ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 57 ถึง 64 จาก 210 รายการ, 27 หน้า
ปราสาทเมืองสิงห์
กาญจนบุรี
สถาปัตยกรรมปราสาทเมืองสิงห์

ปราสาทเมืองสิงห์ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ฉาบปูนและประดับด้วยปูนปั้นซึ่งปัจจุบันหลุดล่วงไปเกือบหมดแล้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออกรูปแบบปราสาทมีลักษณะเป็นกลุ่มอาคารตั้งอยู่บนฐานยกพื้นสูง ปราสาทประธานตั้งอยู่กึ่งกลางของฐานยกพื้น ยอดปรักหักพังหมดแล้ว ด้านหน้าปราสาทประธานทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีบรรณาลัยตั้งอยู่ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด กลางด้านทั้งสี่ของระเบียงคดเป็นโคปุระที่ทำยอดเป็นทรงปราสาท ด้านหน้าทางทิศตะวันออกของฐานยกพื้นมีลานศิลาแลง เดิมทีคงเคยมีหลังคาเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องคลุมอยู่ แต่ปัจจุบันได้ปรักหักพังหมดแล้ว ถัดออกไปทางทิศตะวันออกมีร่องรอยของโคปุระ ทางด้านเหนือและใต้ของโคปุระเชื่อมต่อกับแนวกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน เบื้องหน้าของโคปุระมีชาลารูปกากบาท

ปราสาทพระเทพบิดร
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมปราสาทพระเทพบิดร

อาคารทรงปราสาทจัตุรมุขยอดปรางค์ มุขหน้าเป็นมุขลดโถงอยู่ทางทิศตะวันออก ตัวอาคารประดับกระเบื้องเคลือบลายพุ่มข้าวบิณฑ์บนพื้นสีฟ้าเข้ม หลังคาซ้อนชั้นประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง มุงกระเบื้องเคลือบสี ส่วนยอดเป็นทรงปรางค์ทำด้วยปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสี หน้าบันทั้ง 4 ด้านประดับตราพระบรมราชสัญลักษณ์ 4 รัชกาล ได้แก่ หน้าบันมุขทิศเหนือเป็นรูปอุณาโลม ในรัชกาลที่ 1 มุขทิศใต้รูปครุฑยุดนาค ในรัชกาลที่ 2 มุขทิศตะวันตกรูปพระวิมาน ในรัชกาลที่ 3 และมุขทิศตะวันออกรูปพระมหามงกุฎ ในรัชกาลที่ 4 ซุ้มประตูและหน้าต่างมีเครื่องยอดทรงมงกุฎปิดทองประดับกระจก ผนัง 2 ข้างของบานประตูและหน้าต่างประดับลายปูนปั้นปิดทองรูปตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในรัชกาลที่ 1-5

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทมีแผนผังเป็นอาคารทรงจัตุรมุขโถง ตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ด้านนอกฉาบผนังเรียบทาสีขาว หลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงจตุรมุขซ้อนชั้น ประดับเครื่องลำยองโดยปลายกรอบหน้าบันมีองค์ประกอบที่มีลักษณะเด่น เรียกว่านาคเบือน หลังคาพระที่นั่งมุงกระเบื้องเคลือบสีเขียวขอบสีส้ม ส่วนบนของเครื่องหลังคาประดับเรือนยอดแบบพระมหาปราสาท มุขด้านเหนือมีมุขเด็จยื่นมาทางด้านหน้าซึ่งประดิษฐานบุษบก มุขด้านใต้ภายในพระที่นั่งเจาะผนังเป็นพระที่นั่งบุษบกซึ่งสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 4 มุขทิศตะวันตกสำหรับประดิษฐานพระโกศพระบรมศพของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ชั้นสูง มีทางเชื่อมไปยังศาลาเปลื้องเครื่องที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกมุขทิศตะวันออกมีทางเชื่อมไปยังพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท ซุ้มพระทวารและซุ้มบัญชรเป็นเรือนยอด ภายในพระที่นั่งตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังลายเทพนมพุ่มข้าวบิณฑ์ ประดับดาวเพดานไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาท

พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์ปราสาทมีแผนผังเป็นทรงจัตุรมุข โดยด้านทิศเหนือและทิศใต้เป็นมุขยาว ส่วนทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นมุขสั้น หลังคาซ้อนชั้นทำด้วยเครื่องไม้ประดับเครื่องลำยอง ปิดทองประดับกระจกมุงกระเบื้องดาดดีบุก ส่วนกลางชั้นหลังคาประดับเรือนยอดแบบพระมหาปราสาท หน้าบันพระที่นั่งเป็นรูปเทวดาประทับยืนบนแท่น พระหัตถ์ซ้ายถือพระขรรค์ สองข้างมีเทพนม เสารับโครงสร้างพระที่นั่งปิดทองประดับกระจก มีบัวหัวเสาเป็นบัวแวง พระที่นั่งอาภรณ์พิโมกข์เป็นพระที่นั่งโถง ไม่มีผนัง ด้านหน้ามีบันไดทอดมายังเกยสำหรับเทียบพระราชยาน

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทเป็นสถาปัตยกรรมแบบยุโรป สูง 3 ชั้น แบ่งเป็น 3 มุข โดยมีบริเวณที่เรียกว่า มุขกระสันเชื่อมต่อถึงกันจากด้านตะวันออกถึงตะวันตก มุขทั้ง 3 รองรับเครื่องหลังคาทรงปราสาทยอดส่วนหลังคาและยอดพระที่นั่งเป็นทรงปราสาทยอดแบบไทยประเพณี แต่ด้วยการประกอบเข้ากับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก จึงทำให้มีสัดส่วนที่ต่างไปจากพระมหาปราสาทองค์อื่น เช่น ความเอียงลาดของหลังคาที่น้อยลง เครื่องลำยองที่มีขนาดอ้วนและสั้นกว่าปกติ เป็นต้นมุขกลางมีมุขเด็จสำหรับเสด็จออก ที่พระเฉลียงของมุขเด็จประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแบบเหมือนจริงทำด้วยโมเสกตัวอาคารตกแต่งด้วยศิลปะตะวันตกยุคเรเนสซองส์ ประดับช่องหน้าต่างวงโค้งที่ชั้นบน ส่วนชั้นที่สองเป็นช่องหน้าต่างในกรอบสี่เหลี่ยม คั่นจังหวะด้วยเสาโครินเธียนติดผนัง รายละเอียดทางสถาปัตยกรรมมีความเปลี่ยนแปลงไปจากพระมหาปราสาทแบบไทยประเพณี กล่าวคือ มีการประดับสัญลักษณ์ต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยไม่ใช้รูปนารายณ์ทรงครุฑอีกต่อไป แต่ได้ใช้รูปสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น พระจุลมงกุฎหรือพระเกี้ยวประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า รองรับด้วยช้างสามเศียรซึ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปจักรและตรีล้อมด้วยสายสังวาลนพรัตน์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อความหมายถึงพระราชวงศ์จักรี รวมทั้งยังประดับตราประจำแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5

โลหะปราสาท
กรุงเทพมหานคร
สถาปัตยกรรมโลหะปราสาท

โลหะปราสาทเป็นอาคารทรงปราสาทก่ออิฐถือปูนสูง 3 ชั้นในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ประดับส่วนยอดด้วยโลหะ มีจำนวนทั้งสิ้น 37 ยอดภายในโลหะปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด เดิมมีแกนกลางหลักเป็นซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาท โดยเจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้นไปสู่ชั้นบน ต่อมาเมื่อได้รับการปฏิสังขรณ์จึงเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

วัดไชยวัฒนาราม
พระนครศรีอยุธยา
สถาปัตยกรรมวัดไชยวัฒนาราม

สภาพปัจจุบันของวัดไชยวัฒนารามหลงเหลือให้เห็นได้เฉพาะส่วนพุทธาวาส อาคารส่วนใหญ่ในเขตพุทธาวาสวางอยู่บนฐานไพทีขนาดใหญ่ สถาปัตยกรรมหลักประกอบด้วยปรางค์เป็นประธานของวัด ที่มุมทั้งสี่ของปรางค์ประธานมีปรางค์ขนาดเล็กมุมละ 1 องค์ ทั้งหมดล้อมรอบด้วยระเบียงคด กลางด้านและมุมของระเยงคดมีเมรุทิศเมรุราย ด้านหน้าหรือด้านตะวันออกเป็นพระอุโบสถ ทางเหนือและใต้ของพระอุโบสถมีเจดีย์เพิ่มมุมหรือย่อมุมทิศละ 1 องค์ สร้างขึ้นบนพื้น

กลุ่มปราสาทประธานปราสาทเมืองต่ำ
บุรีรัมย์
สถาปัตยกรรมกลุ่มปราสาทประธานปราสาทเมืองต่ำ

กลุ่มปราสาทประธานของปราสาทเมืองต่ำประกอบด้วยปรางค์ 5 หลัง จัดวางเป็น 2 แถว แถวหน้า 3 หลัง แถวหลัง 2 หลังในตำแหน่งสับหว่างกับแถวหน้า ปรางค์ทั้ง 5 หลังหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานไพทีศิลาแลงเดียวกัน ปรางค์หลังกลางของแถวหน้าเป็นประธานของกลุ่ม สภาพพังทลายลงแล้ว แต่จากส่วนฐานที่เหลืออยู่เห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าอีก 4 หลังอย่างชัดเจน ปรางค์อีก 4 หลังขนาดเท่าๆกัน ฐานเป็นศิลาแลง เรือนธาตุและยอดซ้อนชั้นก่ออิฐฉาบปูน ทุกหลังมีประตูทางเข้าสู่ครรภคฤหะเพียงด้านตะวันออกด้านเดียว ภายในครรภคฤหะเหลือแต่เพียงฐานประดิษฐานรูปเคารพ จึงไม่อาจทราบได้ว่าแต่ละหลังเคยประดิษฐานเทพเจ้าองค์ใด