ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 17 ถึง 24 จาก 38 รายการ, 5 หน้า
วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ภายในวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามมีสถาปัตยกรรมที่สำคัญหลายแห่ง แบ่งเป็นพื้นที่เขตพุทธาวาสและสังฆาวาส ในส่วนพุทธาวาสมีอาคารสำคัญ ได้แก่ พระวิหารหลวงที่มีรูปแบบอย่างไทยประเพณี ตัวอาคารประดับด้วยหินอ่อน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องประดับเครื่องลำยอง หน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎและพระขรรค์ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า เบื้องล่างมีรูปช้างสำคัญ ขนาบด้วยฉัตร เบื้องหลังพระวิหารหลวงเป็นที่ตั้งของ ปาสาณเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานของวัด มีรูปแบบเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 สร้างจากหินอ่อน นอกจากนี้ยังมีอาคารสำคัญอื่นอีก เช่น หอพระจอม รูปแบบและแผนผังของวัดที่มีองค์ประกอบหลักอย่างเรียบง่ายคือพระวิหารและพระเจดีย์เช่นนี้ พบได้ในวัดที่สร้างขึ้นตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 4 ส่วนเขตสังฆาวาสของวัดนี้ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์นั้นมีข้อกำหนดไว้ว่าเป็นเขตหวงห้ามสำหรับสตรี

บุษบกธรรมาสน์ยอดทรงมงกุฎ
กรุงเทพมหานคร
ประติมากรรมบุษบกธรรมาสน์ยอดทรงมงกุฎ

บุษบกธรรมาสน์ยอดทรงมงกุฎประกอบด้วยส่วนฐาน ส่วนกลาง และส่วนยอด ส่วนฐานเป็นฐานสิงห์เพิ่มมุมซ้อนชั้นโดยมีท้องไม้ยืดสูง ด้านหน้ามีชั้นลดสำหรับพระสงฆ์ขึ้นสู่ธรรมาสน์ ส่วนกลางมีลักษณะโปร่ง ประกอบด้วยเสาย่อมุมไม้สิบสองที่ 4 มุมของบุษบก รองรับส่วนยอดทรงมงกุฎที่ประกอบด้วยชั้นเกี้ยวรัดเกล้าซ้อนลดหลั่น 3 ชั้น แต่ละชั้นประดับดอกไม้ไหว ถัดขึ้นไปเป็นปลียอดเรียวแหลม

ปราสาทประธานพิมาย
นครราชสีมา
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานพิมาย

ปราสาทประธานหรือปรางค์ประธานสร้างจากหินทรายสีเทา หันหน้าไปทางทิศใต้ องค์ประกอบสำคัญได้แก่ เรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุม ด้านเหนือ ตะวันออก และตะวันตกของเรือนธาตุเป็นมุขทางเข้าสู่ครรภคฤหะที่อยู่ภายใน ส่วนด้านใต้เป็นอันตราละเชื่อมต่อกับมณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสู่มณฑปทางด้านใต้ (ในอดีตทางด้านนี้น่าจะมีรูปเคารพ จึงไม่อาจเข้าไปภายในได้จริง) ตะวันออก และตะวันตก ประดับบราลีที่สันหลังคามุข อันตราละ และมณฑปหลังคาของเรือนธาตุเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกัน แต่ละชั้นจำลองย่อส่วนจากเรือนธาตุ ประดับด้วยบรรพแถลงและนาคปัก (กลีบขนุน) ยอดสุดเป็นกลศ นภศูลที่เคยมีอยู่พักหายไปแล้ว ห้องครรภคฤหะที่อยู่ในเรือนธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกแบบายน จึงไม่ใช่องค์ดั้งเดิมที่ประดิษฐานพร้อมการสร้างปราสาทประธาน มีรางน้ำมนต์หรือท่อโสมสูตรไหลออกทางมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ปราสาทพิมาย
นครราชสีมา
สถาปัตยกรรมปราสาทพิมาย

ปราสาทพิมายตั้งอยู่ศูนย์กลางเมืองพิมาย หันหน้าไปทางทิศใต้ สิ่งก่อสร้างสำคัญลำดับจากด้านหน้าไปยังปราสาทประธานมีดังนี้1. ชาลานาคราชในแผงผังกากบาท ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของชาลานาคราชมีอาคารสี่เหลี่ยม 1 หลัง เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง 2. ถัดจากชาลานาคราชเป็นโคปุระและกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน โคปุระอยู่ในผังกากบาท ประจำอยู่กึ่งกลางด้านทั้งสี่3. ถัดจากโคปุระทิศใต้ไปเป็นชาลาทางเดินยกพื้น ชาลานี้เชื่อมต่อโคปุระทิศใต้ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับโคปุระทิศใต้ของระเบียงคด เดิมทีมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องคลุมอยู่4. พื้นที่ระหว่างกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับระเบียงคดมีบรรณาลัย 2 หลัง อยู่ทางพื้นที่ด้านตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำ 4 สระอยู่ที่มุมทั้งสี่ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานด้วย5. ระเบียงคดล้อมรอบพื้นที่ศูนย์กลางอันเป็นที่ตั้งปราสาทประธาน มีโคปุระแผนผังกากบาทอยู่ที่ด้านทั้งสี่ 6. ปราสาทประธานตั้งอยู่กลางศาสนสถาน ก่อด้วยหินทรายสีเทาเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางใต้ รอบๆ ปราสาทประธานมีอาคารดังนี้ ด้านตะวันออกเฉียงใต้มีปรางค์พรหมทัต ด้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอพราหมณ์และปรางค์หินแดง ด้านตะวันออกมีส่วนฐานของอาคาร 1 หลัง น่าจะเป็นพลับพลาโถง

สิมวัดเชียงทอง
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมสิมวัดเชียงทอง

สิมวัดเชียงทอง ถือเป็นตัวอ่างอาคารในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางที่สำคัญที่สุด ลักษณะสำคัญของสิมในสกุลช่างนี้ก็คือ แผนผังอยู่ในผังเพิ่มมุมด้านหน้า ซึ่งแผนผนังดังกล่าวอาจทำให้เกิดประตูทั้งด้านหน้าและด้านข้าง หลังคามีกรอบหน้าบันที่อ่อนโค้ง แผ่ลงเกือบจอดพื้น หน้าบันประกอบด้วยม้าต่างไหมและใช้โก่งคิ้วประดับด้านล่างของหน้าบัน สิมแบบหลวงพระบางนี้มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกับอาคารในศิลปะล้านนา

ช่อฟ้าวัดเชียงทอง
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมช่อฟ้าวัดเชียงทอง

สิมวัดเชียงทอง ถือเป็นสิมในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางที่สมบูรณ์ที่สุด บนสันหลังคาปรากฏ “ช่อฟ้า” หรือเขาพระสุเมรุจำลอง อันสื่อให้เห็นว่าสิมเป็นศูนย์กลางจักรวาล ช่อฟ้าประกอบด้วยเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยเสาสัตตบริภัณฑ์จำนวน 7 ลูกซึ่งมีความสูงลดหลั่นกัน ที่ขอบปรากฏเขาจักรวาล ด้านล่างปรากฏปลาอันแทนมหาสมุทร เขาพระสุเมรุในลักษณะนี้ปรากฏในจิตรกรรมเสมอๆ ทั้งในศิลปะพม่าและศิลปะไทย ซึ่งคงจะเป็นต้นแบบให้กับช่อฟ้าในศิลปะล้านช้างนั่นเอง

ซุ้มประตูสิมวัดเชียงทอง
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมซุ้มประตูสิมวัดเชียงทอง

สิมวัดเชียงทอง ถือเป็นสิมในศิลปะล้านช้างสกุลช่างหลวงพระบางที่สมบูรณ์ที่สุด การตกแต่งภายในของสิมแห่งนี้ก็งดงามอย่างมาก คือตกแต่งไปด้วยลายคำเต็มพื้นที่ สำหรับผนังด้านหน้าแต่นี้ปรากฏลายคำเป็นรูปเทวดากำลังไหว้เจดีย์ซึงน่าจะหายถึงเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซุ้มประตูของสิมมีลักษณะตามแบบล้านช้าง ซึ่งมีลักษณะหลายประการร่วมกับศิลปะล้านนา คือ เสาซุ้มประดับด้วยลวดลายสามจุด กาบบน-กาบล่าง-ประจำยามอก ยอดปราสาทปรากฏหลังคาลาดขนาดใหญ่ 1 ชั้นซ้อนด้วยชั้นเชิงบาตรขึ้นไปอีกหลายชั้น

สิมวัดคีลี
หลวงพระบาง
สถาปัตยกรรมสิมวัดคีลี

สิมวัดคีลี ถือเป็นตัวอย่างสิมแบบเชียงขวางที่สมบูรณ์ที่สุดในเมืองหลวงพระบาง ในขณะที่สิมสกุลช่างเชียงขวางที่เมืองคูนเองกลับถูกทำลายจนหมดสิ้นจากภัยสงคราม ทำให้การศึกษาสิมในสกุลช่างเชียงขวางอาจศึกษาจากเมืองหลวงพระบางเท่านั้น ลักษณะของสิมสกุลช่างเชียงขวาง มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสิมแบบหลวงพระบางอย่างมาก ทั้งในแง่ของหน้าบันที่มีกรอบอ่อนโค้งและยาวลงมาเกือบจรดพื้น รวมถึงลักษณะหน้าบันที่เป็นกรอบไม้ต่างไหมและอย่างไรก็ตาม ประเด็นแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ในขณะที่หน้าบันของสิมสกุลช่างหลวงพระบางมักมีการแบ่งเป็น “ปีกนก” แต่สกุลช่างเชียงขวางกลับไม่แบ่งปีกนกแต่อย่างใด