ค้นหางานศิลปกรรม

ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 
 
 
 
 
 
 
แสดง 465 ถึง 472 จาก 884 รายการ, 111 หน้า
เจดีย์ชเวดากอง
ย่างกุ้ง
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวดากอง

เจดีย์มอญมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ แผนผังเป็นสี่เหลี่ยมเพิ่มมุมขนาดใหญ่ ฐานลาดเอียง ไม่มีบันไดขึ้นและลานประทักษิณด้านบน รวมถึงสถูปิกะมักประดับอยู่ด้านล่างเสมอ และมีปลีที่ยืดยาวเหมือนปลีกล้วย ทั้งหมดนี้แตกต่างไปจากเจดีย์แบบพม่าแท้ทุกประการ ส่วนองค์ระฆังซึ่งประดับไปด้วยรัดอกและบัวคอเสื้อ การไม่มีบัลลังก์และ “ปล้องไฉนห่างๆ” ซึ่งมีปัทมบาทรองรับปลีนั้น กลับเป็นลักษณะร่วมกับเจดีย์แบบพม่าแท้

เจดีย์ชเวมอดอ
พะโค
สถาปัตยกรรมเจดีย์ชเวมอดอ

เจดีย์มอญมีองค์ประกอบที่สำคัญก็คือ แผนผังเป็นแปดเหลี่ยมเพิ่มมุม ฐานลาดเอียง ไม่มีบันไดขึ้นและลานประทักษิณด้านบน รวมถึงสถูปิกะมักประดับอยู่ด้านล่างเสมอ และมีปลีที่ยืดยาวเหมือนปลีกล้วย ทั้งหมดนี้แตกต่างไปจากเจดีย์แบบพม่าแท้ทุกประการ เจดีย์องค์นี้ถูกสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดภายหลังแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ศิลปกรรมของเจดีย์องค์นี้จึงเป็นสมัยปัจจุบันซึ่งมีสัดส่วนไม่งดงามเท่าเจดีย์องค์เดิม

เจดีย์สุเล
ย่างกุ้ง
สถาปัตยกรรมเจดีย์สุเล

ฐานในผังแปดเหลี่ยมที่ประกอบด้วยบัวถลาสามชั้นและมาลัยเถาสามชั้น ถือเป็นลักษณะเฉพาะอีกแบบหนึ่งของเจดีย์มอญซึ่งเน้นความลาดเอียงของฐานเป็นหลัก ส่วนด้านบนของเจดีย์องค์นี้ อยู่ในแผนผังแปดเหลี่ยมตั้งแต่องค์ระฆังจนถึงปลียอด ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะที่งดงามของเจดีย์องค์นี้ อนึ่ง มาลัยเถาสามชั้นนี้อาจทำหน้าที่ทดแทน “ฐานเขียงกลมสามชั้น” ที่มักรองรับองค์ระฆังในศิลปะมอญ ซึ่งทำให้เจดีย์มอญแตกต่างไปจากเจดีย์แบบพม่าอย่างชัดเจน

มหาเจดีย์
สถาปัตยกรรมมหาเจดีย์

เจดีย์ประกอบด้วยฐานในผังแปดเหลี่ยมเพิ่มมุม เป็นฐานลาดตามแบบมอญ แต่กลับมีบันไดขึ้นและมีทางประทักษิณด้านบนตามแบบพม่า ถัดขึ้นไปได้แก่ฐานเขียงในผังกลมจำนวนมากตามแบบมอญ รองรับองค์ระฆัง ส่วนยอดเป็นของซ่อมใหม่สมัยปัจจุบัน การที่เจดีย์องค์นี้มีการผสมผสานกันระหว่างศิลปะมอญและศิลปะพม่านั้น สอดรับกับประวัติศาสตร์ของพม่าในระยะนั้นที่ราชวงศ์ตองอูของพม่าได้ยกทัพลงมายึดครองเมืองหงสาวดีของชาวมอญ จึงทำให้เกิดการผสมผสานกันระหว่างเจดีย์สองแบบ

ไจก์ติโย
ไจก์ติโย
สถาปัตยกรรมไจก์ติโย

ก้อนหินที่แขวนอยู่บนหน้าผา เกือบจะร่วงหล่นแต่ไม่ร่วงหล่น ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่ต่อมาถูกดัดแปลงให้กลายเป็นพุทธสถานได้ ชาวกระเหรี่ยงพื้นถิ่นผู้นับถือผีมาก่อนคงจะสังเกตเห็นความมหัศจรรย์ดังกล่าวและสถาปนาก้อนหินดังกล่าวให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งต่อมาได้ถูกดัดแปลงเป็นพุทธสถานโดยชาวมอญและมีการแต่งตำนานแบบพุทธเพื่อโยงความศักดิ์สิทธิ์เข้ากับความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติดังกล่าว

เจดีย์กองมูดอ
สะกาย
สถาปัตยกรรมเจดีย์กองมูดอ

เจดีย์ประกอบด้วยอัณฑะทรงโอคว่ำขนาดใหญ่ตามแบบศิลปะลังกาสมัยอนุราธปุระ ฐานเตี้ยๆ ในผังกลม ทั้งหมดนี้แสดงการจำลองแบบมาจากศิลปะลังกา อย่างไรก็ตาม ด้านบนเจดีย์กลับไม่ปรากฏหรรมิกาและฉัตรวลี ซึ่งเป็นลักษณะที่แปลกประหลาด

เจดีย์มินกุน
มินกุน
สถาปัตยกรรมเจดีย์มินกุน

เป็นเจดีย์ทรงปราสาทที่มีเรือนธาตุขนาดใหญ่ เป็นแท่งทึบตัน เพื่อรองรับชั้นหลังคาและศิขระขนาดใหญ่เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่การสร้างเจดีย์องค์นี้ต้องล้มเลิกไปภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าปดุง ทำให้ชั้นเรือนธาตุเท่านั้นที่เสร็จสมบูรณ์

รูปจำลองของเจดีย์มินกุน
มินกุน
สถาปัตยกรรมรูปจำลองของเจดีย์มินกุน

เนื่องจากเจดีย์เมืองมินกุนองค์จริงสร้างไม่สำเร็จ เราจำเป็นต้องศึกษาภาพเต็มของเจดีย์องค์นี้จากรูปจำลองซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากเจดีย์องค์จริง เจดีย์จำลององค์นี้ปรากฏยอดศิขระและยอดเจดีย์บนยอดของเรือนธาตุซึ่งแสดงให้เห็นว่า เจดีย์องค์จริงอาจตั้งใจที่จะมียอดศิขระเช่นกัน