ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประติมากรรมรามายณะตอนพระราม พระลักษมณีและกองทัพลิง
ลานประธาน เป็นที่ตั้งของฐานเป็นชั้นสำหรับจันทิประธาน ฐานเป็นชั้นนี้คงมีความหมายเกี่ยวพันกับเขาพระสุเมรุอันเป็นเขาแกนกลางจักรวาลและเป็นที่ประทับของพระศิวะ อย่างไรก็ตาม อาคารด้านบนฐานดังกล่าวไม่หลงเหลืออยู่แล้วจนถึงปัจจุบัน และอาจเป็นไปได้ที่อาคารหลังนี้อาจเคยเป็นทรง “เมรุ” หรืออาคารหลังคาลาดซ้อนชั้นตามแบบที่ปรากฏในศิลปะบาหลีในปัจจุบัน ฐานชั้นที่หนึ่ง สลักภาพเล่าเรื่องรามายณะ ภาพเล่าเรื่องตอนนี้มีลักษณะคล้ายหนังตะลุงชวา (วาหยัง) มาก
ประติมากรรมแม่มดรังดา
ปุระดาเล็ม (Pura Dalem) คือวัดที่สร้างขึ้นอุทิศให้กับคนตาย เป็นหนึ่งในสามปุระของหมู่บ้าน โดยปุระอื่นๆได้แก่ ปุระเทศะ(Pura Desa) หรือวัดประจำหมู่บ้าน และ “ปุระปูเซห์” (Pura Puseh) หรือวัดที่อุทิศให้กับบรรพบุรุษผู้ดูแลหมู่บ้านปุระดาเล็มมักตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน เป็นทิศที่ไปทางทะเลอันเป็นอัปมงคล แตกต่างไปจากปุระเทศะซึ่งมักตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน และปุระปูเซห์ อันตั้งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านซึ่งเป็นทิศมงคลนอกจากนี้ ปุระดาเล็มมักตั้งอยู่ภายในป่าชุมชน อันเป็นป่าที่อุทิศให้กับคนตาย ป่านี้เป็นที่อยู่ของลิงซึ่งมักเรียกกันในสมัยปัจจุบันว่า ป่าลิง (Monkey Forest) ตัวอย่างที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่ปุระดาเล็มแห่งเมืองอุบุด (Ubud)
ประติมากรรมชาวบาหลีขี่จักรยาน
ศิลปะบาหลีสกุลช่างสิงคราชา นิยมสร้างด้วยหินสีเทาทั้งหมด ซึ่งแตกต่างไปจากศิลปะบาหลีปกติที่มักสร้างผนังด้วยอิฐสีส้มแทรกแทรกด้วยหินทรายสีเทาเพื่อสลักลวดลาย ลวดลายในสกุลช่างนี้มักเป็นลวดลายพันธุ์พฤกษาที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกแล้ว เช่น ลายใบอะแคนธัสและลายดอกทานตะวัน แสดงให้เห็นว่าอายุของปุระในสกุลช่างนี้คงไม่เก่านัก น่าจะสร้างขึ้นในช่วงที่ดัชต์เข้ายึดครองเกาะบาหลีแล้ว ลวดลายมักมีขนาดใหญ่เทอะทะแบบพื้นบ้านมากกว่าศิลปะบาหลีโดยปกติ
ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลัง เป็นชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่พบในศิลปะเขมร โดยจะติดตั้งอยู่บนกรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังในสมัยบันทายศรีจะมีลักษณะรับอิทธิพลมาจากศิลปะเกาะแกร์ มาผสมผสานกับศิลปะพระโค กล่าวคือการทำภาพเล่าเรืองอยู่กึ่งกลางทับหลังกดทับท่อนพวงมาลัยให้โค้งลงมาอยู่ด้านล่างของทับหลัง ท่อนพวงมาลัยมีการทำลายใบไม้ตั้งขึ้น และใบไม้ห้อยลงตามอีกทั้งยังปรากฏการทำพวงอุบะแทรกอยู่ในส่วนของใบไม้ห้อยลงตามแบบศิลปะพระโค ลักษณะเด่นของทับหลังในสมัยนี้ก็คือการประดับบริเวณเสี้ยว (เศษ 1 ส่วน 4) ของท่อนพวงมาลัยด้วยรูป “ใบหน้าสัตว์ขบท่อนพวงมาลัย” ซึ่งต่อไปจะเป็นต้นแบบของเสี้ยวพวงอุบะในศิลปะบาปวน
ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลัง เป็นชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่พบในศิลปะเขมร โดยจะติดตั้งอยู่บนกรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังในพระโคเริ่มปรากฏหน้ากาลตามอทธิพลชวา อย่างไรก็ตาม ลักษณะเด่นของทับหลังชิ้นนี้ก็คือการประดับบริเวณเสี้ยว (เศษ 1 ส่วน 4) ของท่อนพวงมาลัยด้วยรูป “ใบหน้าสัตว์ขบท่อนพวงมาลัย” ซึ่งต่อไปจะเป็นต้นแบบของเสี้ยวพวงอุบะในศิลปะบันทายสรีและบาปวน
ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลังในศิลปะบาปวน มีการทำท่อนพวงมาลัยที่สืบต่อมาจากสมัยก่อนหน้า ส่วนกลางท่อนพวงมาลัยกดลงไปอยู่ด้านล่าง ปรากฏหน้ากาลที่มีมือจับท่อนพวงมาลัยที่ ปลายทั้งสองข้างของท่อนพวงมาลัยม้วนออก เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ตั้งขึ้น ด้านล่างท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้ตกลง ระหว่างช่องใบไม้ตกลงเป็นรูปใบไม้สามเหลี่ยม แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการทำเสี้ยวของท่อนพวงมาลัย ที่แต่เดิมเป็นรูปสัตว์ขบมาเป็นพวงอุบะ ซึ่งแต่เดิมนักวิชาการชาฝรั่งเศสเชื่อว่าเป็นศิลปะคลัง แต่ต่อมาพบว่าทับหลังในลักษณะดังกล่าวนี้ สร้างขึ้นเดียวกันกับทับหลังแบบศิลปะบาปวน จึงจัดรูปแบบทับหลังที่มีรูปแบบดังกล่าวนี้อยู่ในศิลปะแบบบาปวนด้วย
ประติมากรรมทับหลัง
ทับหลังในสมัยกุเลนจะมีลักษณะรับอิทธิพลมาจากศิลปะชวา กล่าวคือการทำหน้ากาลอยู่กึ่งกลางด้านบนของท่อนพวงมาลัย ปลายทั้งสองข้างทำเป็นมกรหันหน้าออก ตามแบบซุ้มกาล-มกรตามศิลปะชวาภาคกลาง ท่อนพวงมาลัยมีการทำลายใบไม้ตั้งขึ้น ห้อยลงตามแบบศิลปะกำพงพระ เหรียญทรงกลมจากศิลปะกำพงพระปรับเปรียบเป็นลายดอกไม้กลม ใต้ท่อนพวงมาลัยระหว่างช่องใบไม้ตกลงปรากฏการทำพวงอุบะแทรกอยู่
ประติมากรรมพระวิษณุ
พระวิษณุทรงสวมหมวกทรงกระบอกทรงสูงตามแบบศิลปะก่อนเมืองพระนคร ทรงมี 4 กร พระหัตถ์บนถือจักรและสังข์ พระหัตถ์ล่างทรงถือกระบองและธรณี ทรงนุ่งผ้าแบบสมพต โดยปรากฏชายผ้ารูปหางปลาปลายแตกเป็นเขี้ยวขาบสองชาย ซึ่งชายผ้าเขี้ยวตะขาบด้านล่างเป็นความสับสนของช่าง ซึ่งแท้จริงแล้วคือส่วนที่เป็นชายพกตลบกลับขึ้นไป