ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมพระธาตุพนม
พระธาตุพนมเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูน องค์ประกอบสำคัญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เรือนธาตุ และยอดทรงบัวเหลี่ยมเรือนธาตุก่ออิฐไม่ฉาบปูน มีแผนผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส น่าจะตรงกับที่ตำนานอุรังคธาตุเรียกว่า อุโมงค์ (อูบมุง) ประดับตกแต่งกึ่งกลางแต่ละด้านด้วยซุ้มประตูหลอก ถัดออกมาสองข้างของซุ้มประตูตกแต่งด้วยเสาหลอกทรงกลม มุมทั้งสี่สลักภาพกนกพรรณพฤกษาและรูปบุคคลขี่พาหนะ ซึ่งได้รับการเชื่อมโยงเข้ากับตำนานอุรังคธาตุว่าเป็นรูปพระยาทั้งห้าที่ได้ร่วมกันสร้างพระธาตุพนมขึ้น ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนจำลองเรือนธาตุจำนวน 1 ชั้น ถัดไปจากนั้นเป็นยอดบัวเหลี่ยม ส่วนนี้นับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะล้านช้าง
สถาปัตยกรรมปราสาทประธานพิมาย
ปราสาทประธานหรือปรางค์ประธานสร้างจากหินทรายสีเทา หันหน้าไปทางทิศใต้ องค์ประกอบสำคัญได้แก่ เรือนธาตุอยู่ในผังเพิ่มมุม ด้านเหนือ ตะวันออก และตะวันตกของเรือนธาตุเป็นมุขทางเข้าสู่ครรภคฤหะที่อยู่ภายใน ส่วนด้านใต้เป็นอันตราละเชื่อมต่อกับมณฑปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูทางเข้าสู่มณฑปทางด้านใต้ (ในอดีตทางด้านนี้น่าจะมีรูปเคารพ จึงไม่อาจเข้าไปภายในได้จริง) ตะวันออก และตะวันตก ประดับบราลีที่สันหลังคามุข อันตราละ และมณฑปหลังคาของเรือนธาตุเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกัน แต่ละชั้นจำลองย่อส่วนจากเรือนธาตุ ประดับด้วยบรรพแถลงและนาคปัก (กลีบขนุน) ยอดสุดเป็นกลศ นภศูลที่เคยมีอยู่พักหายไปแล้ว ห้องครรภคฤหะที่อยู่ในเรือนธาตุประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกแบบายน จึงไม่ใช่องค์ดั้งเดิมที่ประดิษฐานพร้อมการสร้างปราสาทประธาน มีรางน้ำมนต์หรือท่อโสมสูตรไหลออกทางมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
สถาปัตยกรรมปราสาทพิมาย
ปราสาทพิมายตั้งอยู่ศูนย์กลางเมืองพิมาย หันหน้าไปทางทิศใต้ สิ่งก่อสร้างสำคัญลำดับจากด้านหน้าไปยังปราสาทประธานมีดังนี้1. ชาลานาคราชในแผงผังกากบาท ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของชาลานาคราชมีอาคารสี่เหลี่ยม 1 หลัง เรียกกันในปัจจุบันว่า พลับพลาเปลื้องเครื่อง 2. ถัดจากชาลานาคราชเป็นโคปุระและกำแพงล้อมรอบศาสนสถาน โคปุระอยู่ในผังกากบาท ประจำอยู่กึ่งกลางด้านทั้งสี่3. ถัดจากโคปุระทิศใต้ไปเป็นชาลาทางเดินยกพื้น ชาลานี้เชื่อมต่อโคปุระทิศใต้ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับโคปุระทิศใต้ของระเบียงคด เดิมทีมีหลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องคลุมอยู่4. พื้นที่ระหว่างกำแพงล้อมรอบศาสนสถานกับระเบียงคดมีบรรณาลัย 2 หลัง อยู่ทางพื้นที่ด้านตะวันตก นอกจากนี้ยังมีสระน้ำ 4 สระอยู่ที่มุมทั้งสี่ของกำแพงล้อมรอบศาสนสถานด้วย5. ระเบียงคดล้อมรอบพื้นที่ศูนย์กลางอันเป็นที่ตั้งปราสาทประธาน มีโคปุระแผนผังกากบาทอยู่ที่ด้านทั้งสี่ 6. ปราสาทประธานตั้งอยู่กลางศาสนสถาน ก่อด้วยหินทรายสีเทาเป็นวัสดุหลัก หันหน้าไปทางใต้ รอบๆ ปราสาทประธานมีอาคารดังนี้ ด้านตะวันออกเฉียงใต้มีปรางค์พรหมทัต ด้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอพราหมณ์และปรางค์หินแดง ด้านตะวันออกมีส่วนฐานของอาคาร 1 หลัง น่าจะเป็นพลับพลาโถง
สถาปัตยกรรมปรางค์สามยอด
พระปรางค์สามยอดเป็นปราสาทในวัฒนธรรมเขมรที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก มีหินทรายก่อเป็นหน้าบันและองค์ประกอบอื่นๆ อิฐสมัยกรุงศรีอยุธยานำมาก่อปิดช่องหน้าต่าง ปูนปั้นประดับหลุดล่วงเป็นส่วนใหญ่อาคารประธานเป็นปราสาทสามหลังเรียงตัวกันตามแนวเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก แต่ละองค์เชื่อมต่อกันโดยฉนวน ทั้งสามหลังมีองค์ประกอบแบบเดียวกัน เพียงแต่องค์กลางสูงใหญ่กว่าเล็กน้อย แผนผังเพิ่มมุม ออกมุขที่ด้านทั้งสี่ ภายในปราสาทแต่ละหลังมีแท่นฐานประดิษฐานรูปเคารพ แต่รูปเคารพเดิมเคลื่อนย้ายหมดแล้ว หลังคาชั้นซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น ต่อด้วยบัวกลุ่ม นภศูลหักหายไปแล้ว ด้านหน้าปราสาทองค์กลางมีวิหารก่ออิฐแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนั่ง ก่อประตูเป็นวงโค้ง
สถาปัตยกรรมปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรี
ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุลพบุรีตั้งอยู่บนฐานไพที หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทางเหนือและใต้เคยมีปรางค์องค์เล็กๆ ขนาบข้างอยู่ ปัจจุบันพังทลายหมดแล้ว ปรางค์พระศรีรัตนมหาธาตุก่อด้วยศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ฉาบปูนและประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น ภายในเรือนธาตุมีห้องคูหาหรือห้องครรภคฤหะ ด้านหน้าเป็นตรีมุขต่อยื่นยาวออกมา สามารถเข้าไปภายในได้ ส่วนอีก 3 ด้านเป็นมุขสั้น ส่วนยอดหรือหลังคาเหนือเรือนธาตุทำซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ยังคงเห็นการประดับตกชั้นซ้อนแต่ละชั้นด้วยกลีบขนุน
สถาปัตยกรรมพระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัยจัดเป็นรูปแบบของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ก่ออิฐ หุ้มทองจังโก องค์ประกอบสำคัญตั้งแต่ส่วนฐานจนถึงส่วนยอด ได้แก่ ฐานบัวสองฐานซ้อนกันในผังสี่เหลี่ยมเพิ่มมุม(หรือยกเก็จ) ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ในผังกลมซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังกลมซึ่งมีลายประจำยามและภาพดุนนูนพระพุทธรูปประดับอยู่ จากนั้นเป็นบัลลังก์เพิ่มมุมไม้สิบสอง แกนปล้องไฉน ปล้องไฉน ปลี และฉัตร
สถาปัตยกรรมรัตนเจดีย์
รัตนเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง สร้างด้วยอิฐ ฉาบปูน ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้น แผนผังแปดเหลี่ยม ส่วนฐานค่อนข้างชำรุด ส่วนกลางเป็นเรือนธาตุ แต่ละด้านมีพระพุทธรูปยืนอยู่ภายในซุ้ม มุมทั้งแปดของเรือนธาตุตกแต่งด้วยเสาอิง ถัดขึ้นไปเป็นชั้นซ้อนลดหลั่นกันต่อด้วยองค์ระฆัง ยอดสุดพังทลายลงแล้ว
สถาปัตยกรรมเจดีย์กู่กุด
เจดีย์กู่กุดเป็นเจดีย์ทรงปราสาทผังสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลง ตกแต่งด้วยปูนปั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือ เรือนธาตุในผังสี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกัน 5 ชั้น โดยชั้นล่างมีขนาดใหญ่ที่สุด จากนั้นค่อยๆลดขนาดลงไปจนถึงชั้นที่ห้าซึ่งมีขนาดเล็กที่สุดเรือนธาตุแต่ละชั้นมีพระพุทธรูปยืนประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มด้านละ 3 ซุ้ม รวม 4 ด้าน ทำให้มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปในแต่ละชั้น 12 องค์ รวม 5 ชั้นเป็น 60 องค์ มุมทั้งสี่ของเรือนธาตชั้นที่ 1 -4 ประดับด้วยสถูปิกะ ถัดขึ้นไปจากเรือนธาตุชั้นที่ห้าเป็นปล้องไฉนในผังสี่เหลี่ยม ยอดสุดหักพังลงแล้ว