ค้นหางานศิลปกรรม
ฐานข้อมูลศิลปกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สถาปัตยกรรมปราสาทดงเดือง
ปราสาทดงเดือง ประกอบด้วยเสาติดผนัง 4 ต้นเช่นเดียวกับปราสาทหัวล่าย อย่างไรก็ตาม ในสมัยนี้ ร่องเสาได้กลายเป็นร่องแคบๆ ซึ่งทำให้ลวดลายต้องออกมาสลักที่ขอบนอกของเสา ส่วนด้านล่างของเสาแต่ละต้นปรากฏซุ้มโคนเสา.ซึ่งปรากฏเช่นกันในศิลปะขอมก่อนเมืองพระนคร ปราสาทแห่งนี้มีลวดลายของเสาสลักเสร็จเพียงส่วนเดียว ส่วนอื่นๆยังสลักไม่เสร็จ
สถาปัตยกรรมปราสาทเขื่องหมี
ปราสาทเป็นปราสาทสามหลังที่อสมมาตรกัน เนื่องจากวางผังให้ปราสาทหลังใหญ่ที่สุดอยู่ด้านข้าง และมีขนาดลดหลั่นไล่เรียงกันลงมา ปราสาทแต่ละหลังมีเสาติดผนังและร่องระหว่างเสาที่มีความแตกต่างกัน ด้านหน้ามีมุขมณฑปซึ่งด้านข้างปรากฏซุ้มจระนำแบบดงเดือง
สถาปัตยกรรมซุ้มของปราสาทเขื่องหมี
ด้านหน้าของปราสาทเขื่องหมีปรากฏมุขมณฑปซึ่งด้านข้างปรากฏซุ้มจระนำแบบดงเดือง เป็นซุ้มแคบๆที่มีพุ่มข้าวบิณฑ์ด้านบนและเป็นซุ้มที่มีปีกนกต่อเนื่องลงมาหลายตอน ภายในซุ้มบรรจุลายขนมจีนแบบพื้นเมืองจนเต็มพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดนี้แสดงถึงซุ้มแบบดงเดืองซึ่งคล้ายคลึงกัปบราสาทดงเดืองเช่นกัน จากลักษณะของซุ้มทำให้กำหนดอายุได้ว่าอยู่ในสมัยดงเดือง แต่เสาติดผนังกลับแสดงลักษณะของมิเซิน A1แล้ว
สถาปัตยกรรมเสาติดผนังของปราสาทเขื่องหมี
ผนังของปราสาทเขื่องหมีปรากฏมีการประดับด้วยเสาติดผนังจำนวน 5 ต้น ซึ่งเห็นได้เพียงสี่ต้นเนื่องจากซุ้มจระนำตรงกลางมักบดบังเสาต้นกลางเสมอๆ เสาแต่ละต้นประดับด้วยลวดลายก้านขดออกกนก ซึ่งเป็นลวดลายที่นิยมมากในสมัยมิเซิน A1 การที่ร่องเสาตรงกลางทะลุเลยขึ้นไปถึงบัวหัวเสาก็นิยมในสมัยนี้เช่นเดียวกัน จากสาติดผนังกลับแสดงลักษณะของมิเซิน A1 แต่ลักษณะของซุ้มกลับแสดงถึงศิลปะแบบดงเดืองซึ่งเก่ากว่า
ประติมากรรมพระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง
พระพุทธรูปองค์นี้แสดงให้เห็นศิลปะพื้นเมืองดงเดืองปะปนกับอิทธิพลจากศิลปะจีนและอินเดีย ประการแรกคือท่านั่งห้อยพระบาทที่ใช้พระหัตถ์ทั้งสองวางอู่บนพระชานุนั้นแสดงถึงอิทธิพลจีน แต่จีวรที่ห่มเฉียงและมีชายจีวรสั้นๆอยู่ที่พระอังสาซ้ายนั้นกลับเป็นลักษณะประจำในศิลปะปาละของอินเดีย อย่างไรก็ตาม พระพักตร์ของพระพุทธรูปองค์นี้กลับแสดงความเป็นพื้นเมืองอย่างมากมาย เช่น พระโอษฐ์ที่หนา พระขนงต่อเป็นปีกกาและพระเนตรโปน เป็นต้น
ประติมากรรมครอบมุขลึงค์
มุขลึงค์นี้แสดงให้เห็นศิลปะพื้นเมืองดงเดืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้ที่มีพระโอษฐ์หนา พระนาสิกใหญ่พระเนตรโปน พระขนงต่อกันเป็นปีกกาและมีพระมัสสุตามแบบพื้นเมืองพระพักตร์แบบพื้นเมืองนี้แตกต่างอย่างมากไปจากพระพักตร์แบบอินเดียชวา-ซึ่งปรากฏมาก่อนในศิลปะมิเซิน E1 และจะปรากฏอีกในศิลปะมิเซิน A1 บางครั้ง ศิวลึงค์ที่ทำด้วยวัสดุปกติก็อาจถูกครีอบด้วย “ครอบโลหะมีค่า” ซึ่งทำให้ศิวลึงค์นั้นๆดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้น ครองโลหะนั้นอาจหล่อด้ยทอดแดง เงินหรือทองคำก็ได้
ประติมากรรมพระเศียรของพระพุทธรูปจากปราสาทดงเดือง
พระเศียรของพระพุทธรูปองค์นี้แสดงให้เห็นศิลปะพื้นเมืองดงเดืองอย่างชัดเจน โดยเฉพาะพระพักตร์ของประติมากรรมองค์นี้ที่มีพระโอษฐ์หนา พระนาสิกใหญ่พระเนตรโปน พระขนงต่อกันเป็นปีกกาและพระเกศาขมวดเป็นปอยตามแบบพื้นเมือง น่าสังเกตว่าด้านบนสุดปรากฏอุษณีษะซึ่งได้กลายเป็นรูปดอกบัวอันแสดงให้เห็นความเป็นพื้นเมืองอย่างมาก
ประติมากรรมฐานชุกชีจากปราสาทดงเดือง
ฐานขนาดใหญ่นี้เป็นหนึ่งในฐานชุกชีจำนวน 2 ฐานสำหรับพระพุทธรูปประธานของปราสาทดงเดือง โดยฐานหนึ่งนำมาจากพระวิหารด้านหน้าและอีกฐานหนึ่งนำมาจากปราสาทประธาน ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ดานัง ฐานชุกชีแห่งนี้ประดับด้วยภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติขนาดเล็กอยู่ในช่องสี่เหลี่ยม นอกจากนี้ยังประดับไปด้วยลายกนกขนมจีนและซุ้มแบบดงเดือง