ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมภายในโบสถ์ซานออกุสติน
ภายในโบสถ์ซานออกุสติน มะนิลา เพดานเป็นวงโค้ง (Tunnel Vault) วาดภาพสถาปัตยกรรมลวงตาบนเพดาน (Trompe l’oeil) จิตรกรรมนี้วาดขึ้นโดยจิตรกรชาวอิตาเลี่ยนจำนวนสองคนใน ค.ศ.1875 ที่ปลายสุดของโบสถ์เป็นแท่นบูชาประดิษฐานเซนต์เจมส์ถือดาบ ซึ่งเป็นนักบุญประจำประเทศสเปน
สถาปัตยกรรมโบสถ์ไคอาโป
โบสถ์แห่งนี้มีแผงด้านหน้า ตามแบบคลาสิก คือมีหน้าบันสามเหลี่ยม รองรับด้วยเสาโครินเธียน ด้านข้างขนาบด้วยหอคอยแปดเหลี่ยมซึ่งมีองค์ประกอบส่วนมากเป็นแบบคลาสิก อย่างไรก็ดี องค์ประกอบเล็กน้อยยังคงแสดงความเป็นบารอคบ้างเช่น การประดับถ้วยรางวัล กรอบหน้าต่างที่หยักโค้ง การใช้ volute ในการค้ำยันหอคอย เป็นต้น
สถาปัตยกรรมโบสถ์บินอนโด
โบสถ์แห่งนี้มีแผงด้านหน้า ตามแบบคลาสิก คือมีหน้าบันสามเหลี่ยม รองรับด้วยเสาไอโอนิกและโครินเธียน น่าสังเกตว่าโบสถ์ส่วนมากในเมืองมะนิลามักมีแผงด้านหน้าแบบคลาสิกเกือบทุกแห่ง หอระฆังของโบสถ์บินอนโด สร้างขึ้นมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 และไม่ได้ถูกทำลายจากสงคราม มีลักษณะเป็นหอระฆังแปดเหลี่ยมที่ซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ แต่ละชั้นลดหลั่น โดยแต่ละชั้นประดับด้วยเสาติดผนังและซุ้ม ด้านบนสุดปรากฏโดมและ Lantern รูปแบบของหอระฆังนี้ทำให้นึกถึงเจดีย์ (ถะ) ในศิลปะจีน
สถาปัตยกรรมโบสถ์ซานเซบาสเตียน
โบสถ์ซานเซบาสเตียน มะนิลา ถือเป็นโบสถ์เพียงไม่กี่แห่งในกรุงมะนิลาที่สร้างขึ้นตามแบบโกธิค ภายในเป็นโบสถ์ทีมีความสูงโปร่งและมีเสาที่ผอมบางอันเป็นการเลียนแบบศิลปะโกธิคตอนปลาย หลังคาเองก็ปรากฏ “สัน” (rib) ตัดกันจำนวนมากซึ่งเป็นการเลียนแบบศิลปะโกธิคตอนปลาย หน้าต่างของโบสถ์แห่งนี้ประดับด้วยกระจกสี ทำให้ภายในโบสถ์ค่อนข้างมืดอันเป็นเทคนิคการจำกัดแสตามแบบโกธิค
สถาปัตยกรรมแท่นบูชาภายในโบสถ์ซานเซบาสเตียน
โบสถ์ซานเซบาสเตียน มะนิลา ถือเป็นโบสถ์เพียงไม่กี่แห่งในกรุงมะนิลาที่สร้างขึ้นตามแบบโกธิค แท่นบูชาภายในเป็นประกอบด้วยยอดหอคอยแหลมและกรอบซุ้มโค้งแหลมแบบโกธิค ผนังด้านหลังปรากฏหน้าต่างรูปดอกกุหลาบซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของสถาปัตยกรรมแบบโกธิคเช่นกัน
สถาปัตยกรรมโบสถ์ซานโตนีโญ่
โบสถ์ซานโตนีโญ ถือเป็นโบสถ์ที่แสดงความเป็นโบสถ์แบบคลาสิกได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งในมะนิลา เนื่องจากโบสถ์ประกอบด้วยหน้าบันสามเหลี่ยม รองรับด้วยเสาติดผนังแบบไอโอนิก และแผงด้านหน้าโบสถ์ท่แบ่งออกเป็นสองชั้น แต่ละชั้นเป็นซุ้มจั่วสามเหลี่ยมสลกับกับอาร์รคโค้ง
สถาปัตยกรรมโบสถ์ซานตามาเรีย
โบสถ์แห่งเมือง Santa Maria มีผนังด้านหน้าตามแบบบารอค โดย façade ขนาบด้วยหอคอยสองด้านและเสาอีกสองต้น แบ่งพื้นที่ออกเป็นสามส่วน ด้านบนปรากฏหน้าบันแบบบารอคที่ใช้หน้าบันวงโค้งตรงกลางขนาบด้วยหน้าบันโค้งเว้า ทางด้านข้างซึ่งทำให้หน้าบันด้านบนมีความลื่นไหลแตกต่างไปจากแบบคลาสิก ที่ปลายสุดซึ่งตรงกับหอคอยขนาบข้างนั้นปรากฏการประดับถ้วยรางวัล ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นองค์ประกอบแบบบารอค ด้านข้างของโบสถ์นั้นถูกค้ำยันด้วย buttress ที่หนาหนัก อันเป็นการทำให้ผนังด้านข้างของโบสถ์ทนต่อแผ่นดินไหวอันรุนแรงของฟิลิปปินส์
สถาปัตยกรรมหอระฆัง :อาสนวิหารเมืองวีกัน
หอระฆังของอาสนวิหารเมืองวีกันมีลักษณะเป็นหอระฆังในสกุลช่างวีกัน กล่าวคือ เป็นหอคอยในผังแปดเหลี่ยม ซ้อนกันขึ้นไปหลายชั้น แต่ละชั้นมีองค์ประกอบแบบคลาสิก เช่น อาร์คโค้งและเสาติดผนัง ส่วนด้านบนสุดปรากฏโดม หอคอยแบบแปดเหลี่ยมนี้แตกต่างไปจากสกุลช่าเมืองโลวากที่นิยมหอคอยสี่เหลี่ยมมากกว่า อนึ่ง ในสกุลช่างวีกันและโลวาก หอคอยย่อมตั้งอยู่แยกจากตัวโบสถ์เสมอ เนื่องจากเกรงว่าหอระฆังอาจล้มทับตัวโบสถ์หากเกิดแผ่นดินไหว