ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จิตรกรรมเรื่องนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี
คำสำคัญ : จิตรกรรมฝาผนัง, พระพุทธบาท, จิตรกรรมเรื่องนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี
ชื่อหลัก | วัดมหาสมณาราม จ.เพชรบุรี |
---|---|
ชื่ออื่น | วัดเขาวัง |
ประเภทงานศิลปะ | จิตรกรรม |
ตำบล | คลองกระแชง |
อำเภอ | เมือง |
จังหวัด | เพชรบุรี |
ภาค | ภาคตะวันตก |
ประเทศ | ไทย |
พิกัดภูมิศาสตร์ ค่าองศาทศนิยม | Lat : 13.110932 Long : 99.939032 |
พิกัดภูมิศาสตร์ พิกัดกริด | Zone : 47 P Hemisphere : N E : 601789.07 N : 1449592.08 |
ตำแหน่งงานศิลปะ | ผนังภายในอุโบสถ |
ประวัติการสร้าง | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดเขาสมณซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้กับพระนครคีรีหรือเขาวังและเคยได้เสด็จไปเมื่อทรงผนวช ภายหลังได้พระราชทานนามว่าวัดมหาสมณาราม สันนิษฐานว่าภาพจิตรกรรมฝาผนังอาจเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4-5 |
---|---|
กระบวนการสร้าง/ผลิต | ภาพเขียนสีฝุ่น |
ลักษณะทางศิลปกรรม | ภาพเขียนสีฝุ่นแสดงภาพมณฑปพระพุทธบาทที่อยู่ด้านบนกึ่งกลางภาพ แวดล้อมด้วยอาคารต่างๆภายในวัด เบื้องล่างลงมาเป็นภาพการเดินทางของผู้คนที่มุ่งหน้าไปยังพระพุทธบาทด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เดินทางด้วยเรือ สัตว์เทียมเกวียน และเดินเท้า มีทั้งภิกษุและฆราวาส ผ่านเส้นทางที่เป็นป่าเขา การเขียนภาพใช้เทคนิคอย่างตะวันตก ให้แสงเงา แสดงถึงมิติและระยะใกล้-ไกล ไม่ใช้เส้นสินเทาในการแบ่งภาพ แต่ใช้แนวพุ่มไม้ และแถวการเดินทางของผู้คนเป็นเส้นนำสายตาไปสูภาพมณฑปพระพุทธบาท ภาพต้นไม้ใช้การระบายให้เป็นพุ่มและไล่สีอ่อนแก่ เช่นเดียวกับภาพท้องฟ้าที่มีปุยเมฆขาวและแรเงาให้เห็นบรรยากาศของท้องฟ้าอย่างเป็นธรรมชาติ |
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ | จิตรกรรมฝาผนังด้านตรงข้ามพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถวัดมหาสมณาราม จ.เพชรบุรี เป็นภาพที่เล่าถึงเทศกาลที่มหาชนขึ้นไปบูชาพระพุทธบาท จ.สระบุรีที่จัดขึ้นกลางเดือน 3 ของทุกปี โดยเชื่อว่าเป็นงานที่มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าถึงเหตุที่มีการจัดงานนมัสการรอยพระพุทธบาทในช่วงฤดูแล้งไว้ว่า เป็นเพราะการเดินทางสะดวกกว่าฤดูอื่น เนื่องจากพื้นดินแห้งและไม่มีไข้ป่าชุกชุมเช่นในฤดูฝน อีกทั้งไม่ใช่ฤดูกาลเพาะปลูก ชาวบ้านจึงนำเกวียนและสัตว์พาหนะต่างๆ ออกรับจ้างพาผู้คนเดินทางไปนมัสการรอยพระพุทธบาทได้สะดวก รวมทั้งมีการนำของป่าและสินค้าในท้องถิ่นมาค้าขายแลกเปลี่ยนกับผู้มาเยือน ภาพวิถีชีวิตเหล่านี้ปรากฏรายละเอียดอย่างชัดเจนในบริเวณตอนล่างของภาพที่มีผู้คนมากมายต่างเดินทางมุ่งหน้าไปยังมณฑปพระพุทธบาท โดยอาศัยพาหนะต่างๆ ทั้งช้าง ม้า โคเทียมเกวียน หรือแม้แต่การเดินเท้า ผ่านไปตามเส้นทางที่มีร้านขายสินค้าของคนในพื้นถิ่น โดยคำนึงถึงการเขียนภาพอย่างสมจริงไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิประเทศ ผู้คนและพาหนะต่างๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นในเทศกาลไหว้พระพุทธบาทที่เคยเป็นมาในอดีต |
ยุค | ประวัติศาสตร์ |
อายุ | พุทธศตวรรษที่ 25 |
ศาสนา | พุทธ |
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้อง | พุทธศาสนาเถวรวาท |
รูปแบบลิขสิทธิ์ | Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND) |
---|---|
เจ้าของสิทธิ์ | ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) |
วันที่จัดทำข้อมูล | 2016-09-15 |
ผู้จัดทำข้อมูล | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ |
บรรณานุกรม | พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์. “ธุดงค์ จาริก ประพาส ในรัชกาลที่ 4 : การเดินทางกับศิลปกรรมในพระราชประสงค์”ในความคิด ความหมาย ความเชื่อของการจาริกยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์. เอกสารประกอบโครงการเสวนาวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ "จาริกแสวงบุญ : เหตุต้น-ผลตามในศิลปวัฒนธรรมไทยและเพื่อนบ้าน"กรุงเทพฯ : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2556. พนิตา ปั้นเทียน. “จิตรกรรมฝาผนังที่พระอุโบสถ วัดมหาสมณาราม จังหวัดเพชรบุรี” (สารนิพนธ์ศิลปศาสตรบัณฑิต ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2526). |