ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมธาตุวัดอาไพ
เจดีย์องค์นี้ได้รับอิทธิพลเจดีย์ทรงระฆังในศิลปะล้านนาอย่างมาก ทั้งฐานบัวที่อยู่ในผัง สี่เหลี่ยมเพิ่มมุมและมีท้องไม้กว้าง ชุดฐานรองรับองค์ระฆังในผังกลมที่ปรับเปลี่ยนมาจากบัวถลาในศิลปะล้านนา ละองค์ระฆังกลมขนาดเล็ก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เจดีย์องค์นี้คงไม่ได้สร้างขึ้นร่วมสมัยราชวงศ์มังราย แต่คงสร้างขึ้นในภายหลัง คือราวพุทธศตวรรษที่ 24 เนื่องจากเจดีย์มีขนาดเล็กและมีลวดบัวที่ปรับเปลี่ยนไปจากศิลปะล้านนามาก
สถาปัตยกรรมสิมวัดเชียงทอง
สิมวัดเชียงทอง ถือเป็นตัวอ่างอาคารในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางที่สำคัญที่สุด ลักษณะสำคัญของสิมในสกุลช่างนี้ก็คือ แผนผังอยู่ในผังเพิ่มมุมด้านหน้า ซึ่งแผนผนังดังกล่าวอาจทำให้เกิดประตูทั้งด้านหน้าและด้านข้าง หลังคามีกรอบหน้าบันที่อ่อนโค้ง แผ่ลงเกือบจอดพื้น หน้าบันประกอบด้วยม้าต่างไหมและใช้โก่งคิ้วประดับด้านล่างของหน้าบัน สิมแบบหลวงพระบางนี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกับอาคารในศิลปะล้านนา
สถาปัตยกรรมช่อฟ้าวัดเชียงทอง
สิมวัดเชียงทอง ถือเป็นสิมในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางที่สมบูรณ์ที่สุด บนสันหลังคาปรากฏ “ช่อฟ้า” หรือเขาพระสุเมรุจำลอง อันสื่อให้เห็นว่าสิมเป็นศูนย์กลางจักรวาล ช่อฟ้าประกอบด้วยเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยเสาสัตตบริภัณฑ์จำนวน 7 ลูกซึ่งมีความสูงลดหลั่นกัน ที่ขอบปรากฏเขาจักรวาล ด้านล่างปรากฏปลาอันแทนมหาสมุทร เขาพระสุเมรุในลักษณะนี้ปรากฏในจิตรกรรมเสมอๆ ทั้งในศิลปะพม่าและศิลปะไทย ซึ่งคงจะเป็นต้นแบบให้กับช่อฟ้าในศิลปะล้านช้างนั่นเอง
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูสิมวัดเชียงทอง
สิมวัดเชียงทอง ถือเป็นสิมในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางที่สมบูรณ์ที่สุด การตกแต่งภายในของสิมแห่งนี้ก็งดงามอย่างมาก คือตกแต่งไปด้วยลายคำเต็มพื้นที่ สำหรับผนังด้านหน้าแต่นี้ปรากฏลายคำเป็นรูปเทวดากำลังไหว้เจดีย์ซึงน่าจะหายถึงเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซุ้มประตูของสิมมีลักษณะตามแบบล้านช้าง ซึ่งมีลักษณะหลายประการร่วมกับศิลปะล้านนา คือ เสาซุ้มประดับด้วยลวดลายสามจุด กาบบน-กาบล่าง-ประจำยามอก ยอดปราสาทปรากฏหลังคาลาดขนาดใหญ่ 1 ชั้นซ้อนด้วยชั้นเชิงบาตรขึ้นไปอีกหลายชั้น
สถาปัตยกรรมโรงเมี้ยนโกศวัดเชียงทอง
โรงเมี้ยนโกศ ถือเป็นอาคารรุ่นหลังที่สุดที่ปรากฏ ณ วัดเชียงทอง สร้างขึ้นเพื่อใช้เก็บโกศและพระราชรถ ด้วยเหตุนี้ ผนังด้านหน้าจึงประกบด้วยแผ่นไม้จำนวนมากเพื่อการ ถอด-ประกอบได้ถ้าจำเป็นต้องเชิญรารถออกใช้ในงานพระเมรุ แผงด้านหน้ามีภาพสลักเรื่องรามเกียรติ์หลายเรื่อง เช่น เรื่องนางสีดาลุยไฟ เรื่องพระรามรบกับยักษ์ เรื่องทศกัณฑ์สู้กับนกชดายุและเรื่องทศกัณฑ์ล้ม เป็นต้น ภาพสลักเหล่านี้สลักขึ้นโดย “เพียตัน” ซึ่งเป็นช่างในราชสำนักในสมัยปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 26 โดยช่างผู้นี้มีลักษณะเฉพาะที่ต่อมาจะกลายเป็นสกุลช่างของศิลปะลาวปัจจุบันคือ มีการสลักตัวละครให้มีปริมาตรกลมกลึงตามอย่างสัจนิยม แต่สวมเครื่องละครตามแบบประเพณี และภาพสลักอยู่ท่ามกลางลายกนกซึ่งทำให้ภาพไม่มีพื้นที่ว่างเปล่า
สถาปัตยกรรมสิมวัดคีลี
สิมวัดคีลี ถือเป็นตัวอย่างสิมแบบเชียงขวางที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองหลวงพระบาง ในขณะที่สิมสกุลช่างเชียงขวางที่เมืองคูนเองกลับถูกทำลายจนหมดสิ้นจากภัยสงคราม ทำให้การศึกษาสิมในสกุลช่างเชียงขวางอาจศึกษาจากเมืองหลวงพระบางเท่านั้น ลักษณะของสิมสกุลช่างเชียงขวาง มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสิมแบบหลวงพระบางอย่างมาก ทั้งในแง่ของหน้าบันที่มีกรอบอ่อนโค้งและยาวลงมาเกือบจรดพื้น รวมถึงลักษณะหน้าบันที่เป็นกรอบไม้ต่างไหมและอย่างไรก็ตาม ประเด็นแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ในขณะที่หน้าบันของสิมสกุลช่างหลวงพระบางมักมีการแบ่งเป็น “ปีกนก” แต่สกุลช่างเชียงขวางกลับไม่แบ่งปีกนกแต่อย่างใด
สถาปัตยกรรมสิมวัดปากคาน
สิมวัดปากคาน ถือเป็นตัวอย่างของสิมแบบไทยลื้อที่ดีที่สุดในเมืองหลวงพระบาง ลักษณะของสิมแบบไทยลื้อก็คือ เป็นอาคารที่มีคอสองกว้าง และมีความสูงของหลังคาทางด้านหน้าและด้านยาวเท่ากัน สิมแบบไทยลื้อปรากฏความนิยมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลยุนนานของจีน การปรากฏสิมแบบไทยลื้อที่เมืองพลวงพระบาง แสดงให้เห็นการอพยพเคลื่อนย้ายของคนไทยลื้อจากสิบสองปันนาลงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองหลสวงพระบางแห่งนี้
สถาปัตยกรรมสิมวัดใหม่
สิมวัดใหม่ มีลักษณะของการซ้อนชั้นหลังคาที่โดดเด่น อาคารอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เกือบจะคล้ายกับสี่เหลี่ยมจัตุรัส หลังคาชั้นบนสุดซ้อนแบบ “ลอย” อยู่บนหลังคาหลัก ถัดลงมาเป็นหลังคาปีกนกที่ครอบคลุมพาไลต่อเนื่องลงมาหลายชั้น แต่ละชั้นมีคอสองสูง ด้านหน้ายังปรากฏ “หอขวาง” ซึ่งถือเป็นลักษณะที่โดดเด่นสำหรับสิมแห่งนี้