ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 

อุโบสถวัดร่องขุ่น

คำสำคัญ : อุโบสถวัดร่องขุ่น, วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย, พระอุโบสถ

ชื่อหลักวัดร่องขุ่น จ.เชียงราย
ประเภทงานศิลปะสถาปัตยกรรม
ตำบลป่าอ้อดอนชัย
อำเภอเมือง
จังหวัดเชียงราย
ภาคภาคเหนือ
ประเทศไทย
พิกัดภูมิศาสตร์
ค่าองศาทศนิยม
Lat : 19.824081
Long : 99.763128
พิกัดภูมิศาสตร์
พิกัดกริด
Zone : 47 Q
Hemisphere : N
E : 579917.35
N : 2192194.75
ตำแหน่งงานศิลปะเขตพุทธาวาส

ประวัติการสร้าง

วัดร่องขุ่นสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 โดยขุนอุดมกิจเกษมราษฎร์ ต่อมามีการก่อสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2507 และ 2538 ก่อนที่อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จะทำการบูรณะซ่อมแซมและออกแบบใหม่ โดยใช้เงินทุนส่วนตัว เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 และยังคงมีการสร้างและซ่อมแซมอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

กระบวนการสร้าง/ผลิต

-

ประวัติการอนุรักษ์

-

ลักษณะทางศิลปกรรม

มีสะพานข้ามไปยังอุโบสถซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี ใช้โทนสีขาว เงินและทอง ตัวอาคารทั้งหมดประดับหน้าบันด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์และองค์ประกอบสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่เป็นงานปูนปั้นประดับกระจกทั้งสิ้น ทั้งลายเครือเถา กระหนกเปลว ประติมากรรมรูปสัตว์ในคัมภีร์ผสมผสานกับจินตนาการของศิลปิน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่งปางแสดงธรรม ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติที่มีการนำเสนอในรูปแบบใหม่ผสมผสานกับรูปทรงเชิงนามธรรมทั้งทางโลกและทางธรรม

อุโบสถหลังนี้มีการผสมผสานหลักธรรมทางพุทธศาสนาเข้ากับทั้งตัวอาคาร ประติมากรรมและสี เช่น

สีขาว หมายถึง พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า

กระจกขาว หมายถึง พระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้า

สะพาน หมายถึง การเดินข้ามวัฏสงสารสู่พุทธภูมิ

สันของสะพานซึ่งประดับด้วยรูปอสูรอมกันข้างละ 8 ตัว หมายถึง อุปกิเลส 18

กึ่งกลางสะพาน หมายถึง เขาพระสุเมรุ

ดอกบัวทิพย์ 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นพระอุโบสถ หมายถึง ซุ้มพระอริยเจ้า 4 คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์

บันไดทางขึ้น 3 ขั้น หมายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ช่อฟ้าบนสันหลังคา หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา
ข้อมูลที่สำคัญทางวิชาการ

วัดร่องขุ่นเป็นผลงานการออกแบบของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ โดยได้แรงบันดาลใจจากวัดมิ่งเมือง จ.น่าน อุโบสถและบริเวณแวดล้อมได้รับการออกแบบให้เกี่ยวข้องกับแนวคิดและคติความเชื่อในพุทธศาสนา เช่น สีขาว หมายถึง พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า สะพานที่เชื่อมต่อไปยังอุโบสถหมายถึงการเดินข้ามจากวัฏสงสารสู่พุทธภูมิ โดยคติความเชื่อต่างๆ ได้ผสมผสานให้เข้ากับรสนิยมของผู้ออกแบบทำให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเชียงราย

ข้อสังเกตอื่นๆ

-

ยุคประวัติศาสตร์
สมัย/รูปแบบศิลปะรัตนโกสินทร์
อายุพุทธศตวรรษที่ 26
ศาสนาพุทธ
ลัทธิ/นิกายเถรวาท
ศาสนา/ความเชื่อที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาเถรวาท
ตำนานที่เกี่ยวข้อง

-

งานศิลปะที่เกี่ยวข้อง

วิหาร วัดมิ่งเมือง จังหวัดน่าน วิหารสีขาวที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. 2527 ซึ่งวัดร่องขุ่นถอดแบบมาจากวัดแห่งนี้

รูปแบบลิขสิทธิ์Attribution-NonCommercial-NoDerivs (CC BY-NC-ND)
เจ้าของสิทธิ์ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
วันที่จัดทำข้อมูล2016-03-30
ผู้จัดทำข้อมูลพัสวีสิริ เปรมกุลนันท์
บรรณานุกรม

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์. สร้างพุทธศิลป์เพื่อแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง, 2549.

จุฬามาศ อินทรรำพันธ์. “แนวความคิดเรื่องไตรภูมิที่สะท้อนในงานศิลปะและสถาปัตยกรรม วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย”. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, 2552.

หัสภพ ตั้งมหาเมฆ. ศิลปะไทยร่วมสมัย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์. กรุงเทพฯ: อมรินทร์, 2556.