ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 1 ถึง 8 จาก 19 รายการ, 3 หน้า
อานันทเจดีย์
พุกาม
สถาปัตยกรรมอานันทเจดีย์

อานันทเจดีย์ถือเป็นตัวอย่างสำคัญของเจตียวิหารหรือกู่ในศิลปะพุกามตอนต้น รัชกาลพระเจ้าจันสิตถาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นเจดีย์ที่อยู่ในผังครรภคฤหะสี่ทิศ มณฑปสี่ทิศ ซึ่งทำให้แผนผังกายเป็นกากบาท ตรงกลางปรากฏแกนกลางทึบขนาดใหญ่รับน้ำหนักของยอดศิขระ แผนผังแบบนี้ปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ในศิลปะปาละ เช่นปหรรปุระและวิกรมศิลา ภายนอกปรากฏหลังคาลาดขนาดใหญ่ที่ประดับสถูปิกะขนาดเล็กทั้งสี่ทิศ หลังคาลาดนี้รองรับศิขระซึ่งประดับซุ้มที่เก็จประธาน โดยทั้งหมดนี้คล้ายคลึงกับหลังคาลาดและศิขระของเจดีย์นาคยน อย่างไรก็ตาม หน้าต่างที่ไม่มีแผงกั้นของอานันทเจดีย์ ย่อมทำให้แสงสามารถเข้าไปภายในอาคารได้มากกว่าเจดีย์ในระยะก่อนหน้า

ทางประทักษิณภายในอานันทเจดีย์
พุกาม
สถาปัตยกรรมทางประทักษิณภายในอานันทเจดีย์

ภายในอานันทเจดีย์ ปรากฏทางประทักษิณภายในซ้อนกันถึง 2 ชั้น ทางประทักษิณเหล่านี้วนล้อมรอบแกนกลางและครรภคฤหะ ที่ผนังของทางประทักษิณประดับภาพสลักพุทธประวัติจำนวนมาก เพื่อให้ผู้เดินประทักษิณได้เรียนรู้พุทธประวัติไปในตัว ด้านบนปรากฏหลังคาครึ่งวงโค้ง ซึ่งได้แก่หลังคาลาดเมื่อมองจากภายนอกนั่นเอง ทางประทักษิณภายในปรากฏมาก่อนแล้วตั้งแต่ศิลปะปาละ เช่นปหรรปุระและวิกรมศิลา

เจดีย์ธรรมยังจี
พุกาม
สถาปัตยกรรมเจดีย์ธรรมยังจี

เจดีย์ธรรมยังจี เป็นเจดีย์ที่พยายามจำลองแบบอานันทเจดีย์อย่างชัดเจน คือ มีการสร้างเจดีย์ในผังกากบาท ด้านบนมีหลังคาลาดรองรับศิขระ ภายในมีทางประทักษิณและมีมณฑปสี่ทิศ อย่างไรก็ตาม ทางประทักษิณชั้นในสุดและครรภคฤหะสี่ทิศกลับถูกถมให้กลายเป็นแกนกลาง เปลี่ยนใจในภายหลังนี้อาจแสดงความไม่มั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างหรือความไม่แน่ใจของสถาปนิก

เจดีย์จอกตอจี
อมรปุระ
สถาปัตยกรรมเจดีย์จอกตอจี

เจดีย์จอกตอจีถือเป็นเจดีย์จำลองอานันทเจดีย์ที่งดงามที่สุดในศิลปะอมรปุระ เจดีย์มียอดศิขระซ้อนด้วยยอดเจดีย์เช่นเดียวกับศิลปะพุกาม นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการแบ่งเก็จตามแบบศิขระพุกามอีกด้วย ที่ด้านทั้งสี่ปรากฏมุขยื่นออกมาสี่ทิศและลวดลายหน้าบันที่ประดับด้วยมกรและเคล็กตั้งตรงตามแบบพุกาม อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการตกแต่งอื่นๆ กลับแตกต่างไปจากศิลปะพุกามพอสมควร อนี่ง ศิลปะอมรปุระ-มัณฑเล มีความพยายามในการเลียนแบบศิลปะพุกามอย่างมาก ดังปรากฏในหลายตัวอย่าง แสดงให้เห็นว่าสถาปนิกชาวพม่าในสมัยหลังยกย่องศิลปะพุกามว่าเป็นจุดสูงสุดของศิลปะพม่า

ภาพวาดจำลองเจดีย์จอกตอจี
อมรปุระ
ประติมากรรมภาพวาดจำลองเจดีย์จอกตอจี

ในศิลปะอมรปุระ-มัณฑเล หรือสมัยคองบองตอนปลาย ปรากฏแนวความคิดเรื่องสัจนิยมมากขึ้นเนื่องด้วยอิทธิพลตะวันตก ด้วยเหตุนี้ จิตรกรรมการเขียนจำลองภาพเจดีย์จอกตอจีเองจึงถูกเขียนขึ้นเพื่อบ่งบอกว่าเป็นภาพเมืองอมรปุระเอง นอกจากนี้การเขียนแสงเงาอย่างสมจริง รวมถึงทิวทัศน์ด้านหลังที่มีระยะใกล้-ไกลตามหลักทัศนียวิทยา ก็แสดงการเปลี่ยนแปลงในด้านความคิดของจิตรกรในระยะนี้เช่นกัน

พระพุทธบาทบนเพดาน
อมรปุระ
จิตรกรรมพระพุทธบาทบนเพดาน

ดูเหมือนว่าจิตรกรที่เจดีย์จอกตอจีมีความคิดที่ก้าวหน้าในการเขียนภาพจักรวาลวิทยาตามแบบสมัยใหม่ โดยการจัดดาวต่างๆเป็นหมู่ดาวตามแบบสมัยใหม่ มีการวาดภาพเพื่อให้สามารถจินตนาการได้ง่ายว่าหมู่ดาวต่างๆคือหมู่ดาวอะไร และมีการเขียนชื่อกำกับไว้ด้วย การวาดหมู่ด้าวไว้ที่เจดีย์จอกตอจี อาจเพื่อให้เจดีย์องค์นี้กลายเป็นศูนย์กลางจักรวาลอย่างแท้จริง

เทวดาด้านบนเพดาน
อมรปุระ
จิตรกรรมเทวดาด้านบนเพดาน

จิตรกรรมของจอกตอจีมีประเด็นอิทธิพลไทยอย่างชัดเจนในหลายเครื่อง โดยเฉพาะการเขียนภาพเทวดาแบบไทยและหน้ายักษ์ตามแบบไทยซึ่งแสดงการเขียนมงกุฎ กรรเจียกและพรายโอษฐ์ตามแบบหัวโขนไทยอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เป็นไปได้ที่จิตรกรรมดังกล่าวอาจวาดขึ้นโดยช่างผู้เป็นลูกหลานของชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าจากคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง

ภาพบุคคลเหาะ
อมรปุระ
จิตรกรรมภาพบุคคลเหาะ

เนื่องด้วยอิทธิพลตะวันตก จิตรกรรมที่เจดีย์จอกตอจีจึงแสดงภาพเทวดา/ฤๅษีเหาะปะปนกับคิวปิด (cupid) ตามแบบตะวันตก ดอกไม้และลวดลายพันธุ์พฤกษาเองก็ประกอบไปด้วยใบอะแคนธัสตามแบบตะวันตกเช่นกัน รวมถึงทัศนียวิทยาของภูเขาที่เป็นฉากหลังก็แสดงความเกี่ยวข้องกับศิลปะตะวันตกอย่างมาก