา คือ การใช้หลังคาเอนลาด การจำลองเรือนธาตุซ้อนไว้ด้านบน การตกแต่งด้วยลายกาบบน-กาบล่าง และศิลปะล้านช้าง คือ การเพิ่มปราสาทจำลองหรือยอดซุ้มเหนือหลังคาทั้ง 4 ด้านและยอดเจดีย์ทรงระฆังสี่เหลี่ยมหรือบัวเหลี่ยม

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะล้านช้าง
อายุปลายพุทธศตวรรษที่ 21 – ต้นพุทธศตวรรษที่ 22
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

ตำนานฉบับหนึ่งกล่าวถึงการสร้างพระธาตุหนองสามหมื่นว่า ถูกสร้างโดยพระสังข์ทองเพื่อเป็นอนุสรณ์โดยบรรจุพระอัฐิและทรัพย์สมบัติอันมีค่าของปู่ย่าตายาย พร้อมทั้งก่อพระธาตุองค์อื่นด้วย และเดิมเคยมีกระดิ่งขนาดใหญ่แขวนอยู่บนยอดพระธาตุด้วย

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

1. พระธาตุอานนท์ วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร เจดีย์ที่มีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากพระธาตุหนองสามหมื่นแต่มีลักษณะที่พัฒนาขึ้นไปอีก คือ มีขนาดเล็ก ทรวดทรงชะลูดอย่างมาก และส่วนยอดของปราสาทจำลองสูงเท่ากับองค์ระฆัง

2. พระธาตุถาดทองหรือพระธาตุตาดทอง จังหวัดยโสธร เจดีย์ที่มีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลจากพระธาตุหนองสามหมื่นแต่มีลักษณะที่พัฒนาขึ้นไปอีก คือ มีขนาดเล็ก ทรวดทรงชะลูดอย่างมาก และส่วนยอดของปราสาทจำลองสูงเท่ากับองค์ระฆัง

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-08-13
ผู้จัดทำข้อมูลรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง
บรรณานุกรม

เกศินี ศรีวงค์ษา. “เจดีย์ทรงปราสาทยอดในศิลปะล้านช้างภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย : กรณีศึกษากลุ่มพระธาตุบังพวน” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.

กรมศิลปากร กองโบราณคดี ฝ่ายควบคุมดูแลโบราณสถาน. ทะเบียนโบราณสถานทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2 กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2533.

เติม วิภาคย์พจนกิจ. ประวัติศาสตร์อีสาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2542.

ศักดิ์ชัย สายสิงห์. เจดีย์ พระพุทธรูป ฮูปแต้ม สิม ศิลปะลาวและอีสาน. กรุงเทพฯ: มิวเซียมเพรส, 2555.