ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 497 ถึง 504 จาก 941 รายการ, 118 หน้า
เจดีย์นาคยน
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์นาคยน

เจดียวิหารสมัยพุกามตอนต้น ซึ่งนิยมเรือนธาตุทรงเตี้ยและมืดทึบ ด้วยเหตุนี้ หน้าต่างโดยรอบของเจดีย์จึงปิดทึบไปด้วยแผง ด้านบนปรากฏหลังคาลาดซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์ในสมัยพุกามตอนต้น อย่างไรก็ตาม เจดีย์องค์นี้มีแนวโน้มไปสู่พุกามตอนปลายแล้ว เนื่องด้วยเคล็กที่ซุ้มมีขนาดค่อนข้างยืดสูง ด้านบนสุดเป็นศิขระแบบที่ปรากฏซุ้มเรียงกันที่เก็จประธาน ศิขระแบบนี้ปรากฏเสมอๆในรัชกาลพระเจ้าจันสิตถา ดังปรากฏเช่นกันที่อานันทเจดีย์

อานันทเจดีย์
พุกาม
สถาปัตยกรรมอานันทเจดีย์

อานันทเจดีย์ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของเจตียวิหารหรือกู่ในศิลปะพุกามตอนต้น รัชกาลพระเจ้าจันสิตถาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นเจดีย์ที่อยู่ในผังครรภคฤหะสี่ทิศ มณฑปสี่ทิศ ซึ่งทำให้แผนผังกายเป็นกากบาท ตรงกลางปรากฏแกนกลางทึบขนาดใหญ่รับน้ำหนักของยอดศิขระ แผนผังแบบนี้ปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ในศิลปะปาละ เช่นปหรรปุระและวิกรมศิลา ภายนอกปรากฏหลังคาลาดขนาดใหญ่ที่ประดับสถูปิกะขนาดเล็กทั้งสี่ทิศ หลังคาลาดนี้รองรับศิขระซึ่งประดับซุ้มที่เก็จประธาน โดยทั้งหมดนี้คล้ายคลึงกับหลังคาลาดและศิขระของเจดีย์นาคยน อย่างไรก็ตาม หน้าต่างที่ไม่มีแผงกั้นของอานันทเจดีย์ ย่อมทำให้แสงสามารถเข้าไปภายในอาคารได้มากกว่าเจดีย์ในระยะก่อนหน้า

ทางประทักษิณภายในอานันทเจดีย์
พุกาม
สถาปัตยกรรมทางประทักษิณภายในอานันทเจดีย์

ภายในอานันทเจดีย์ ปรากฏทางประทักษิณภายในซ้อนกันถึง 2 ชั้น ทางประทักษิณเหล่านี้วนล้อมรอบแกนกลางและครรภคฤหะ ที่ผนังของทางประทักษิณประดับภาพสลักพุทธประวัติจำนวนมาก เพื่อให้ผู้เดินประทักษิณได้เรียนรู้พุทธประวัติไปในตัว ด้านบนปรากฏหลังคาครึ่งวงโค้ง ซึ่งได้แก่หลังคาลาดเมื่อมองจากภายนอกนั่นเอง ทางประทักษิณภายในปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ศิลปะปาละ เช่นปหรรปุระและวิกรมศิลา

เจดีย์กุพโยคจีที่มยิงกบา
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์กุพโยคจีที่มยิงกบา

เจดียวิหารสมัยพุกามตอนต้น ซึ่งนิยมเรือนธาตุทรงเตี้ยและมืดทึบ ด้วยเหตุนี้ หน้าต่างโดยรอบของเจดีย์จึงปิดทึบไปด้วยแผง รูปแบบหน้าต่างเองก็ประดับไปด้วยเคล็กสั้นๆตามแบบพุกามตอนต้น ด้านบนปรากฏหลังคาลาดซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของเจดีย์ในสมัยพุกามตอนต้น ด้านบนสุดปรากฏศิขระในลักษณะเดียวกับเจดีย์นาคยนและอานันทเจดีย์ คือศิขระที่มีซุ้มประดับที่เก็จประธาน อันเป็นรูปแบศิขระที่นิยมในรัชกาลนี้

เจดีย์สัพพัญญู
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์สัพพัญญู

เจดีย์องค์นี้ถือเป็นเจตีวิหารสองชั้นแห่งแรกในศิลปะพุกาม โดยปรากฏกการซ้อนกันของเรือนธาตุชั้นล่างกับชั้นบน ชั้นล่างเป็นแกนกลางขนาดใหญ่รับน้ำหนักเจตียวิหารในผังแบบครรถคฤหะ-มณฑปด้านบน เจตียวิหารสองชั้นนี้จะได้รับความนิยมต่อมาในศิลปะพุกามตอนปลาย โดยเจดีย์สำคัญที่ใช้เจดีย์สัพพัญญูเป็นต้นแบบ ได้แก่เจดีย์สูลามณีและเจดีย์ติโลมินโล

เจดีย์ชเวกูจี
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวกูจี

เจดีย์ชเวกูจี ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างศิลปะพุกามตอนต้นที่นิยมความมืดทึบและศิลปะพุกามตอนปลายที่นิยมความสูงโปร่งและสว่าง โดยในระยะนี้ เจดีย์มีการเจาะประตูที่กึ่งกลางด้านของเรือนธาตุ และยังเจาะหน้าต่างโดยไม่มีแผงมากั้นแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้ภายในสว่างกว่าเจดีย์ในรัชกาลพระจันสิตถา ยิ่งกว่านั้น ชั้นหลังคาก็มิได้อยู่ในรูปของหลังคาลาดอีกต่อไปแล้ว แต่กลายเป็นชั้นหลังคาบานบัวซ้อนกันหลายชั้นในรูปของปีระมิดขั้นบันได ซึ่งแสดงแนวโน้มไปสู่รูปแบบชั้นหลังคาในศิลปะพุกามตอนปลายอย่างชัดเจน

เจดีย์ธรรมยังจี
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ธรรมยังจี

เจดีย์ธรรมยังจี เป็นเจดีย์ที่พยายามจำลองแบบอานันทเจดีย์อย่างชัดเจน คือ มีการสร้างเจดีย์ในผังกากบาท ด้านบนมีหลังคาลาดรองรับศิขระ ภายในมีทางประทักษิณและมีมณฑปสี่ทิศ อย่างไรก็ตาม ทางประทักษิณชั้นในสุดและครรภคฤหะสี่ทิศกลับถูกถมให้กลายเป็นแกนกลาง เปลี่ยนใจในภายหลังนี้อาจแสดงความไม่มั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างหรือความไม่แน่ใจของสถาปนิก

เจดีย์สูลามณี
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์สูลามณี

เป็นเจตีวิหารสองชั้นที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในศิลปะพุกาม โดยปรากฏกการซ้อนกันของเรือนธาตุชั้นล่างกับชั้นบน ชั้นล่างเป็นแกนกลางขนาดใหญ่รับน้ำหนักเจตียวิหารในผังแบบครรถคฤหะ-มณฑปด้านบน ส่วนยอดนั้นเป็นยอดศิขระเจตียวิหารสองชั้นนี้ถือเป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะพุกามตอนปลาย โดยปรากฏมาก่อนที่เจดีย์สัพพัญญูในรัชกาลพระเจ้าอลองสิทธุ และจะปรากฏต่อไปกับเจดีย์ติโลมินโลซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้านันตวงมยาด้วย