ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมทับหลัง สลักภาพเล่าเรื่องพระกฤษณะปราบพระยากงส์
ทับหลังในสมัยบันทายศรีจะมีลักษณะรับอิทธิพลมาจากศิลปะเกาะแกร์ มาผสมผสานกับศิลปะพระโค กล่าวคือการทำภาพเล่าเรืองอยู่กึ่งกลางทับหลังกดทับท่อนพวงมาลัยให้โค้งลงมาอยู่ด้านล่างของทับหลัง ท่อนพวงมาลัยมีการทำลายใบไม้ตั้งขึ้น และใบไม้ห้อยลงตามอีกทั้งยังปรากฏการทำพวงอุบะแทรกอยู่ในส่วนของใบไม้ห้อยลงตามแบบศิลปะพระโค ลักษณะเด่นของทับหลังในสมัยนี้ก็คือการประดับบริเวณเสี้ยว (เศษ 1 ส่วน 4) ของท่อนพวงมาลัยด้วยรูป “ใบหน้าสัตว์ขบท่อนพวงมาลัย” ซึ่งต่อไปจะเป็นต้นแบบของเสี้ยวพวงอุบะในศิลปะบาปวน ตรงกลางของทับหลัง ปรากฏภาพเล่าเรื่องพระกฤษณะปราบพระยากงส์
ประติมากรรมหน้าบัน สลักภาพเล่าเรื่องตอนกฤษณะปราบพระยากงส์
หน้าบันมีลักษณะยืดสูงเป็นทรงสามเหลี่ยม มีกรอบซุ้มเป็นซุ้มคดโค้ง กล่าวคือมีการทำกรอบโค้งเข้าโค้งออกอย่างสวยงาม ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปนาคหลายเศียรตามแบบหน้าบันในสมัยพระนครตอนปลาย ตรงกลางหน้าบันปรากฏภาพสลักเล่าเรื่องเป็นรูปพระกฤษณะปราบพระยากงส์
ประติมากรรมหน้าบัน สลักภาพเล่าเรื่องตอนกามเทพแผลงศร
หน้าบันมีลักษณะยืดสูงเป็นทรงสามเหลี่ยม มีกรอบซุ้มเป็นซุ้มคดโค้ง กล่าวคือมีการทำกรอบโค้งเข้าโค้งออกอย่างสวยงาม ปลายกรอบซุ้มเป็นรูปนาคหลายเศียรตามแบบหน้าบันในสมัยพระนครตอนปลาย ตรงกลางหน้าบันปรากฏภาพสลักเล่าเรื่องเป็นรูปกามเทพแผลงศรใส่พระศิวะ
ประติมากรรมเสาติดผนังและเสาประดับกรอบประตู
เสาประดับกรอบประตูเป็นเสาแปดเหลี่ยมสืบมาจากสมัยพระนครตอนต้น มีการทำลวดลายใบไม้สามเหลี่ยมที่มีขนาดเล็กเรียงต่อกันเหมือนฟันปลา จึงทำให้ด้านแต่ละด้านของเสามีมากกว่า1ใบ ส่วนเสาติดผนัง ปรากฏการทำลายก้านขด และก้านต่อดอก เต็มพื้นที่ลายกลางเสา อีกทั้งยังปรากฏการแทรกภาพเล่าเรื่องลงไปในตัวเสาอีกด้วย เช่น ภาพพระศิวะ
ประติมากรรมเศียรพญานาค
นาค มักพบอยู่โดยทั่วไปในงานศิลปกรรมเขมร โดยมักเป็นองค์ประกอบของทางเดินหรือราวบันไดเสมอ โดยนาคมีเศียร 5 เศียร เศียรทั้งหมดหันหน้าตรงมีการสวมกระบังหน้าและรัศมีเป็นแผ่นเดียวกัน เป็นลักษณะตามแบบศิลปะนครวัด
ประติมากรรมภาพสลัก เล่าเรื่องกองทัพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ภาพสลักเป็นภาพสลักนูนต่ำ มีสลักภาพเต็มพื้นที่ของผนัง ประติมากรรมบุคคลมีพระพักตร์ตามแบบศิลปะบายน คือ หลับพระเนตรและยิ้มที่มุมพระโอษฐ์เล็กน้อย ไม่สวมเสื้อ มีแต่ผ้านุ่งซึ่งเป็นลักษณะของขบวนของคนทั่วไปไม่ใช่ทหาร สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกองเสบียง
ประติมากรรมนางอัปสร
นางอัปสรที่สลักอยู่บนผนัง มีพระพักตร์สี่เหลี่ยม พระพักตร์แบบศิลปะบายน กล่าวคือ หลับพระเนตรและยิ้มที่มุมพระโอษฐ์เล็กน้อย ทรงกระบังหน้า ด้านบนมีศิราภรณ์ประดับด้วยช่อดอกไม้ 3 แถว กุณฑลเป็นพู่ห้อยขนาดใหญ่ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นถือดอกไม้ ทรงผ้านุ่งยาว ด้านข้างผ้านุ่งทั้งสองด้านมีชายผ้ารูปสามเหลี่ยมคล้ายกับหางปลา ชักออกมายาวจรดพื้น ทรงเข็มขัดเป็นแผงขนาดใหญ่ประดับพู่ห้อยโดยรอบ
ประติมากรรมม้าพลาหะ
ม้าพลาหะ เป็นประติมากรรมรูปม้าขนาดใหญ่ หันหน้าเข้าสู่ตัวปราสาทประธาน ที่ประติมากรรมม้าพลาหะ ปรากฏการสลักประติมากรรมบุคคลโดยรอบ